วันเสาร์ ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 06:31 น.

ภูมิภาค

ผู้ว่าฯศรีสะเกษ ชู "โคก หนอง นา โมเดล" ทางรอดสู้วิกฤติโควิด

วันศุกร์ ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2564, 20.38 น.
เมื่อวันที่ 22 มกราคม  2564  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล จ.ศรีสะเกษ บ้านเตาเหล็ก หมู่ที่ 10 ต.เมืองหลวง อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ เปิดเผยว่า  เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 64 ตนได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีมอบวุฒิบัตรผู้ผ่านการฝึกอบรมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์ “โคก หนอง นา โมเดล” กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โค หนอง นา โมเดล รุ่นที่ 4  ต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมในครั้งนี้มีทั้งหมด 102 คน จากพื้นที่ 4 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ราษีไศล อ.ปรางค์กู่ อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ และ  อ.ศิลาลาด ซึ่ง นายจรินทร์ รอบการ พัฒนาการ  จ.ศรีสะเกษ ได้จัดการอบรมขึ้น โดยมี  หัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมและประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับและร่วมพิธี
 
นายวัฒนา พุฒิชาติ  ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า เนื่องจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบไปถึงวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจ ด้านการสาธารณสุข ด้านการคมนาคมและอื่น ๆ ส่งผลให้เกิดวิกฤตทางสังคมขนาดหนักไปทั่วทั้งโลก ซึ่งการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติอย่างเป็นขั้นตอน โดยใช้หมู่บ้านเป็นฐานของการพัฒนา มุ่งสร้างภูมิคุ้มกันให้ทุกครัวเรือน และพัฒนาคนให้มีความรู้และปรับตัวให้สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข มีอาชีพ สร้างรายได้ ในรูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” จึงเป็นทางรอดที่สำคัญที่พี่น้องชาว  จ.ศรีสะเกษ ควรน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติให้เห็นผล เป็นรูปธรรม ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมไปแล้ว จะต้องนำความรู้ที่ได้รับ นำไปพัฒนาพื้นที่ของตนเองให้ประสบผลสำเร็จ เห็นผลเชิงประจักษ์ และเป็นต้นแบบที่ดี ให้แก่พี่น้องชาวจังหวัดศรีสะเกษและคนอื่น ๆ สามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้ในการทำกสิกรรมธรรมชาติ การปลูกป่า 3 อย่างให้ประโยชน์ 4 อย่าง การปลูกป่า 5 ระดับ เพื่อพลิกฟื้นคืนชีวิตให้ผืนดิน ให้ครอบครัวได้พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น มีเหลือก็แบ่งปัน ทำบุญ ทำทาน หากมีมากก็เก็บรักษาไว้เผื่อใช้ยามจำเป็น หรือขายเพื่อสร้างรายได้ให้ครอบครัว และรวมกันเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง เพื่อที่จะสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ให้กับเศรษฐกิจในระดับฐานรากต่อไป

หน้าแรก » ภูมิภาค