วันพฤหัสบดี ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 12:28 น.

ภูมิภาค

ปลูกข่าเหลืองแซมยาง-ปาล์มเพิ่มรายได้เกษตรกร

วันพุธ ที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2565, 16.01 น.

สุราษฎร์ธานี-กยท.ส่งเสริมเกษตรกรชาวสวนยางพาราปลูกข่าเหลืองสร้างรายได้เสริมช่วงระหว่างรอยางพาราเปิดกรีด


นายกษิต รัตนพันธุ์ ผู้อำนวยการ การยางแห่งประเทศไทย สาขาพระแสง  จ.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า กยท.สาขาพระแสงให้การส่งเสริมเกษตรกรชาวสวนยางและเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันปลูกข่าเหลืองในร่องยางพาราและร่องปาล์มน้ำมัน ด้วยตัวคุณสมบัติของข่าเหลืองเป็นที่ต้องการของตลาดด้วยตัวเองคือมีกลิ่นหอม มีเนื้อมาก ไม่มีกลิ่นฉุน สามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์ในส่วนอื่นได้ สร้างรายได้ระหว่างที่รอต้นยางพาราพร้อมกรีด ทำให้เกษตรกรมีรายได้ต่อปีต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยเกือบแสนบาทต่อแปลงและในรอบ 1 ปีจะเก็บ 1 ครั้งเป็นการเหมาทั้งแปลง จะเก็บได้ทั้งข่าอ่อนและข่าแก่ในรอบ 8 เดือน โดยเกษตรกรให้ความสนใจจำนวนมากเพราะมีรายได้เสริม และช่วยสภาพพื้นที่เพราะสวนยางที่ปลูกแซมด้วยข่าเหลืองจะได้ความชื้นจากข่าทำให้สภาพพื้นที่มีดินร่วนซุย มีความชื้น ต้นยางเติบโตได้ดี

 

 

โดยทาง กยท.ให้การสนับสนุนเฉพาะเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท.และที่สำคัญคือการขับเคลื่อนแปลงยางใหญ่เพื่อช่วยในเรื่องของต้นทุนการผลิตและช่วยส่งเสริมด้านการตลาดเพิ่มผลผลิตโดยมีกองทุนสนับสนุนให้ทั้งกู้ยืมและให้ฟรีโดยที่ผ่านมีเกษตรกรติดระบบน้ำและสำหรับแปลงที่มีแหล่งน้ำแต่ระบบไฟไม่ถึงจะใช้ระบบแบบโซล่าเซล ซึ่งทาง กยท.กำลังขับเคลื่อนในส่วนนี้ ทั้งนี้สำหรับการกู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพเสริมกู้ยืมได้รายได้ไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ตามมาตรา 49 (5) พ.ร.บ.การยางส่วนเงินอุดหนุนที่ให้ฟรีในกรณีเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตรายละไม่เกิน 100,000 บาท ตาม พ.ร.บ.49 (3) ซึ่งทางเกษตรกรจะต้องทำโครงการตามที่ กยท.จัดสรรมาเป็นรอบ ๆ และสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ เป็นการลดค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง

 

 

“ข่าเหลืองมีลักษณะพิเศษคือเป็นข่าที่ไม่มีเสี้ยน เนื้อละเอียด มีกลิ่นหอม นำไปแปรรูปได้ทั้งหัวแตกต่างจากข่าทั่วไปที่ใช้การได้เฉพาะบางส่วน ที่สำคัญปลูกแซมยางพาราได้กับทุกสภาพผิวดิน ได้กับทุกสภาพอากาศทั้งหน้าร้อน หน้าฝน ทำให้ดินร่วนซุย เพิ่มธาตุอาหารให้กับต้นยางพาราขนาดเล็กได้เป็นอย่างดี”นายกษิต กล่าว
 

ด้านนางฉวีวรรณ ส้มเกิด เกษตรกรชาวสวนยางและสวนปาล์มน้ำมันที่ปลูกข่าเหลืองแซมสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน เปิดเผยว่า หลังจาก กยท.ให้การส่งเสริมทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ลดต้นทุนในครัวเรือน เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรในชุมชน โดยตลาดหลักคือประเทศมาเลเซีย และโซนจังหวัดทางภาคตะวันเฉียงเหนือ ได้แก่ จ.นครราชสีมาหรือโคราช และจังหวัดภาคกลาง เช่น จ.จันทบุรีและเข้าโรงงานแปรรูปบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโดยข่าเหลืองมีคุณสมบัติพิเศษคือเนื้อไม่เป็นเสี้ยน มีกลิ่นหอมเฉพาะของข่าเหลืองต่างจากข่าทั่วไป

 


              

สำหรับวิธีการปลูกข่าเหลือง ปลูกได้ทั่วไป ไม่มีอะไรซ้ำซ้อนมากนัก โดยคัดเลือกเหง้าที่แก่จัดแบ่งสัดส่วนพอประมาณปลูกลงไปในดินที่ขุดหลุมเล็กๆไม่กว้างมากนัก เว้นระยะห่างพอสมควรที่สำคัญอย่าให้เหง้าข่าทับกัน ปลูกประมาณ 8 เดือนก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดจนอายุยางได้ 4 ปีหรือยางเริ่มโตมีรากยางกินพื้นที่กว้างจำเป็นต้องขุดข่าเหลืองออก เพราะหากปล่อยไว้เมื่อขุดข่าอาจจะไปกระทบรากยางพาราได้ จึงขุดออกทั้งหมดและย้ายไปปลูกแปลงอื่นสลับกันไป
             
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าอำเภอพระแสง ที่ กยท.รับผิดชอบดูแลมีพื้นที่ปลูกยางพาราประมาณ 900 ไร่ ปลูกข่าเหลืองแล้ว 500 ไร่และอยู่ในระหว่างการส่งเสริมอีก 400 ไร่ พื้นที่ ต.ไทรโสภา มีเกษตรกรชาวสวนยางปลูกมากที่สุด เกษตรกรขึ้นทะเบียนไว้ 30 คน ปลูกข่าเหลืองประมาณ 400 ไร่  ซึ่งทาง กยท.จะพยายามส่งเสริมให้ได้เพิ่มขึ้นปีละ 10 % ทั้งปลูกในสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน

 


              

นอกจาก กยท.สาขาพระแสงได้ส่งเสริมเกษตรกรปลูกข่าเหลืองแซมสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมันแล้ว ยังมีโครงการปลูกพืชร่วมยางเช่นพืชกระท่อมเพื่อยกระดับรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยางรายละไม่เกิน 5 ไร่ๆละ 1,400 บาท หรือ 7,000 บาท โดยคุณสมบัติต้องเป็นเกษตรกรที่มีพื้นที่ปลูกยางไม่น้อยกว่า 2 ไร่ อายุยาง 1 ปีขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรชาวสวนยางและสวนปาล์มน้ำมันให้ความสนใจบางส่วนแล้ว.

หน้าแรก » ภูมิภาค