วันพฤหัสบดี ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 10:49 น.

ภูมิภาค

ปลูก“พลู”กินกับหมาก กำลังจะหายไปรักษาไว้สร้างรายดี

วันเสาร์ ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2561, 10.47 น.

 

ปลูก“พลู”กินกับหมาก
กำลังจะหายไปรักษาไว้สร้างรายดี

               

 

เมื่อเวลา 08.00 น. ของวันนี้ (19 พ.ค.61) ผู้สื่อข่าวเดินทางไปตรวจสอบยังบ้านของนายสนอง ธูปทอง อายุ 53 ปี เลขที่ 35/1 หมู่ที่ 4 ต.บ้านรี อ.เมืองอ่างทอง จ.อ่างทอง หลังทราบว่าที่บ้านดังกล่าวบริเวณหน้าบ้านได้ปลูกพลูที่ใช้กินกับหมากไว้เป็นจำนวนมาก ถึงแม้ตอนนี้จะไม่ค่อยมีคนกินหมากพลูแล้วก็ตาม แต่ที่บ้านดังกล่าวยังปลูกไว้จำนวนกว่า 1 ไร่ เก็บขายสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว โดยเมื่อเดินทางไปถึงที่บริเวณหน้าบ้านได้มีการปลูกค้างพลูไว้เป็นเป็นแถวยาวลึกไปถึงในบ้าน จำนวนเกือบ 200 ค้าง ในพื้นที่สวนนับ 1 ไร่ โดยพลูดังกล่าวนั้นเป็นพลูเหลืองซึ่งไว้ใช้กินกับหมาก ออกยอดออกใบเหลืองงามอร่ามทุกค้าง โดยภายในสวนพลูนั้นนายสนองดูแลสวน โดยมีนางประจวบ  ธูปทอง อายุ 49 ปี ภรรยาของนายสนองกำลังยืนตัดใบพลูเตรียมส่งขาย

 

 


               


จากการสอบถามนางประจวบ ทราบว่า ในการตัดใบพลูนั้นเราจะเลือกตัดตอนเช้าเพราะใบจะสดสวย และตัดเฉพาะใบพลูที่แก่ แต่ไม่แก่จนเกินไป และมีใบสวยขนาดไล่เลี่ยกันเพื่อนำไปขายเรียงขาย โดยขายเป็นกิโลกรัมบ้าง นำใบมาเรียงเป็นแถวแล้วขายซึ่งเมื่อเรียงแล้วเรียกหน่วยขายว่าเป็น “เรียง”  ถ้าขายเป็นกิโลกรัมก็จะขายกิโลกรัมละ 60 บาท แต่ส่วนมากจะนำมาเรียงขายเป็นเรียง ๆ ละ 20-22 ใบ ราคาเรียงละ 4 บาท ในแต่ละครั้งที่ตัดจะนำไปเรียงขายได้วันละประมาณ 160-200 เรียง โดยจะมีคนมารับซื้อที่บ้าน  แต่ในการตัดพลูนั้นจะไม่ได้ตัดทุกวัน เพราะต้นพลูที่เลี้อยบนค้างสวยงามนั้น ใช้ไม่ได้ทุกใบ ต้องคอยตกแต่งค้างพลูบ้าง เมื่อตัดแต่งยอดไป ก็จะมีการแตกใบแตกยอดใหม่มา ค่อยเก็บใบแก่ๆ สวยๆ ไปขาย

 


               


