วันจันทร์ ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 10:12 น.

ภูมิภาค

ขอเชิญเที่ยว “วนอุทยานน้ำตกผาหลวง” ที่จังหวัดอุบลฯ

วันอังคาร ที่ 09 สิงหาคม พ.ศ. 2565, 09.45 น.

นางวาสนา สุราวุธ หัวหน้าวนอุทยานน้ำตกผาหลวง เปิดเผยว่า วนอุทยานน้ำตกผาหลวง อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงภูโหล่น ในท้องที่บ้านนาเลิน ตำบลนาเลิน อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี มีเนื้อที่ประมาณ 11,375 ไร่ กรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2538 ต่อมาในวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2563 ได้มีประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดบริเวณพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงภูโหล่น ในท้องที่ตำบลสำโรง อำเภอโพธิ์ไทร และตำบลนาเลิน ตำบลหนามแท่ง อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานีให้เป็นวนอุทยาน เนื้อที่ 12,991 ไร่ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอนพิเศษ 3 ง วันที่ 5 มกราคม 2564

 

 

“วนอุทยานน้ำตกผาหลวง” มีอาณาเขต ดังนี้ ทิศเหนือ ติดพื้นที่สปก. พื้นที่ คทช.ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงภูโหล่น บริเวณบ้านคำหมาไน ต.นาเลิน อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี และ บ้านนาหว้า บ้านนาขาม บ้านนาห้าง ต.สำโรง อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี ทิศใต้ ติดพื้นที่โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ “โบกลึก” ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงภูโหล่น และบ้านนาโป่งโพน ต.ลาดควาย อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี ทิศตะวันออก ติดพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงภูโหล่นและอุทยานแห่งชาติผาแต้ม และบ้านดงบาก บ้านนาทอย บ้านพะเนียด ต.หนามแท่ง อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี และ ทิศตะวันตก ติดพื้นที่ สปก.พื้นที่ คทช.ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงภูโหล่นบริเวณบ้านนาเลิน บ้านนาหว้า ต.นาเลิน อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี

 


 

เส้นทางคมนาคม ไปวนอุทยานน้ำตกผาหลวง ถ้าออกจากตัวเมืองอุบลราชธานี จะมีด้วยกัน 3 เส้นทาง เส้นทางที่ 1 ไปตามเส้นทาง อุบลราชธานี – ตระการพืชผล แล้วเลี้ยวขวาไปอำเภอศรีเมืองใหม่ แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางศรีเมืองใหม่ – บ้านนาเลิน ก็มาถึงวนอุทยานน้ำตกผาหลวง รวมระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร เส้นทางที่ 2 ไปตามเส้นทางอุบลราชธานี-พิบูลมังสาหาร ข้ามสะพานพิบูลมังสาหารตรงขึ้นไปอำเภอศรีเมืองใหม่แล้วเลี้ยวขวาตามเส้นทางศรีเมืองใหม่ – บ้านนาเลิน รวมระยะทางประมาณ 96 กิโลเมตร เส้นทางที่ 3 ไปตามเส้นทางอุบลราชธานี – ตาลสุม แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางบ้านนามน-หนองแก้งกอก และตรงไปตามเส้นทางศรีเมืองใหม่ – บ้านนาเลิน รวมระยะทางประมาณ 98 กิโลเมตร

 


 

นายศิวะนันท์ จันทะสาต เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ประจำวนอุทยานน้ำตกผาหลวง ได้เปิดเผยถึง แหล่งท่องเที่ยว ในวนอุทยานน้ำตกผาหลวง ว่า แหล่งท่องเที่ยวมีหลายแห่งด้วยกัน เช่น บริเวณยอดเขาแต่ละยอดจะมีถ้ำอยู่หลายแห่ง แต่เป็นถ้ำขนาดเล็ก และที่สำคัญคือ จะมีน้ำตกที่มีความสูงประมาณ 20 เมตร จากหน้าผาลงมาสู่แอ่งน้ำข้างล่าง และบริเวณบนน้ำตกจะมีที่ราบเป็นพลาญหิน หน้าผามีความสูงชัน มีความยาว 200-300 เมตร ใกล้น้ำตก ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ในวนอุทยานน้ำตกผาหลวง ได้แก่
 

