วันพฤหัสบดี ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 12:22 น.

ภูมิภาค

นมัสการพระมงคลมิ่งเมือง สัมผัสเขาดานพระบาท ที่พุทธอุทยาน จ.อำนาจเจริญ

วันอาทิตย์ ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2562, 13.45 น.

นมัสการพระมงคลมิ่งเมือง
สัมผัสเขาดานพระบาท ที่พุทธอุทยาน จ.อำนาจเจริญ

   

เมื่อถึงวันหยุดติดต่อกันหลายวัน หลายคน นิยมเดินทางไปท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจ ตามต่างจังหวัด ก่อนกลับ ก็จะแวะสถานที่สำคัญทางศาสนา นมัสการ พระพุทธรูป สิ่งศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้าน คู่เมือง ประจำจังหวัด เพื่อความเป็นสิริมงคล เป็นมงคลชีวิต เพิ่มพลังใจในการทำงานต่อไป


    


วันนี้ จะขอแนะนำ ไปนมัสการพระมงคลมิ่งเมือง ประดิษฐานอยู่ภายในพุทธอุทยาน ต.บุ่ง อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้าน คู่เมือง อำนาจเจริญ ผู้ที่จะเข้ามาทำงานในพื้นที่ ทั้งข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน นักธุรกิจ ต่างเดินทางเข้ามานมัสการองค์พระมงคลมิ่งเมือง เพื่อความเป็นสิริมงคล ทำงานสะดวกราบรื่นและอยู่เย็นเป็นสุขทุกคน


พระมงคลมิ่งเมือง มีพุทธลักษณะตามอิทธิพลด้านศิลปะอินเดียเหนือแคว้นปาละ ซึ่งได้แผ่อิทธิพลมายังภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย  เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 13 -16 เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 11 เมตร ส่วนสูงวัดจากพื้นดินระดับต่ำสุดถึงยอดเปลว 20 เมตร  โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กโดยตลอด ผิวนอกฉาบปูนด้วยกระเบื้องโมเสกสีทอง ก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2508 ซึ่ง พระมงคลมิ่งเมือง เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ มีประชาชนทั้งชาวอำนาจเจริญและจังหวัดใกล้เคียงให้ความเคารพและกราบไหว้บูชาตลอดเวลา


   z


นอกจากนี้ด้านข้าง ก็จะเป็นที่ตั้งของใบเสมาหินขนาดใหญ่ ครกหิน ลูกนิมิตจำนวนหนึ่ง ซึ่งขุดขึ้นมาจากหนองน้ำด้านทิศใต้ของพุทธอุทยาน เนื่องจากหลวงปู่แสง วัดพระมงคลมิ่งเมือง นิมิตเห็นใบเสมา,ครกหินและลูกนิมิต ฝังอยู่ใต้หนองน้ำ ด้านทิศใต้ของพุทธอุทยาน โดยเทวาอารักษ์เฝ้าอยู่มาหลายพันปีแล้ว จึงอยากให้นำขึ้นมาให้ประชาชนได้สักการบูชา ปกป้องรักษาชาวอำนาจเจริญ จึงได้ไปปรึกษานายศักดิ์ชัย ตั้งตระกูลวงศ์ นายกเทศมนตรีเมืองอำนาจเจริญ (ตำแหน่งขณะนั้น) ต่อมา จึงได้อัญเชิญขึ้นมาจากหนองน้ำ โดยทำพิธีทางพราหมและทางศาสนาอยู่ 3 วัน จึงสามารถนำขึ้นมาได้และนำไปตั้งไว้ที่พุทธอุทยานอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
    

 


สำหรับด้านหลังองค์พระมงคลมิ่งเมือง เป็นที่ประดิษฐาน พระละฮาย 2 องค์ สลักด้วยหินทรายสีแดง ยังสลักไม่เสร็จ พุทธลักษณะตรงกับสมัยทราวดีรุ่นหลังพุทธศตวรรษที่ 10 – 12 ซึ่งขุดได้จากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยปลาแดกหรืออ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน เพื่อใช้ในการเกษตรและผลิตน้ำประปาหล่อเลี้ยงชาวเมืองอำนาจเจริญ ซึ่งอยู่ตรงข้ามพุทธอุทยาน

 


    


นอกจากนี้ด้านหลังพระละฮาย ซึ่งพื้นที่มีลักษณะเป็นเขาดานหินธรรมชาติ สูงจากระดับพื้นดินเป็นดอนๆและเป็นที่ตั้งพุทธสถานศักดิ์สิทธิ์มาช้านาน  เนื่องจากพบหลักฐานสำคัญ คือ ยังมีรอยพระพุทธบาทจารึก และห่างไปก็จะเป็นป่ารกชัดมีถ้ำหลายถ้ำ ซึ่งเป็นที่อาศัยของสัตว์ป่าหลากหลายชนิด ท่ามกลางแมกไม้ป่ารกชัด สลับเสียงนกกาจั๊กจั่นขับร้องขับกล่อมเป็นเสียงเพลง ลมพัดเย็นสบายตลอดเวลา จะเป็นที่ตั้งศาลาการเปรียญแบบไม้ยกสูงจากพื้นดินประมาณ 2 เมตร ค่อนข้างเก่า เพื่อให้พุทธศาสนิกชน ญาติโยม ถวายภัตตาหาร แด่ พระครูสารธรรมคุณาพร หรือ พระอาจารย์คำ จันทสาโร ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่นี่  สังกัดธรรมยุติ สายพระอาจารย์มั่น ภูริตโต และพระอาจารย์ฟั่น อาจารโร  ซึ่งนักท่องเที่ยวและพุทธศาสนิกชน ที่มานมัสการพระมงคลมิ่งเมือง ก่อนกลับก็จะแวะฟังธรรมเทศนา จากพระอาจารย์คำ จันทสาโร เพื่อความเป็นสิริมงคล เป็นมงคลชีวิต ให้เจริญรุ่งเรือง และ ก้าวหน้าในการงานนั่นเอง.....

 


สนธยา ทิพย์อุตร/อำนาจเจริญ รายงาน 

หน้าแรก » ภูมิภาค