ด้านนายสนอง  กล่าวว่า พลูที่เห็นนี่เป็นพลูเหลือง นิยมนำไปกินกับหมาก หรือใช้ตามงานพิธีของไทยต่างๆ  ซึ่งพลูเหลืองนี่เป็นพลูที่นิยมนำมากินมากที่สุด ปลูกมากว่า 10 ปีแล้ว โดยบางที่จะปลูกกันเป็นพลูเขียว หรือพลูมัน ซึ่งคนไม่ค่อยบริโภคเนื่องจากไม่อร่อย   พลูในสวนที่เห็น ก่อนหน้านี้เป็นของน้าสาวของตน และต่อมาให้ตนกับนางประจวบ ภรรยาเป็นคนดูแล ซึ่งพลูพวกนี้ปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี ปุ๋ยก็ใช้เป็นชีวภาพ คอยดูแลใส่ใจเน้นเฉพาะเรื่องน้ำ เนื่องจากพลูนี่ต้องการน้ำ ขาดน้ำแล้วจะเหี่ยวเฉา หากให้เทียบระหว่างการปลูกพลูกับการปลูกผักอื่นๆ ตนเห็นว่าการปลูกพลูนั้นไม่วุ่นวาย ไม่ต้องลงทุนมาก ดูแลง่าย ปลูกไว้เก็บขายระยะยาว ส่วนการปลูกผักอื่นๆ นั้น ลงทุนสูง ต้องคอยดูแลใส่ปุ๋ย และพืชมีอายุสั้น เก็บขายได้แล้วต้องลงทุนใหม่  ทุกวันนี้ที่มีหากมีคนมารับซื้อก็มีขายให้ตลอด ซึ่งหากพูดถึงสวนพลูก็มีน้อยนักที่จะมีคนทำ  เพราะคนบริโภคหมากพลูกันน้อยลง ถ้าพูดถึงรายได้ก็ถือว่าพอเลี้ยงครอบครัวได้บ้าง แต่ไม่ดีเหมือนเมื่อก่อน แต่ก็ยังคงปลูกและดูแลสวนกันต่อไป เนื่องจากตอนนี้ไม่ค่อยมีคนทำสวนพลูกันแล้ว

 


               


ส่วนนางสมพิศ  ขจรกลิ่น อายุ 72 ปี น้าสาวของนายสนอง ผู้ริเริ่มปลูกพลู กล่าวว่า แรกเริ่มเดิมทีตนปลูกพลูไว้ให้แม่ของตนกิน เพียงแค่ค้างเดียว แต่ต่อมาพลูเกิดงาม ตนก็เลยขยายเพิ่มมาอีก 2-3 ค้าง ยิ่งปลูกยิ่งแลดูสวยงาม และมีคนมาขอซื้อ เนื่องจากเมื่อก่อนยังมีคนบริโภคพลูอยู่พอสมควร ประกอบกับพวกแรงงานต่างด้าวชาวพม่า หรือพวกแขกที่นินยมกินหมากพลูมาทำงานกันเยอะ จึงทำให้หมากพลูขายดี ตนก็เลยขยายปลูกมาเรื่อยๆ จนตอนนี้มีอยู่เกือบ 200 ค้าง แต่เนื่องด้วยอายุตนนั้นมากแล้ว ทำไม่ไหว จึงได้ให้หลานชายกับหลานสะใภ้ช่วยกันดูแลต่อ ซึ่งก่อนหน้านี้ราคาพลูก็ไม่แตกต่างกับสมัยนี้สักเท่าไหร่ ราคาเรียงละ 3-5 บาท แต่ขายได้มาก  แต่ตอนนี้ยอดขายน้อยลงเนื่องจากคนบริโภคพลูน้อยลง และพวกต่างด้าวตอนนี้น้อยลงก็เลยทำให้ขายได้น้อย แต่ก็ยังคงตัดขายอยู่ เมื่อมีคนมารับก็ตัดขาย
               

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับสวนพลูดังกล่าวนี้ เกิดมาจากการใช้ชีวิตประจำวันของคนสมัยก่อนที่มีคนในบ้านกินหมากพลู ก่อนที่จะมีการขยายและปลูกขายสร้างรายได้ ซึ่งถือว่าหากหวังผลระยะยาว มีทุนน้อย ก็สามารถปลูกไว้สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว และเป็นอาชีพหนึ่งที่ต่อไปข้างหน้าอาจไม่มีก็เป็นได้ เพราะนับวันคนยิ่งบริโภคหมากพลูน้อยลง  หากผู้ใดสนใจติดต่อได้ที่คุณสนอง โทร.098-4682060

หน้าแรก » ภูมิภาค