วันพุธ ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 12:59 น.

ภูมิภาค

ลูกพ่อหลวงแม้น เผยความเป็นมา “วัดเขาเจดีย์วิสัยไตรรัตนาราม”

วันอังคาร ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565, 18.49 น.

ลูกพ่อหลวงแม้น เผย ความเป็นมา จากกระแส วัดเขาเจดีย์วิสัยไตรรัตนาราม ร้างพร้อมชาวบ้าน-หน่วยงานรัฐเกือบพันคนเร่งพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนและสถานที่ปฏิบัติธรรม เผยไม่พร้อมให้พระสงฆ์เข้าพำนัก

 


    
จากกระแสดราม่ากรณีพบวัดร้าง ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ พบอยู่ใน “เขตพื้นที่ป่าชุมชน หมู่ 1 ตำบลวิสัยเหนือ ห่างจากถนนเอเชีย 41 เพียงเล็กน้อย บนเนื้อที่ 93 ไร่ ห้ามมิให้ผู้ใดตัดไม้ทำลายป่า และทำสิ่งปลูกสร้างต่างๆโดยเด็ดขาด นอกจากได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการชุมชน”
    
จากการสำรวจก่อนหน้านี้พบว่าทางขึ้นไปมีซุ้มประตู ระบุชื่อ “วัดเขาเจดีย์วิสัยไตรรัตนาราม”ทราบภายหลังว่าเป็นเพียงที่พักสงฆ์ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นวัดอย่างที่เข้าใจในเบื้องต้น เดินเข้าไปพบพระพุทธรูปองค์ใหญ่ปางปฐมเทศนา ขนาดหน้าติด 2 เมตร ประดิษฐานอยู่บนฐานดอกบัว อยู่ใกล้กับเจดีย์ทรงระฆังฐานทรงกลมเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 4-5 เมตร ที่ประตูเจดีย์มีป้ายระบุว่า “ธรรมเจดีย์ มะ 8 พ่อหลวงแม้นโชติปาโล สร้าง พ.ศ.2517 ” ภายในเจดีย์มีช่องเก็บพระแก้วมรกตสีเขียวหยก จำนวนมาก ซึ่งมีฝุ่นตะกอนและยักใยเกาะจับ

 


ถัดไปพบกุฏิสร้างด้วยปูน และกุฏิไม้อีก 3 หลัง แต่ละหลังสภาพเก่าผุพังทรุดโทรม หน้ากุฏิไม้และมีเก้าอี้ม้าหินอ่อน ระบุปี พ.ศ. 2514 มีศาลาที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปสีทองปางมารวิชัย และสิ่งก่อสร้างอีกหลากหลาย ซึ่งปกคลุมด้วยต้นไม้และเถาวัลย์ หลังจากที่เป็นข่าวทางสื่อกันอย่างแพร่หลาย
 
ล่าสุดเมื่อเช้าวันที่ 22 พ.ย.นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าฯจ.ชุมพร นำเหล่าข้าราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน พี่น้องประชาชนในและต่างพื้นที่ร่วมปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณที่พักสงฆ์ พร้อมทั้งนำดอกไม้ธูปเทียนถวายกราบไหว้บูชาองค์พระพุทธรูปและองค์เจดีย์ โดยพุทธศาสนิกชนส่วนหนึ่งเดินพนมมือเวียนรอบองค์เจดีย์ด้วย
 
ต่อมาผู้สื่อข่าวสอบถามจนทราบว่า มีทายาทของพ่อหลวงแม้น และเป็นผู้ที่สร้างเจดีย์ ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ จึงเดินทางไปพบ ทราบชื่อคือ คุณลุงพูนผล แจ้งสว่าง อายุ 78 ปี กำลังนั่งพักผ่อนอยู่ที่ศาลาข้างบ้าน ซึ่งบ้านคุณลุง อยู่ห่างจากวัดพระใหญ่ ไม่ถึง 1 กม. ผู้สื่อข่าว จึงได้แสดงตนและขอทราบว่าเป็นมาของวัด