น้ำตกผาหลวง เป็นน้ำตกที่มีต้นกำเนิดบนภูหลวง เกิดจากการรวมตัวของร่องน้ำ 3 สายบริเวณป่าดอนบาก ป่าดอนชาดและโบกกบ ไหลมาบรรจบกัน เป็นแอ่งเล็ก แอ่งน้อยรวมตัวกันจนเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ พอมีปริมาณมากก็ไหลหลากตกลงจากเพิงหน้าผาลงสู่เบื้องล่าง กลายเป็นน้ำตก ซึ่งสมัยก่อนชาวบ้านเรียกน้ำตกแห่งนี้ว่า “น้ำตกผาแซ” เรียกตามร่องน้ำหรือชาวบ้านเรียกว่า “แซ” ต่อมาทางราชการได้จัดตั้งเป็นวนอุทยาน เมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๓๘ จึงได้ตั้งชื่อให้เป็นทางการ โดยนำเอาแหล่งต้นกำเนิดน้ำตกเป็นชื่อเรียก จึงกลายมาเป็นน้ำตกที่มีชื่อว่า “น้ำตกผาหลวง”

 


 

ในปัจจุบันน้ำตกผาหลวง เป็นน้ำตกที่มีความสวยงาม โดดเด่น น้ำตกจากหน้าผาสูงชันสามารมองเห็นได้ในระยะไกล เป็นน้ำตกที่มีม่านน้ำตกกว้าง และหลังม่านน้ำตกมีเพิงถ้ำขนาดใหญ่อยู่หลังม่านเปรียบ เสมือนเป็นม่านน้ำตกที่ปกปิดถ้ำเอาไว้ จึงเป็นน้ำตกที่มีความสวยงามอันดับต้นๆของจังหวัดอุบลราชธานี น้ำจะไหลตามร่อง (แซ) ลงสู่ห้วยท่าแตง ห้วยม่วงและห้วยตุงลุง ช่วงที่มีน้ำมากในเดือนกรกฎาคม-กันยายนของทุกปี
 

องค์หลวงพ่อผาหลวง ประดิษฐานอยู่ภายใต้เพิงถ้ำหลังม่านน้ำตก ซึ่งเป็นเพิงถ้ำลึกประมาณ 10 เมตร ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านว่ามีพระธุดงค์จากที่อื่นมาถือศีลเข้าพรรษา ชาวบ้านที่มีความเลื่อมใสศรัทธา ได้มอบถวายองค์พระพุทธรูปรวม 5 องค์

 


 

เสาเฉลียง บริเวณเสาหินเฉลียงเป็นชั้นหินทรายที่เกิดจากการสะสมของตะกอนทางน้ำในอดีต ถูกจัดอยู่ในหมวดหินภูพาน (Phuphan Formation) กลุ่มหินโคราช (Korat Group) โดยลักษณะภูมิสัณฐาน (Morphology) ที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน เป็นผลมาจากชั้นหินทรายเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง เนื่องจากการยึดและหดตัวตามสภาพภูมิอากาศที่ร้อนในเวลากลางวันและอากาศเย็นในเวลากลางคืน ทำให้ชั้นหินเกิดรอยแตกและรอแยก ในเวลาต่อมาชั้นหินถูกการกัดเซาะด้วยกระแสน้ำและลม และทำให้ชั้นหินส่วนที่เหลือปรากฏ ให้เห็นเป็น “เสาเฉลียง”
 

