วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 18:34 น.

ภูมิภาค

แห่ขอเลขเด็ด! รูปปั้นตาเมฆยายหมอกคึกคัก

วันพุธ ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2561, 20.34 น.

 

แห่ขอเลขเด็ด!
รูปปั้นตาเมฆยายหมอกคึกคัก

 

 

หลังจากมีกระแสข่าววิพากษ์วิจารณ์กระหึ่มบนโลกโซเชียล ว่ามีรูปปั้นตายายอยู่ในศาลกลางหมู่บ้าน ชื่อว่า “ศาลตาเมฆ ยายหมอก”  ปั้นในท่าเปลือยกายทั้ง 2 ท่าน โดยตาอยู่บนตัวยายในท่านั่งคุกเข่า 2 ข้าง ขณะกำลังจะแหย่อวัยวะเพศไปที่อิตถีของยาย โดยยายนอนราบกับพื้นยกขาทั้ง 2 ข้างวางพาดไปบนต้นขาของตา ในลักษณะกำลังมีเพศสัมพันธ์กัน ที่พื้นที่ หมู่ 3 บ้านบางสะแก ริมถนนสายบางสะแก-โคกงูเห่า ต.บางตะเคียน อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ส่งผลทำให้นักเสี่ยงโชคแห่ขอเลขเด็ดกันทั่วสารทิศ

 

 


ล่าสุดเมื่อวันที่  31 ต.ค. ที่ผ่านมาผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปตรวจสอบพบนักเสี่ยงโชคหวังจะได้เลขเด็ดโชคลาภ ชาวบ้านแห่กันเข้ามาจุดธูปขอพรตาเมฆยายหมอกนำผ้าสามสีมาผูกและพวงมาลัยมาคล้องให้ตาเมฆยายหมอกกันอย่างต่อเนื่อง  พร้อมกับจะเขย่าติ่ว เสี่ยงเซียมซี เพื่อขอเลขเด็ดกับตายายอย่างเนื่องแน่น บางรายก็นำเอาผลไม้ น้ำแดง เครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ ก่อนขอเลขเด็ด ซึ่งมี ส.ท.ผ่อง แจ่มจำรัส อายุ 67 ปี คณะกรรมการหมู่บ้าน คณะกรรมการ “ศาลตาเมฆ ยายหมอก” และชาวบ้านพื้นที่  ต.บางตะเคียน อ.สองพี่น้อง ร่วมกันสวดมนต์ขมาลาโทษก่อนชาวบ้าน และประชาชนที่มาร่วมในพิธี ต่างคนก็ต่างจุดธูปขอเลขเด็ด หลังจากนั้นทั้งหมดก็ได้ร่วมกันอธิฐานขอพรขอโชคลาภ จากนั้นได้เขย่าติ่วเสี่ยงเซียมซีเพื่อเสี่ยงโชคได้เลขเป็น 730, 24 ,14  อย่างไรก็ตามเป็นความเชื่อส่วนบุคคล และเป็นโชควาสนาของแต่ละคนที่จะได้โชคลาภกันด้วย

 


           


ด้าน ส.ท.ผ่อง แจ่มจำรัส กล่าวเพิ่มด้วยว่ากรณีที่มีชาวเน็ต วิจารณ์กันอย่างหนักในโลกโซเชียล ว่า “ศาลตาเมฆ ยายหมอก” ไม่เหมาะสมนั้นก็ไม่สามารถห้ามความคิดใครได้ แต่โดยความถูกต้องแล้วรูปปั้นตายายนี้ มีมาตั้งแต่ในอดีตโบราณนานมาแล้ว อายุราว 40-50 ปี สมัยก่อนเป็นรูปปั้นดินเหนียว วางอยู่ข้างคันนาในทางสามแพร่ง เมื่อฝนแล้งทำให้นาได้รับความเสียหาย พืชไร่พืชนาไม่ได้ผลผลิต  ส่งผลทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ชาวบ้านจึงได้นำรูปปั้นตาเมฆย-ยายหมอก ลักษณะมีเพศสัมพันธ์กัน พร้อมกับแมวอีก 1 ตัว ร้องเพลงแห่ไปรอบหมู่บ้านเพื่อขอฝนจากเทวดา ให้เทวดาได้เห็นว่ามีภาพลักษณะพิเรนของโลกมนุษย์  เทวดาจึงทำให้ฝนฟ้าตกตามฤดูกาล   

 

ขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ถือว่าเป็นประเพณีอันนี้สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นโบราณเป็นความเชื่อของชาวบ้านบางสะแก ไม่คิดไปในเรื่องลามกอนาจารแต่อย่างใด เดิมทีที่เป็นดินนั้นพอแห่นางแมวเสร็จแล้วฝนตกลงมา ก็จะวางรูปปั้น “ตาเมฆ ยายหมอก” ไว้กับดินก็จะละลายไปตามสายฝน จนกระทั่ง “ช่างเล็ก” ช่างปั้นเปรต วัดไผ่โรงวัว วัดที่หลวงพ่อขอม เกจิอาจารย์ชื่อดังในอดีตแห่งลุ่มน้ำท่าจีน เมืองสุพรรณฯ ได้สร้างปริศนาธรรมให้กับพุทธศาสนิกชนคนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ธรรมะ บาป บุญ คุณ โทษ มาเห็นเข้าจึงอาสาปั้นให้เป็นปูน ส่วนศาลนั้นคอหวยที่โชคดีถูกหวยรวยเบอร์จึงได้ช่วยกันมาสร้างศาลขึ้นมา

 

 

ส่วนนายกำพล ลีวานนท์ อายุ 48 ปี หรือผู้ใหญ่หนึ่ง อยู่บ้านเลขที่ 248 หมู่ 3 ต.บางตะเคียน อ.สองพี่น้อง อธิบายถึงความหมายที่มาของคำว่า “ตาเมฆ ยายหมอก” ตาเมฆ เป็นสัญลักษณ์ของผู้ชาย และ ยายหมอกคือผู้หญิง เป็นเมฆหมอก การที่รูปปั้นแสดงออกแบบนี้คือทำให้รวมกัน เมื่อเมฆหมอกรวมตัวกันก็จะกลายเป็นฝน ก็คือมันเป็นกุศโลบายของคนสมัยโบราณเท่านั้นเอง เดิมทีที่เป็นรูปดินในทางสามแพร่ง ชาวบ้านเห็นว่าไม่น่าดูเท่าไหร่นัก จึงได้ร่วมมือกันสร้างศาลาเล็ก ๆ ขึ้นมาเพื่อให้ตากับยายได้สถิตย์อยู่ในศาลาแห่งนี้ ปัจจุบันก็ยังเป็นที่พึ่งทางใจเป็นศูนย์รวมจิตใจกับชาวบ้านให้มีความรักความสามัคคีกันในชุมชนด้วย  ส่วนช่วงใกล้วันหวยออก ที่มีนักเสี่ยงโชคมาขอเลขกับตายายเป็นประจำ บ้างก็ได้เลขเด็ดรับโชคไป ถูกหวยกันบ้าง บางรายไม่มีโชคก็ต้องผิดหวังไม่ได้โชคก็มี อย่างไรก็ตามเป็นความเชื่อส่วนบุคคล

 

 

 

ส่วนเรื่องลี้ลับที่เกิดกับศาลแห่งนี้ ก่อนหน้านี้มีวัยรุ่นคึกตะนองไม่เชื่อเรื่องตรงนี้ได้ใช้เท้าถีบตาเมฆยายหมอกถีบจนศีรษะหัก ต่อมาวัยรุ่นสองผัวเมีย ได้ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตทั้งคู่ และอีกหลาย ๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างน่าแปลกใจเหตุการณ์เหล่านี้ไม่ใครบอกได้ว่าเกี่ยวข้องกับศาลตายายหรือไม่ นายกำพล ลีวานนท์ อายุ 48 ปี หรือผู้ใหญ่หนึ่ง กล่าวว่าในวันที่ 12 เมษายน ของทุกปีจะเป็นงานฉลองศาล “ตาเมฆ ยายหมอก”มีการนิมนต์พระสงฆ์จำนวน 9 รูป ถวายภัตราหารจตุปัจจัยไทยธรรมต่าง ๆ รวมไปถึงมีการร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนานจนสถานที่แห่งนี้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน บางคนก็เดินทางมาขอโชคลาภก็ได้กัน ถูกหวยถูกล๊อตเตอรี่กันเป็นจำนวนมาก ส่วนในเรื่องที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องลามกอนาจารหรือไม่ นายดำรง กล่าวเพิ่มอีกด้วยว่า จริงๆแล้วมันไม่ใช่  แต่จะเป็นการอนุรักษ์สิ่งที่คนโบราณ รุ่นปู่ย่าตายาย ที่เขาทำต่อเนื่องกันมาช้านานแล้ว เพื่อเป็นที่ยึดทางเหนี่ยวจิตใจของคนโบราณมากกว่า

หน้าแรก » ภูมิภาค