วันพุธ ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 01:09 น.

ภูมิภาค

โคราชเฮ! “โนอึล”ได้น้ำท่าช่วยบรรเทาภัยแล้ง “เทวัญ” รุดเยี่ยมให้กำลังใจมอบถุงน้ำใจ

วันจันทร์ ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2563, 12.37 น.

นครราชสีมา วันนี้( 21 กันยายน 2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมขังเนื่องจากพายุ”โนอึส”ที่เกิดฝนตกหนักเป็นบริเวณกว้างทั้ง จ.นครราชสีมา โดยในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา , เทศบาลตำบลหัวทะเล และเทศบาลตำบลบ้านใหม่ อ.เมืองฯทำให้มีน้ำท่วมขังในหลายจุดและได้คลี่คลายสถานการณ์จนเข้าสู่ภาวะปรกติ แต่ยังมีในส่วนจุดซอยท้าวสุระ 25 ต.หัวทะเลยังมีน้ำท่วมขัง ประมาณ 50-60 ซม. ระยะทาง 50 เมตรรถสามารถผ่านได้อย่างช้าๆ และหมู่บ้านมงคลชัยนิเวศน์ ต.หัวทะเล ประชาชนเจ้าของบ้านแต่ละหลังเร่งเก็บกวาดซ่อมแซมข้าวของเครื่องใช้ที่เสียหายและถนนหนทางอย่างทุลักทุเล เนื่องจากโคลนสีดำคล้ำและลื่นเป็นจำนวนมาก  และพื้นที่ ต.บ้านใหม่ยังมีน้ำท่วมขัง 20-30 ซม. ซึ่งวันนี้ช่วงบ่ายทุกจุดจะเข้าสู่ภาวะปรกติ

 

 

วันเดียวกันนายเทวัญ ลิปตพัลลภ อดีต รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ประธานศูนย์การให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย วาตภัยและภัยต่างๆ  “ศูนย์คนโคราชรักจริงไม่ทิ้งกัน” พร้อมด้วยนายวัชรพล โตมรศักดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร จ.นครราชสีมา และชมรมเพื่อนสุวัจน์ ได้ลงพื้นที่ให้กำลังใจพี่น้องประชาชน ชาวบ้านคนยากคนจน ผู้สูงอายุ ผู้พิการมอบถุงน้ำใจ ถุงยังชีพ ข้าวสารอาหารแห้ง ยารักษาโรค น้ำดื่ม พื้นที่ ต.บ้านใหม่ 2 หมู่บ้าน , ชุมชนมงคลชัยนิเวศน์ – ซอยท้าวสุระ 25 และ 33 และที่ชุมชนโรงต้ม เขตเทศบาลนครนครราชสีมา รวมกว่า 500 ชุด นอกจากนี้มูลนิธิเพื่อนพึ่งพายามยากยังได้นำถุงยังชีพ จำนวน 200 ชุดไปมอบให้ราษฏรในพื้นที่ ต.หัวทะเล โดยมีนายเอกภพ โตมรศักดิ์ นายกเทศมนตรีตำบลหัวทะเลฯเป็นผู้แทนมอบฯ

 

 

ด้านนายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของพายุโซนร้อนโนอึล ทำให้น้ำในอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ของโครงการชลประทานนครราชสีมา ที่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง ได้รับน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำ เพิ่มอีก 37.92 ล้าน ล้านลูกบาศก์เมตร และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 23 แห่ง รวม 22.77 ล้านลูกบาศก์เมตร และมวลน้ำได้ เพิ่มอีก 60.69 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเมื่อทั้ง 2 วันที่ผ่ามาได้น้ำ 78.63 ล้าน ลบ.ม. และจะมีน้ำไหลลงต่อเนื่องอีกไม่น้อยกว่า 3 วันนี้หลังจากนี้ ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาปัญหาหาภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาที่ประสบปัญหาต่อเนื่องมาเป็นเวลา 2 ปี สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำเกิน 100%ของความจุที่ระดับเก็บกัก จะมีการพร่องน้ำลงลำน้ำเดิม เพื่อความปลอดภัยของเขื่อนโดยมีปริมาณน้ำไหลล้น ทางระบายน้ำฉุกเฉินของอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนบนสู่ลำน้ำเดิมในอัตรา 28 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะพยายามบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดและลดผลกระทบด้านท้ายน้ำให้มากที่สุด จึงอยากประชาสัมพันธ์เตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบลุ่มน้ำลำเชียงไกรให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ราบลุ่มของลำเชียงไกรให้ขนของมีค่าขึ้นที่สูงเพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน

 

หน้าแรก » ภูมิภาค