วันเสาร์ ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567 13:50 น.

ภูมิภาค

จ.สุรินทร์ เกษตรกรหันมาปลูกข้าวโพด แทนการทำนาปรัง ตามการส่งเสริมของรัฐ

วันศุกร์ ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2562, 10.54 น.


จ.สุรินทร์ เกษตรกรหันมาปลูกข้าวโพด
แทนการทำนาปรัง ตามการส่งเสริมของรัฐ


สุรินทร์-เกษตรกรหันมาปลูกข้าวโพดแทนการทำนาปรัง ตามการส่งเสริมของรัฐบาล ในขณะที่ชลประทานสุรินทร์ มั่นใจการบริหารจัดการน้ำในช่วงหน้าแล้งนี้ ไม่มีปัญหา ทั้งการอุปโภค บริโภค  ทำการเกษตรและรักษาระบบนิเวศน์ แจ้งประชาสัมพันธ์ทุกจุดงดหรือลดการทำนาปรัง หันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทน

 

 

สุรินทร์-วันนี้(10 ม.ค. 62) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ พบว่าหลังฤดูการเก็บเกี่ยว เกษตรกรหลายรายได้หันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย แทนการปลูกข้าวนาปรัง ตามการส่งเสริมของรัฐบาล เช่นการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยและดูแลง่าย ประกอบกับทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นเกษตรจังหวัด ชลประทานสุรินทร์  ซึ่งดูแลกับการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้เพียงพอในการช่วงหน้าแล้งที่จะมาถึงนี้ ได้เข้ามาให้คำแนะนำต่อเนื่อง

 

อย่างเช่นนายประเทือง ซ่อมทอง อายุ 51 ปี เกษตรกรบ้านดงมัน ต.คอโค อ.เมือง จ.สุรินทร์  หนึ่งในเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร ได้หันมาใช้พื้นที่จำนวน 5 ไร่ ที่เคยทำนาปรังในทุกปีหลังฤดูเก็บเกี่ยว ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตามที่ทางรัฐบาลได้มีการส่งเสริม โดยปีนี้เป็นปีแรกที่ดำเนินการ  ซึ่งการปลูกข้าวโพด เป็นการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยและดูแลง่าย อีกทั้งทางรัฐบาลมีการประกันในเรื่องของความเสียให้อีกด้วย และเป็นพืชที่ใช้ระยะเวลาไม่นานประมาณ 120 วัน ก็สามารถเก็บผลผลิตได้ โดยราคาของข้าวโพดจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 8 บาท ความเสี่ยงก็จะน้อยกว่าการทำนาปรัง

 

 
นายประเทือง ซ่อมทอง บอกว่า ตนใช้พื้นที่ 5 ไร่ ในการปลูกข้าวโพด แทนการทำนาปรังที่เคยทำมาเกือบทุกปี หลังจากรัฐบาลมีการส่งเสริม เป็นการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย ถ้าประสบผลสำเร็จ ในปีต่อไปก็จะหันมาปลูกต่อเนื่อง ตนมีพื้นที่ทั้งหมด 35 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ปลูกข้าว ในปีนี้เป็นปีแรกที่ได้ทดลองหันมาปลูกข้าวโพด เห็นด้วยที่ทางรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องได้มาส่งเริมให้ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทนการปลูกข้าวนาปรัง แต่ก็ต้องดูไปจนถึงเก็บเกี่ยวผลิตจะเป็นอย่างไร ตนลงมือปลูกมาได้ 21 วันแล้ว ก็ไม่พบปัญหาเกิดขึ้น เรื่องของแมลงต่างๆก็มีการส่งเสริมให้ฉีดน้ำหมักชีวภาพแทนยาฆ่าแมลงก็ได้ผล

 

