วันพุธ ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 13:03 น.

การเมือง

"จุรินทร์" ย้ำจุดยืน ประชาธิปัตย์ หนุนนิรโทษกรรมคดีการเมืองทั่วไป แต่ค้านนิรโทษคดี ม.110 ม.112 คดีทุจริต และคดีอาญาร้ายแรง

วันพุธ ที่ 09 กรกฎาคม พ.ศ. 2568, 17.02 น.

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2568  นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ..... โดยกล่าวแสดงจุดยืนที่ชัดเจนของตนเองและพรรคฯ ต่อประเด็นการนิรโทษกรรม โดยเน้นย้ำ 2 ประการสำคัญ

นายจุรินทร์ ระบุว่า ประการแรก เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองทั่วไป เช่น การชุมนุม การแสดงออกทางความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งถือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในวิถีทางประชาธิปไตย

แต่ ประการที่สอง ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม การกระทำความผิดตามมาตรา 110  และมาตรา 112 รวมถึงคดีทุจริตประพฤติมิชอบ และคดีอาญาร้ายแรง เช่น การฆ่าคนตายโดยเจตนา 

นายจุรินทร์ ได้ย้อนประวัติศาสตร์การนิรโทษกรรมในประเทศไทยที่มีมาแล้วอย่างน้อย 23 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีทางการเมือง โดยไม่เคยมีการนิรโทษกรรมคดีทุจริตคอร์รัปชัน หรือคดีตามมาตรา 112 มาก่อน โดยเฉพาะกรณี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม "สุดซอย" ในปี 2556 ที่พยายามนิรโทษกรรมคดีทุจริต แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอดและเป็นหนึ่งในชนวนเหตุของการยึดอำนาจในปี 2557 ซึ่งสะท้อนว่าคดีทุจริตเป็น "ของแสลง" สำหรับสังคมไทย

สำหรับมาตรา 112 นั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่าต้องยอมรับความจริงว่าถ้าเราตั้งเป้าหมายว่าเราจะนิรโทษกรรมเพื่อสร้างสังคมสันติสุข สังคมปรองดอง อันนี้เป็น "ดาบสองคม" เพราะอีกคมหนึ่งแทนที่จะสร้างสังคมปรองดองอาจนำไปสู่ความแตกแยกของสังคมครั้งใหญ่ก็ได้ อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่ไม่มีปรากฏในประวัติศาสตร์การนิรโทษกรรมของไทยว่ามีการนริโทษความผิดตาม ม.110 และ ม. 112 มาก่อน
 
นายจุรินทร์ ยังอ้างอิงถึงมติล่าสุดของสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน ที่ได้พิจารณาผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางการนิรโทษกรรม ซึ่งเสนอ 3 ทางเลือกสำหรับมาตรา 110 และมาตรา 112 คือ 1.ไม่มีนิรโทษกรรม 2.นิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข  3.นิรโทษกรรมแบบไม่มีเงื่อนไข  โดยผลการลงมติคือ 270 เสียง ไม่เห็นชอบ ต่อ 152 เสียง ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสภามีความเห็นไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมนอกจากคดีทุจริตแล้ว ก็ยังรวมถึงคดีตามมาตรา 110 และมาตรา 112 ด้วย

“จุดยืนของผมและประชาธิปัตย์ ยืนยันใน 2 ข้อ คือ 1. สนับสนุนการนิรโทษกรรมการกระทำความผิดในคดีการเมืองทั่วไป และ 2. ไม่สนับสนุนการนิรโทษกรรมการกระทำความผิดตามมาตรา 110 มาตรา 112   การกระทำความผิดฐานทุจริตและประพฤติมิชอบ และการกระทำความผิดในคดีอาญาร้ายแรง หากพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมทั้ง 5 ฉบับนี้ ฉบับใดเข้าข่ายกรณีที่ผมกราบเรียน ไปกระผมและประชาธิปัตย์พร้อมให้การสนับสนุน” นายจุรินทร์ กล่าว

 
 

หน้าแรก » การเมือง