วันพุธ ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 13:35 น.

ภูมิภาค

ระทึก!ล้วงรัง “ต่อหัวเสือ” อาชีพเสี่ยงตาย ขึ้นโต๊ะเปิบพิสดาร!สร้างรายได้งาม

วันอาทิตย์ ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2565, 18.11 น.

วันที่ 11 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวได้รายงานจากจังหวัดนครพนม ในช่วงนี้ถือว่าเป็นโอกาสทองของชาวบ้านในพื้นที่ อ.ปลาปาก,อ.นาแก และ อ.วังยาง ที่มีอาชีพสุดเสี่ยงในการเลี้ยงต่อหัวเสือ เพื่อสร้างรายได้ แต่ถือเป็นอาชีพจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่มีการสืบทอดจากอดีตจวบถึงปัจจุบัน และยังเป็นอาชีพเสี่ยงตายที่สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ เฉลี่ยปีละนับแสนบาทต่อครอบครัว เพราะเป็นเมนูหายาก และเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะสายเปิบพิสดาร นำขึ้นโต๊ะเป็นเมนูเด็ดอีสาน อาทิ ก้อยลูกต่อ,แกงตัวต่อ,หมกตัวต่อ,ยำลูกต่อหัวเสือ และอีกสารพัดเมนู ยิ่งช่วงไหนหายาก โดยห้วงอากาศแล้ง จะส่งผลให้รังต่อหายาก จึงมีราคาถีบตัวสูงขึ้น ปีนี้ตกราคากิโลกรัมละประมาณ 2,000 บาท

 


โดยชาวบ้านจะเริ่มเลี้ยงตัวต่อหัวเสือตอนต้นฤดูฝน คือราวเดือน มิถุนายนของทุกปี ใช้วิธีปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาติประมาณ 3-4 เดือน จะสามารถเก็บผลผลิตออกสู่ท้องตลาด นำมาปรุงเป็นเมนูเด็ด ซึ่งตัวต่อหัวเสือจะให้ผลผลิตมากสุดราวหลังออกพรรษา ปีนี้ก็ประมาณเดือนตุลาคม และเป็นช่วงสุดท้ายในการเก็บผลผลิต ผู้เลี้ยงบางรายสามารถสร้างรายได้ปีละนับแสนบาท


ทั้งนี้ชาวบ้านอาชีพเสี่ยงต่อเลี้ยงต่อหัวเสือ ให้มีการพัฒนาต่อยอดจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่เก็บผลผลิต จากเดิมใช้วิธีการเผารังต่อ แต่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จึงได้คิดค้นประดิษฐ์ชุดล้วงรังต่อ ที่มีความปลอดภัยสูง ในการล้วงรังต่อ เพื่อลดการสูญพันธุ์แทนการเผาด้วยไฟหรือรมควัน ทำให้สามารถเก็บผลผลิตเพิ่มขึ้นได้รังละ 2-3 รอบ

 


โดยผลผลิตตัวต่อนอกจากจะขายแม่ตัวต่อและลูกต่อหัวเสือ ยังสามารถขายต่อยกทั้งรัง เพราะมีบางคนมีความเชื่อ ไปทำเป็นเครื่องรางของขลัง นำไปประดับแขวนไว้หน้าบ้าน ร้านค้า ร้านอาหาร เชื่อกันว่าเป็นการต่อเงิน ต่อทอง ต่อยอดลูกค้า โดยขายได้ถึงรังละ 3,000-5,000 บาท แล้วแต่รูปแบบความสวยงามของรังต่อ


ด้าน นายบัญชา ศรีชาหลวง นายก อบต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม เปิดเผยว่า พื้นที่ ต.พิมานถือเป็นอีกหมู่บ้านที่ตนและชาวบ้าน ได้นำอาชีพภูมิปัญญาชาวบ้าน มาพัฒนาต่อยอด ส่งเสริมการเลี้ยงต่อหัวเสือสร้างรายได้เสริมในช่วงฤดูฝน และนำผลผลิตลูกต่อส่งขายในช่วงใกล้งานประเพณีออกพรรษา ราวเดือนกันยายน-ตุลาคม เป็นฤดูกาลที่ต่อให้ผลลิตมากสุด ถือเป็นอาชีพภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่สร้างรายได้ดีเป็นอย่างมาก ปัจจุบันมีราคาตกกิโลกรัมละ 2,000 บาท ปีไหนหายากยิ่งมีราคาแพง

 

 

 


 

ซึ่งชาวบ้านจะใช้ความชำนาญ ในการล่าตัวหัวเสือตามป่าทุ่งไร่ทุ่งนาที่ทำรังตามธรรมชาติ ด้วยการนำเหยื่อประเภท เนื้อสัตว์ แมลงไปล่อ แล้วตามไปหารังต่อ ก่อนเคลื่อนย้ายมารักษาไว้ตามหัวไร่ปลายนาในที่ปลอดภัย ใช้เวลาเลี้ยงแบบธรรมชาติ ประมาณ 4-5 เดือน ก่อนเก็บผลลิตขาย เดิมใช้วิธีรมควัน แต่พัฒนาคิดค้นชุดล้วงรังต่อ เพื่อป้องกันต่อสูญพันธุ์ และเก็บผลผลิตได้หลายครั้ง บางรังสามารถเก็บผลผลิตได้ 2-3  ครั้ง หากรมควันจะได้เพียงครั้งเดียว บางรายสามารถหารังต่อได้เยอะ ก็สร้างรายได้ 50,000-1 แสนบาทต่อปี

 

 

 


ส่วนเมนูเด็ดชาวบ้าน จะนำไปปรุงเป็นก้อยลูกต่อ คั่วต่อหัวเสือ หมกต่อ แกงต่อ ยำลูกต่อ สารพัดเมนู ถือเป็นเมนูเด็ดที่หากินยาก 1 ปีมีครั้งเดียว จึงทำให้มีราคาแพง นอกจากนี้ลูกค้าบางรายมีการสั่งซื้อยกรัง เพื่อนำรังที่แม่ต่อทิ้งรังร้าง ไปทำเป็นเครื่องรางของขลังตามความเชื่อ ขายได้ราคาสูงตกรังละ 3,000-5,000 บาท ส่วนการดูแลจะต้องมีความชำนาญ และต้องเลี้ยงในที่ปลอดภัย เพราะต่อหัวเสือถือเป็นแมลงที่มีพิษร้ายแรง หากถูกรุมต่อยจำนวนมากอาจอันตรายถึงชีวิต จึงต้องมีความชำนาญในการเลี้ยงดูแล ผู้คิดจะเลี้ยงต้องศึกษาวิธีให้ดีก่อน

หน้าแรก » ภูมิภาค