 
ด้านนายประเทือง วันดี ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสุรินทร์  กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ในขณะนี้ สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ 17 แห่งและฝายต่างๆอีก 9 แห่ง ปริมาณน้ำเฉลี่ยอยู่ที่ 60% ของความจุทั้งหมด โดยเฉลี่ยทั้งจังหวัด แหล่งน้ำหลักซึ่งใช้ผลิตน้ำประปาในเขตอำเภอเมืองและต่างอำเภอหลักๆ มีแหล่งน้ำเพียงพอ  มีน้ำเหลือใช้สำหรับการเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้งที่ใช้น้ำน้อย  การบริหารการจัดการน้ำของชลประทานสุรินทร์ น้ำในส่วนของจังหวัดส่วนแรกจะเป็นน้ำในส่วนของการอุปโภค บริโภค เพื่อการประปาเป็นหลัก หลังจากนั้นจะใช้ในการรักษาระบบนิเวศน์ กันน้ำไว้สำหรับการปลูกพืชนาปีๆการผลิตปี 62  ต้องกันไว้เพื่อรอเตรียมแปลงเพาะปลูก เนื่องจากในช่วงเดือนพฤษภาคม มิถุนายน ฝนที่ตกลงมาน้ำจะยังไม่ไหลเข้าอ่าง ซึ่งเราจะต้องเตรียมน้ำไว้สำหรับแปลงเพาะปลูก เหลือจากนั้นจะนำไปใช้ในเรื่องของการปลูกพืชฤดูแล้งในปี 61/62 นี้

 


จังหวัดสุรินทร์มีการวางแผนปลูกพืชฤดูแล้งไว้เป็นนาข้าว 8,100 ไร่ กระจายไปตามพื้นที่ต่างๆของจังหวัดสุรินทร์ และอีกส่วนหนึ่งไว้สำหรับปลูกพืชฤดูแล้งที่ใช้น้ำน้อย ตามนโยบายของรัฐบาล เช่นปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูการทำนา ซึ่งจังหวัดสุรินทร์มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการปลูกแล้ว 1,700 ไร่ อยู่ในเขตชลประทานบางส่วนและนอกเขตชลประทานบางส่วน ซึ่งมีแหล่งน้ำเพียงพอ ดังนั้นในส่วนของอ่างเก็บน้ำจังหวัดสุรินทร์ ฝายต่างๆในลำห้วยหลักที่มีฝายดักอยู่ ทั้งห้วยลำน้ำชี ซึ่งอยู่ทิศตะวันตกและลำห้วยทับทัน ทางทิศตะวันออก รวมถึงลำห้วยเสนง มีปริมาณน้ำหน้าฝายความจุอยู่ที่ประมาณ 90 % สามารถสูบน้ำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ด้านข้างได้ รวมถึงแม่น้ำมูลที่ไหลผ่านจังหวัดสุรินทร์ และมีเขื่อนราศีไศลกั้นอยู่ น้ำหน้าเขื่อนก็เป็นประโยชน์กับพื้นที่อำเภอรัตบุรี ท่าตูม ซึ่งเขื่อนราศีไศลขณะนี้ก็มีปริมาณน้ำกักเก็บ 100 %  ดังนั้นถือว่าเรามีน้ำเพียงพอในการบริหารจัดการในพื้นที่ช่วงฤดูแล้งนี้

 

 
ในส่วนของการปลูกข้าวนาปรังในปีนี้ ได้ทำความเข้าใจกับเกษตรกรของดหรือให้ลดน้อยลงจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์น้ำ เช่นอ่างเก็บน้ำอำปึล ขอให้งดการปลูกข้าวนาปรังเลย เนื่องจากปริมาณน้ำมีอยู่เพียง 45% เท่านั้นหลังฤดูฝน ซึ่งแต่เดิมมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังประมาณ 2-3 พันไร่ ส่วนทางพื้นที่อื่นก็ได้มีการแจ้งไปยังคณะกรรมการจัดการอ่างเก็บน้ำในแต่ละอ่าง ซึ่งดูแลการจัดการบริหารน้ำในแต่ละอ่างและแจ้งไปยังกลุ่มผู้ใช้น้ำให้งดทำนาปรัง เพราะใช้น้ำมาก แต่ให้มาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย เช่นการปลูกข้าวโพด ก็จะเป็นผลดี เนื่องจากใช้น้ำน้อย ซึ่งเราได้มีการประชาสัมพันธ์แจ้งไปทุกจุดในเเต่ละพื้นที่ชลประทานแล้ว

 

 
สำหรับอ่างเก็บน้ำของห้วยเสนง เรามีน้ำเพียงพอในการอุปภคบริโภคและพื้นที่การเกษตรแน่นอน เพราะพื้นที่ทำการเกษตรในพื้นเขตชลประทานมีไม่มาก  อย่างไรก็ตามก็อยากให้ช่วยกันใช้น้ำกันอย่างประหยัดด้วย นายประเทืองกล่าว

หน้าแรก » ภูมิภาค