 


โดยคุณลุงพูนผล ยิ้มด้วยใบหน้าเป็นใจบุญ พร้อมเล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งที่ตนยังเป็นวัยหนุ่ม อายุประมาณ 30 ปี ก็เห็นแล้วว่ามีที่พักสงฆ์ บริเวณพระใหญ่ อยู่แล้ว และเคยไปที่พักสงฆ์กับพ่อ คือ พ่อหลวงแม้น ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้บวช เพื่อไปทำบุญ โดยมี พระอาจารย์วรรธี ซึ่งรู้เพียงว่า เป็นพระทางภาคเหนือ ได้มาริเริ่มสร้างที่พักสงฆ์ ตรงนี้ขึ้น ส่วน ปีไหนไม่ทราบแน่ชัด คาดว่า อยู่ในช่วงประมาณ พ.ศ.2511-2513 ท่านเป็นพระสายปฏิบัติ และออกเดินบิณฑบาตตลอดทุกวัน เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้านเป็นอย่างมาก
 
ลุงพูนผล เล่าต่อว่า มีอยู่ครั้งหนึ่ง ที่ชาวบ้าน ต่างพูดต่อๆกันมา ว่า พระอาจารย์วรรธี ท่านเดินกลับจากบิณฑบาต ระหว่างทาง เท้าไปสะดุดก้อนหินเข้า ทำให้เป็นแผลใหญ่เอาการ จนมีเลือดไหลพุ่ง แต่ท่านไม่ได้หยุดหรือแสดงอาการเจ็บแต่อย่างใด ท่านคงเดินต่อไป จนถึงกุฏิของท่าน ทำให้ชาวบ้านหลายคนยกยอท่านเป็นพระที่สำรวม น่าเลื่อมใสและศรัทธามาก

 


 “ด้วยความศรัทธา จึงทำให้พ่อของตน อยากจะบวชเรียน เพื่อไปรับใช้ท่าน จึงได้บอกแม่และลูกๆว่าจะไปบวช ขอเป็นลูกศิษย์พระอาจารย์วรรธี และจะไปปฏิบัติธรรมตามแนวทางตามท่าน ซึ่งทางบ้านก็ไม่ทักท้วง ซึ่งพ่อได้บวชเมื่อปี 2516 ก็สืบทอดแนวธรรมะอย่างไม่ขาดตกบกพร่องแต่อย่างใด และต่อมาได้มีชาวบ้าน ซึ่งเป็นผู้หญิงมาบวชเป็นแม่ชี กันหลายคน แต่ด้วยเกรงว่าจะไม่ดีงาม พระอาจารย์วรรธี จึงไปทำกุฏิด้านบน ซึ่งเป็นสถานที่ที่เป็นข่าวอยู่ขณะนี้ โดยแยกแม่ชีให้อยู่ด้านล่าง
 
ต่อมา พระอาจารย์วรรธี ได้กลับไปภาคเหนือ คงเหลือ พ่อหลวงแม้น ผู้เป็นพ่อ เพียงรูปเดียว ที่ยังจำวัดอยู่ จนกระทั่ง ปี 2517 พ่อ ต้องการสร้างเจดีย์ สัก 1 องค์ จึงได้เรียกตนและคู่เขย นายบุญส่ง พุ่มแก้ว อายุ 80 ปี ซึ่งเสียชีวิตไปแล้วมาช่วยกันสร้าง โดย “พ่อ”ให้ดูเพียงขั้นตอนของการสร้าง แต่โชคดีที่มีเจ้าของร้านรุ่งเรืองการช่าง ซึ่งมีความรู้เรื่องโครงสร้าง มาช่วยแนะนะ ส่วนแบบของเจดีย์นั้น ทำไปคิดไปออกแบบไป

 

 

