วันศุกร์ ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 01:21 น.

ภูมิภาค

ชาวตราดพบ "ศักดิสยาม" ขอสร้างสะพานข้ามเกาะช้าง-ถนนรอบเกาะ พัฒนาท่องเที่ยวสู่อินเตอร์

วันเสาร์ ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2566, 14.18 น.
เวลา 16.00 น.วันที่ 19 มกราคม 2566 ที่ห้องประชุมบุษฉัตรสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ กรุงเทพ ชาวตราดกว่า 30 คน นำโดยนายสมเกียรติสมรรถการนายกสมาคมอนุรักษ์ธรรมชาติและพิทักษ์สิ่งแวดล้อมตราด /ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตราดนายธนัท โสวนะปรีชา ประธานหอการค้าจังหวัดตราด ,นายธรา วัฒนวินินประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตราด,นายวิชิต สุกระสูยานนท์ ,นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดตราดกำนันสมคิด สายสังข์นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้าน จังหวัดตราด,นายวศิน พงษ์ศิริ ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตราด,นายยุทธศักดิ์ รัตนพงษ์ อุปนายกสมาคมโรงแรมและรีสอร์ท จังหวัดตราด,นายกำพล เจริญขจรกุลอุปนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวธุรกิจจังหวัดตราด พร้อมคณะกว่า 30 คน เข้าพบนายศักดิ์สยาม ชิดชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่มีนายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท นายประดิษฐ์ ดีทองอ่อน ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบทจ.ตราด และเจ้าหน้าระดับหัวหน้าส่วนร่วมประชุมในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดตราด ประกอบไปด้วย 1. การสร้างสะพานข้ามเกาะช้าง จังหวัดตราด ระยะทาง 6-8 กม.2.การก่อสร้างทางเชื่อมต่อถนนรอบเกาะช้าง จังหวัดตราด ระยะทาง 11 กม. 3. ถนนเฉลิมบูรพาชลทิต ช่วงจันทบุรี- ตราดซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดตราด ที่ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเกือบ 2 ล้านคน/ปี และสร้างรายได้เข้าจังหวัดตราดมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท/ปี 
 
นายสมเกียรติ กล่าวว่า การที่ชาวตราดที่นำโดยประธานหอการค้าจ.ตราดประธานสภาอุตสาหกรรมจ.ตราด อุปนายกสมาคมโรงแรมรีสอร์ทจ.ตราด,อุปนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจ.ตราด นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านจ.ตราด และอีกหลายหน่วยงานในพื้นที่ทั้งอำเภอเกาะช้างและบนฝั่งจังหวัดเดินทางมาพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมครั้งนี้ ต้องการมาเสนอความต้องการของประชาชนชาวตราดในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดตราด ใน 3 ประเด็นที่ได้มีการนำเสนอให้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งผ่านขั้นตอนในระดับจังหวัดและระดับกรมมาแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการก่อสร้างสะพานข้ามเกาะช้างที่มีความจำเป็นกับประชาชนในอำเภอเกาะช้างผู้ประกอบการทั้งการท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง และนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาอำเภอเกาะช้าง ซึ่งได้ผ่านการทำประชาคมในพื้นที่จังหวัดตราดมาแล้ว 2 ครั้งและทั้งสองครั้งประชาชนเห็นด้วยอย่างเป็นเอกฉันท์  ซี่งการเดินทางมาครั้งนี้ นอกเหนือจากมานำเสนอความต้องการของชาวตราดแล้ว ยังมานำเสนอปัญหาต่างๆที่เป็นอุปสรรคทางการท่องเที่ยว และคุณภาพชีวิตของชาวเกาะช้าง 
 
“ปัจจุบันการเดินทางเข้าเกาะช้างต้องใช้การเดินทางโดยใช้เรือเฟอร์รี่นำรถยนต์และนักท่องเที่ยวไปยังเกาะช้างมและเกิดปัญหาต้องรอลงเรือเฟอร์รี่นานถึง 2-3 ชั่วโมงโดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาวและเทศกาลสำคัญ รวมทั้งวันเสาร์และอาทิตย์ อีกทั้งในวันธรรมดาช่วงเช้าก็ยังต้องรอคอยนานเช่นกัน ซึ่งจะเป็นเช่นนี้ทั้งขาไปและกลับ การสร้างสะพานข้ามเกาะช้างจึงเป็นสิ่งที่ทำให้แก้ปัญหานี้ได้ ขณะเดียวกันหากมีการสร้างสะพานจะส่งผลดีต่อชาวเกาะช้างทั้งในเรื่องการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการเข้ามารักษาพยาบาลในตัวเมืองตราดและการที่ลูกหลานสามารถเข้ามาเรียนหนังสือในตัวเมืองตราดได้สะดวกสบายมากขึ้น ซึ่งชาวตราดและชาวเกาะช้างจะได้มีทางเลือกมากขึ้นว่าเมื่อมีสะพานข้ามเกาะช้างแล้วจะสามารถตัดสินใจและวางแผนการเดินทางมาเกาะช้างเมื่อไรก็ได้ ส่วนปัญหาการคับคั่งทางจราจรแม้จะมีแต่ก็น่าจะสามารถแก้ไขได้ง่ายกว่าไม่มี ทั้งนี้ โครงการทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นจากภาคเอกชนที่ริเริ่มขึ้นมาจนถึงวันนี้ ขณะที่การบ้านที่เราจะต้องทำต่อไปก็คือมการรับฟังปัญหาต่างๆเพิ่มขึ้นเพื่อเคลียรอุปสรรคทุกอย่างให้จบสิ้น ซึ่งทางกระทรวงพร้อมจะสนับสนุนและดำเนินการต่อไป คาดว่าน่าจะดำเนินการแล้วเสร็จและใช้ได้ในปี 2570”
 
