วันอังคาร ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 14:57 น.

ภูมิภาค

ชวนแซ่บ "หลามไก่บ้าน" อาหารบรรพบุรุษชาติพันธุ์ไทตาด ชนเผ่าที่ 9 นครพนม

วันอาทิตย์ ที่ 04 กันยายน พ.ศ. 2565, 12.22 น.
ชาวไทตาดมีภาษา ประเพณี วัฒนธรรมเป็นอัตลักษณ์ของตนเองอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีอาหารที่แตกต่างจากชนเผ่าอื่นในจังหวัดนครพนม แต่ก็มีความคล้ายคลึงกับอาหารโบราณของชาวบ้านนครชุม อ.นครไทย จ.พิษณุโลก คาดว่าน่าจะมาจากที่เดียวกัน ถือเป็นเมนูที่ชาวไทตาดอนุรักษ์วิถีชีวิตการทำอาหารพื้นบ้านไว้อย่างเหนียวแน่น นั่นคือหลามไก่บ้าน ถือเป็นวิธีการประกอบอาหารแบบโบราณดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ
ณ วัดสันติญาภิรมย์ ต.บ้านผึ้ง คือจุดศูนย์รวมของชนเผ่าไทตาด ที่จะมาร่วมกันประกอบกิจกรรมต่างๆ โดยยึดมั่นในหลักธรรมคำสอนของศาสนาพุทธ แต่ก็ไม่ทิ้งวัฒนธรรมประเพณีที่ปู่ย่าตายายนำติดตัวมาด้วย คือ พิธีกรรมต่างๆ เกี่ยวกับการบวงสรวง สังเวยผี และเทวดาประจำหมู่บ้านหรือผีปู่ตา โดยมีหมอจ้ำประจำหมู่บ้านเป็นผู้ช่วยสื่อสารระหว่างคนกับผี เป็นผู้ช่วยแก้ไขไถ่โทษแก่ชาวบ้านกรณีทำผิดผีบ้านหรือผีบรรพบุรุษ
 
นายเชิดชัย มั่นที ส.อบต.หมู่ 15 ต.บ้านผึ้ง ลำดับเรื่องราววัฒนธรรมการกินของชนเผ่าไทตาด ว่า กรรมวิธีการทำหลามไก่บ้านของชาวไทตาดไม่ได้ยุ่งยาก เพียงนำไก่มาสับหั่นเป็นชิ้นขนาดพอคำ คลุกเคล้ากับส่วนผสมที่เป็นเครื่องสมุนไพร ที่หาง่ายตามบ้านเรือน คือ ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด หอมแดง  เกลือ น้ำเปล่า และน้ำปลาร้า กรอกลงใส่กระบอกไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ อุดปากกระบอกด้วยใบเตยหอม และใบตะไคร้ นำไปเผาเหมือนเผาข้าวหลาม ขณะที่หลามไก่กำลังเผาความหอมของไม้ไผ่ บวกกับใบเตยและตะไคร้ จะเพิ่มความหอมที่เป็นกลิ่นเฉพาะตัว ยั่วยวนน้ำลายเป็นยิ่งนัก ใช้ระยะเวลาการเผาประมาณ 1 ชั่วโมงก็เทใส่กระบอกไม้ไผ่กินได้เลย
 
นายเชิดชัยเล่าต่อว่า ในอดีตการสัญจรไปมาไม่สะดวกเหมือนปัจจุบัน ชาวไทตาดจึงใช้วัตถุที่หาง่ายในชุมชน เช่น นำกระบอกไม้ไผ่มาเจาะเป็นจาน ภาษาไทตาดเรียกว่ากะปาง เป็นภาชนะสำหรับใส่ต้ม แกง ฯลฯ ช้อนก็เอาข้อไม้ไผ่มาแทน  ใช้ตักซดน้ำในกะปาง  ซึ่งวิธีทำหลามไก่นี้ง่ายในการไปทำงานในเรือกสวนไร่นา ส่วนข้าวเหนียวก็จะห่อด้วยใบตอง นอกจากนี้ยังมีอาหารอื่นๆอีก อาทิ เหนี่ยนหมากเขือ อุเบ้า ซั่วไก่ หลามเอี่ยน ลาบเทา เป็นต้น
 
ชนเผ่าไทตาดคือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับการรองรับและขึ้นทะเบียนเป็นชนเผ่าที่ 9 ของจังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยตั้งชุมชนใหญ่อยู่ที่ ต.บ้านผึ้ง อ.เมืองนครพนม เดิมมีถิ่นฐานอยู่บริเวณสิบสองปันนา มณฑลยูนานของจีนในปัจจุบัน และได้อพยพไปอยู่ประเทศพม่า แถบลุ่มน้ำสาละวิน-อิระวดีระยะหนึ่ง กระทั่งเกิดความขัดแย้งกับกลุ่มชนพม่า จึงโยกย้ายล่องมาตามแม่น้ำโขงเข้าสู่เมืองหลวงพระบางของลาว ก่อนเคลื่อนย้ายมาที่เมืองท่าแขกหรือแขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านผาตาด เมืองยมราช ประมาณ 30 ปีก็พากันข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งชุมชนอยู่ ต.บ้านผึ้ง บางส่วนไปอยู่บ้านหนองบัว ต.นาราชควาย และ บ้านนาคำกลาง ต.นาทราย อ.เมืองนครพนม จนถึงปัจจุบัน
 
ทั้งนี้ จังหวัดนครพนม เป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ ที่หลอมรวมกันอย่างสงบสุข ภายใต้ร่มเงาของพระพุทธศาสนา โดยมีองค์พระธาตุพนมเป็นที่สักการะบูชา บนความเป็นไทกลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง 8 ชนเผ่า  ได้แก่  1.ผู้ไท (ภูไท) 2.ญ้อ  3.แสก  4.กะเลิง  5.โส้  6.ข่า  7.ไทยลาว (ไทยอีสาน) 8.ไทกวน และไทตาดกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกค้นพบล่าสุด เป็นชนเผ่าที่ 9 ประจำจังหวัดนครพนม นอกจากนี้ยังมี 2 เชื้อชาติ คือ จีน เวียดนาม

หน้าแรก » ภูมิภาค