น้ำตกรากไทร อยู่ระหว่างทางขึ้นไปบนหน้าผา ซึ่งน้ำตกนี้จะไหลลงทางเดินขึ้นไปดูน้ำตกผาหลวงมีความสูง ประมาณ 8 เมตร มีน้ำมากในช่วงเดือนกรกฎาคม
 

หยดน้ำทิพย์ เป็นน้ำที่ไหลซึมออกจากรอยแยกของหินบริเวณหน้าผา แล้วหยดลงมาตามรากไม้ในฤดูฝนจะมีน้ำมากถึงขนาดไหลแรง และจะมีน้ำซึมจนถึงหน้าแล้ง
 

จุดชมหน้าผาน้ำตก เป็นจุดชมวิวที่อยู่บนจุดที่น้ำตกผาหลวงตกลงไปด้านล่าง ด้านบนหน้าผาสามารถมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบหมู่บ้านนาเลิน

 


 

โบกนกยูง เป็นปรากฏการณ์ของหินมีลักษณะเป็นแอ่งขนาดไม่ใหญ่นัก หรือที่เรียกว่า POT HOLE จำนวน 7 แอ่ง เกิดจากการหมุนเวียนของน้ำทำให้ทรายและหินกัดเซาะทำให้เกิดเป็นแอ่ง เมื่อน้ำไหลผ่านนานเข้าทำให้เกิดการกัดเซาะแอ่งนั้นจนสึกจนมีขนาดเล็กและใหญ่ขึ้น ปรากฏการณ์นี้ใช้เวลานานนับหลายร้อยปี
 

น้ำตกลงป่อง มีความสูงประมาณ 2 เมตร ลักษณะน้ำจะไหลลงป่องหิน ซึ่งธรรมชาติได้สร้างสรรค์เอาไว้เป็นป่องหิน มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 70 เซนติเมตร ช่วงที่มีน้ำมากในเดือนกรกฎาคม-กันยายนของทุกปี
 

เสาเฉลียงโบกนกยูง เป็นเสาหินขนาดเล็กเกิดจากการกัดเซาะทางธรรมชาติ ด้านบนเป็นแผ่นหินวางอยู่บนแท่งเสาหิน
 

ลานจระเข้หิน เป็นก้อนหินทรายขนาดเล็กและใหญ่ เป็นกลุ่มมีลักษณะรูปทรงคล้ายจระเข้

 


 

ทุ่งดอกหญ้า ทุ่งหญ้าที่มีดอกไม้ที่มีสีสันสวยงามระรานตา เกิดขึ้นเป็นเต็มทุ่งเป็นหย่อมๆ ซึ่งเป็นดอกไม้ที่ได้รับพระราชทานนาม ซึ่งได้แก่ ดุสิตา สรัสจันทร สร้อยสุวรรณา มณีเทวา ทิพย์เกษรและอื่นๆอีกหลายชนิด เที่ยวชมได้ในช่วงปลายฝนต้นหนาว ตั้งแต่เดือนตุลาคม-มกราคม
 

ลานเต่าหิน เป็นก้อนหินทรายขนาดเล็กและใหญ่ เป็นกลุ่มมีลักษณะรูปทรงคล้ายเต่า
 

เสาเฉลียงเก้านางดอนบาก มีลักษณะเป็นแท่งเรียงซ้อนทับกันเป็นแถว ส่วนแผ่นหินด้านบนเป็นรอยแยก เกิดจากการกัดเซาะของน้ำฝนและลมตามธรรมชาติเป็นเวลาหลายร้อยปีทำให้เกิดรอยแยกออกเป็นกลุ่มก้อน นับได้ 9 ก้อน จึงเป็นที่มาของชื่อ “เก้านางดอนบาก” ซึ่งเป็นเสาเฉลียงขนาดใหญ่วัดฐานโดยรอบ 30 เมตร สูง 7 เมตร

 


 