คุณลุงพูนผล เล่าต่ออีกว่า เมื่อสร้างจนเกือบเสร็จ ก็อยู่ในขั้นตอนตกแต่ง พ่อก็ได้เรียกช่างจาก ต.ครน อ.สวี จ.ชุมพร ที่มีฝีมือด้านนี้ มาช่วย จนแล้วเสร็จในที่สุด โดยใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี โดยวันเริ่มก่อสร้างเจดีย์ พ่อ ได้ใช้วันที่ 5 ธันวาคม 2517 ซึ่งเป็นวันสำคัญของคนไทย และมีคนใหญ่คนโตของจังหวัดมาเป็นประธานวางศิลาฤกษ์ด้วย และได้สร้างแท้งค์ เป็นรูปเรืออยู่ข้างเจดีย์เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้
 
ต่อมาเมื่อ ปี พ.ศ.2537 พ่อหลวงแม้น พ่อ สุขภาพไม่ค่อยดี และไม่อยากลูก เมียเป็นภาระต้องทำอาหารนำไปถวายทุกวัน จึงสึกออกมาเพื่อพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ซึ่งพ่ออยู่ได้เพียง 1 ปีเศษ ก็เสียชีวิตลง ส่วนที่วัดนั้น หลังจากที่พ่อเสีย ก็จะขึ้นไปวัดไม่บ่อยเช่นก่อน และเมื่อขึ้นอีกครั้ง ก็พบว่ามีพระและแม่ชี มาอยู่ ที่กุฏิไม้หลัง ที่ พ่อจำวัดแล้ว ส่วนจะมาจากไหนนั้น ไม่ชัดเจน แต่ชาวบ้านจะเรียกว่า พระซาเล้ง เพราะตอนมานั้น มีรถ จยย.พ่วงข้าง มาด้วย

 


 ตลอดที่พระเมธา อยู่ก็ได้ปั้นรูปต่างๆทั้งเสือ ม้าลาย พระแม่ธรณี และสร้างกุฏิคล้ายที่ทำการ เป็นกุฏิปูน สองห้องซ้ายขวา ตรงกลางเป็นห้องโถง และได้อยู่คนละห้องกับแม่ชี ซึ่งด้วยความไม่เหมาะสม ประกอบหลายๆอย่าง ไม่ว่า ทั้งสองหุงหาอาหารเอง และยิ่งหนัก พระเมธา ยังไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ทำให้ชาวบ้านทนไม่ไหว ได้ขับไล่ไปในที่สุด และตั้งแต่นั้นมา ก็ไม่มีพระมาจำวัด ชาวบ้านก็ไม่ได้ขึ้นไปพัฒนาเหมือนแต่ก่อน ที่จะร่วมกันทำทุกปี จนรกร้างมาถึงปัจจุบันนี้

 

 

 ด้านนายวิรัช เพชรรณ อายุ 51 ปี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 ตำบลวิสัยเหนือ (ผู้ใหญ่ในพื้นที่) เปิดเผยว่า “ได้ประชุมคณะกรรมการชุมชนหมู่บ้านวางแผนให้พื้นที่ดังกล่าวพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว หลังจากนี้จะเปิดบัญชีธนาคารเพื่อรองรับผู้มีจิตศรัทธาร่วมสมทบทุนไว้บูรณะ ด้านคณะกรรมการชุมชนและป่าไม้จังหวัด มีความเห็นชอบว่าต่อจากนี้จะไม่อนุญาติให้พระสงฆ์เข้ามาพำนักอยู่ในพื้นที่โซนองค์พระเจดีย์ แต่อนุญาติให้ใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมได้และเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษาประชาชนทั่วไป ทั้งนี้มีเขตพื้นที่สำหรับที่พำนักสงฆ์ไว้แล้วคือโซนใกล้องค์พระใหญ่ ในเขตพื้นที่ป่าชุมชนทั้งหมดประมาณ 93 ไร่” ผู้ใหญ่บ้านเผย

 

 

 

หน้าแรก » ภูมิภาค