ทางด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบให้สัมภาษณ์หลังจบการประชุมว่า เรื่องที่ทางภาคเอกชนของจังหวัดตราดเสนอมามันเป็นความต้องการของพี่น้องประชาชนไม่ใช่เฉพาะที่ตราด แต่ในทุกจังหวัดที่เป็นเรื่องของความต้องการของประชาชนหากได้มีการทำความเข้าใจและแก้ปัญหาในพื้นที่ได้ กระทรวงคมนาคมในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการก็พร้อมที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชนซึ่งสะพานข้ามเกาะช้างที่ชาว เกาะช้างต้องการนั้น  มีระยะการก่อสร้าง 6-8  กิโลเมตร ขึ้นอยู่กับว่าจะสร้างในแนวทางไหน  ส่วนถนนรอบเกาะช้างที่มีระยะ 11 กิโลเมตร  ได้เห็นมิติของชาวตราดที่เป็นผู้ริเริ่มและรับว่าจะไปดำเนินการแก้ปัญหาในพื้นที่ และทำความเข้าใจ ร่วมกับทางราชการนับว่าเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งกระทรวงคมนาคมที่ตนเองเป็นรัฐมนตรี ต้องการทำให้ประชาชนได้ประโยชน์จากการก่อสร้างเพราะเกาะช้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยแต่การจะเข้าไปพัฒนาต้องดูเรื่องของสิ่งแวดล้อม  และการอนุรักษ์ฟื้นฟู ซึ่งเรื่องนี้ทางคณะที่มาต้องเข้าไปร่วมกับกระทรวงคมนาคมศึกษาและบอกกับชาวตราดให้เข้าใจก็จะสามารถดำเนินการได้ตามผลการศึกษาและหากสามารถดำเนินการตามขั้นตอนที่ได้มีการเสนอและได้มีการประชุมในครั้งนี้ จะได้เห็นว่าในปี2567-2568 จะเห็นการอนุมัติโครงการก่อสร้างสะพานข้ามเกาะช้างได้ตามที่ชาวตราดต้องการ
 
“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  กล่าวอีกว่า  ขั้นตอนต่อไปนับจากนี้ได้สั่งการให้อธิบดีกรมทางหลวงชนบท นำงบประมาณเหลือจ่ายจำนวน 30  ล้านไปศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างสะพานข้ามเกาะช้างต่อไป ส่วนจะเป็นจุดไหน ขึ้นอยู่กับประชาชนชาวตราด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งจนไม่สามารถสร้างได้ สำหรับถนนรอบเกาะช้างนั้น  ขณะนี้ทราบว่าอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมอยู่ และถนนเรียบชายทะเลสายเฉลิมบูรพาชลทิศ  ช่วงจันทบุรีถึง จังหวัดตราด ต้องให้คณะทั้งหมดที่เดินทางมาครั้งนี้สร้างความรับรู้และประสานงานกับพื้นที่ในจังหวัดจันทบุรี เนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างเป็นพื้นที่ป่าชายเลนจึงต้องหาข้อสรุปให้แล้วเสร็จ  ทั้งนี้   การศึกษาความเป็นไปได้ของการก่อสร้างสะพานข้ามเกาะช้างนั้นจะสามารถดำเนินการได้ในปี 2566 นี้แน่นอน  อย่างไรก็ตามยังมีข้อกังวลว่าวาระการดำรงตำแหน่งของรัฐบาลอยู่เพียงไม่นาน  แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นปัญหาเพราะแม้รัฐบาลจะหมดวาระ ตนเองก็ยังเป็น รมต.รักษาการอีก 6  เดือนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่  ซึ่งรัฐมนตรีรักษาการสามารถสั่งการอธิบดีได้  เนื่องจากมีการดำเนินโครงการมาก่อนที่รัฐบาลหมดวาระ”
 
“สำหรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดตราด เช่น  การทำรถไฟฟ้าความเร็วสูง  การสร้างถนนมอเตอร์เวย์จาก จ.ระยอง  มายัง จ.ตราด  หรือรถไฟรางคู่นั้นเป็นกรอบแผนพัฒนาด้านเครือข่ายคมนาคมของรัฐบาล อยู่แล้ว แต่ทั้งหมดขอเรียนว่ารัฐบาลเองก็มีข้อจำกัดงบประมาณก่อสร้างเช่นกัน  และการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานใด ๆ  ใน ปัจจุบัน  ต้องมองในเรื่องของความคุ้มค่าเชิงพาณิชย์เป็นหลัก  เพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะส่งผลกระทบกับประชาชน  และเป็นภาระของประชาชนที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือค่าโดยสารที่สูงขึ้น”  นายศักดิ์สยาม  กล่าวในที่สุด

หน้าแรก » ภูมิภาค