จุดชมวิวหม้อหินผาหลวง เป็นลักษณะก้อนหินขนาดใหญ่ มีลักษณะคล้ายหม้อข้าว และเป็นจุดที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 300 เมตร สามารถมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบ 360 องศา
 

ปล่องช้างลอด เป็น ความเชื่อในสมัยโบราณมีคำเล่าขานว่า เป็นจุดที่ช้างเดินลอดผ่านไป - มา เพื่อลงไปดื่มน้ำและหาอาหารบริเวณด้านล่าง
 

ผาผึ้ง เป็นหน้าผาที่มีผึ้งมาทำรังอยู่มากมาย ปัจจุบันถูกมนุษย์ทำลาย คงยังหลงเหลือร่องรอยและรังผึ้งใหม่ที่กำลังขยายพันธุ์อยู่ไม่มากนัก และ นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีกลุ่มหินมหัศจรรย์ ภาพเขียนสีโบราณผาทอย น้ำตกเจ็ดเทวา เสาเฉลียงหลังเยน ถ้ำวงละคร ถ้ำแตก ให้เที่ยวชมอีกด้วย

 


 

นอกจากมีแหล่งท่องเที่ยวแล้ว ยังมีที่พักสงฆ์โดยรอบวนอุทยานน้ำตกผาหลวง อีกหลายแห่งให้เที่ยวชมและกราบไหว้ เช่น วัดป่าผาผึ้งภูหลวง เป็นวัดที่อยู่พื้นล่างหน้าผาผึ้ง จะมีพระมาจำพรรษาอยู่เป็นประจำทุกปี วัดภูกุ้มข้าว มีกุฏิที่ตั้งอยู่บนเนินพลาญหินที่มีความสูง สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ได้โดยรอบ วัดภูพระเจ้า (วัดถ้ำพระเจ้าคอกุด) เป็นสำนักสงฆ์ที่อยู่ในถ้ำ บ้านนาทอย ตำบลหนามแท่ง อำเภอศรีเมืองใหม่ จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน ได้มีพระมาถือศีลในบริเวณถ้ำแห่งนี้ ชาวบ้านจึงได้นำองค์พระมาถวายโดยบรรทุกใส่เกวียนมา แต่เส้นทางในการขนย้ายนั้นขรุขระทำให้องค์พระเกิดเศียรหักและหล่นหายไปในระหว่างทาง เหลือแต่องค์พระ ชาวบ้านจึงนำมาประดิษฐานในถ้ำไว้ก่อน ต่อมาชาวบ้านได้ช่วยกันบูรณะองค์พระให้สมบูรณ์ เพื่อไว้เป็นที่สักการะบูชาในงานประเพณีต่างๆประจำหมู่บ้าน

 


 

วนอุทยานน้ำตกผาหลวง กำลังก่อสร้างบ้านพักนักท่องเที่ยว ขนาด 4 คน จำนวน 2 หลัง หากนักท่องเที่ยวมีความประสงค์จะเดินทางมาพักแรม โปรดนำเต็นท์ไปกางเอง ทางวนอุทยานจัดสถานที่ไว้ให้พร้อมกับห้องสุขา โปรดเตรียมอาหารไปเอง และไปติดต่อขออนุญาตกับเจ้าหน้าที่วนอุทยานน้ำตกผาหลวงโดยตรง และ ทาง วนอุทยานน้ำตกผาหลวงได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 คัดกรองนักท่องเที่ยวตามมาตรการท่องเที่ยว New Normal อย่างเคร่งครัด อีกด้วย

 


 

นักท่องเที่ยว หรือผู้ที่มีความประสงค์ไปเยี่ยมชม วนอุทยานน้ำตกผาหลวง สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมมางโทรศัพท์ ได้ที่ โทร.080 279 7459 หรือที่ อบต.นาเลิน อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลฯ โทร. 045 252574 หรือที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานอุบลราชธานี โทร. 0-4524-3770, 0-4525-0714

หน้าแรก » ภูมิภาค