วันพฤหัสบดี ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 17:44 น.

ภูมิภาค

โครงการพัฒนาครูคืนถิ่นเน้นสร้างชุมชนแห่งวิชาชีพครูในวิถีใหม่เพื่อตอบสนองการศึกษาแห่งอนาคต

วันอังคาร ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2563, 10.24 น.

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมกับสถาบันเครือข่ายอุดมศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนรวม 19 สถาบัน จัดปฐมนิเทศ “โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นระยะเข้าสู่วิชาชีพ รุ่นที่ 3 (บรรจุปี 2561)” โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.สุมาลี  ชัยเจริญ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในการเปิดการประชุมฯ ซึ่งในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมได้แก่ ครูผู้ได้รับทุนในโครงการ ผู้อำนวยการ และครูในโรงเรียนในโครงการร่วมกว่า 1,000 คน ซึ่งได้ปรับเปลี่ยนเป็นการประชุมแบบออนไลน์ภายใต้สถานการณ์ Covid-19

 


การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ได้มีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “แนวปฏิบัติกระบวนการชุมชนการเรียนรู้วิชาชีพเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียน” โดย รศ.ดร.มนตรี  แย้มกสิกร ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักเลขาธิการคุรุสภา เพื่อมุ่งสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพของนักการศึกษาในการพัฒนาสมรรถนะของนักเรียนเป็นหลัก การบรรยายหัวข้อ “การพัฒนาครูเพื่อรองรับการศึกษาแห่งอนาคต” โดย รศ.ดร.อิศรา ก้านจักร รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์และพัฒนาองค์กร และ การบรรยายหัวข้อ “Innovative Teacher” โดย ผศ.ดร.นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมการศึกษาสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นการนำเสนอเกี่ยวกับ การพัฒนาของครูประจำการให้พร้อมสำหรับการศึกษาวิถีใหม่ การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ นวัตกรรมต่างๆ มาใช้ในการเปลี่ยนชั้นเรียนแบบดั้งเดิมให้เป็นชั้นเชิงนวัตกรรม จากนั้น รศ.ดร.จารุณี  ซามาตย์ รองคณบดีฝ่ายการศึกษาและพัฒนาคุณภาพ ชี้แจ้งเกี่ยวกับการดำเนินการของโครงการฯ

 


  

รศ.ดร.สุมาลี ชัยเจริญ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ กล่าวว่า โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ได้รับการอนุมัติโครงการฯ จากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกคนดีคนเก่ง เข้ามาศึกษาวิชาชีพครู ในสถาบันผลิตครูที่มีคุณภาพ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้รับการบรรจุเข้ารับราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในภูมิลำเนาของตนเอง ซึ่งมีระยะดำเนินการระหว่าง พ.ศ. 2559 – 2570 รัฐบาลก็มุ่งหวังว่าโครงการนี้จะเป็นโครงการนำร่องในการปฏิรูประบบการผลิตครูซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา เพื่อสร้างครูคุณภาพสูง ช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ นำไปสู่การพัฒนาสมรรถนะของเด็กไทยให้ได้มาตรฐานสากล  ทั้งนี้ได้มีการบรรจุครูในโครงการฯ รุ่นที่ 1 และ 2 (ปี 2559 และ 2560) ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ไปแล้ว ทั้งสิ้น 1,075 คน โดยในครั้งนี้เป็นการประชุม รุ่นที่ 3 บรรจุปี 2561 จำนวน 490 คน โดยมีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นแม่ข่ายหลักของภาคอีสานตอนบน

 


   

ด้าน รศ.ดร.จารุณี  ซามาตย์ รองคณบดีฝ่ายการศึกษาและพัฒนาคุณภาพ คณะศึกษาศาสตร์ มข. กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในนามของสถาบันเครือข่ายหลัก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 19 สถาบัน ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะร่วมมือดำเนินงานโครงการฯ โดยเน้นการพัฒนาเชิงพื้นที่เป็นหลัก (On-site coaching and mentoring) เน้นการทำงานเชิงเครือข่ายเพื่อปรับบทบาท วิธีการผลิตและพัฒนาครูเพื่อให้สอดรับการปฏิรูปการศึกษาในปัจจุบันและร่วมกันยกระดับคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ (Area-Based Education)  เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการผลิตและพัฒนาครู อีกทั้งร่วมรับผิดชอบต่อผลผลิตของตนเอง ตลอดจนมีการติดตามและพัฒนาติดตามเป็นพี่เลี้ยงแก่ครูในโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่ออนาคตครูไทยและเด็กไทยที่เข้มแข็ง.

หน้าแรก » ภูมิภาค