วันอาทิตย์ ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 14:42 น.

ภูมิภาค

ไปกราบไหว้ พญานาคฉัพยาปุตตะ-พระบรมสารีริกธาตุ ชมพระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์หนึ่งเดียวในอีสาน

วันจันทร์ ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566, 21.07 น.

จังหวัดอุบลราชธานี เป็นเมืองเก่าแก่ และเป็น เมืองต้นรากในการเผยแผ่พุทธศาสนา มาช้านาน มีการสืบสานอารยธรรมหลายยุคหลายสมัย จะเห็นได้ว่าความเรืองรองของพระพุทธศาสนา ยังคงอยู่คู่เมืองอุบลฯไม่เสื่อมคลาย ตราบเท่าทุกวันนี้ ดังปรากฏให้เห็นในวัดวาอารามต่างๆของเมืองอุบลฯ ทั้งวัดในเมืองและวัดป่าที่สงบเงียบ ห้อมล้อมไปด้วยบรรยากาศแห่งธรรมและธรรมชาติที่สวยงาม และวันนี้ผู้สื่อข่าวของเรา จะพาท่านผู้อ่านไปสัมผัสรสพระธรรมและกลิ่นอายวัฒนธรรมอันล้ำค่า พร้อมกราบไหว้ พระบรมสารีริกธาตุ ณ วัดพระธาตุหนองบัว จ.อุบลราชธานี

 


                

วัดพระธาตุหนองบัว เดิมชื่อ วัดหนองบัว  เป็นวัดราษฎร์ นิกายธรรมยุต ตั้งอยู่ที่ ถนนธรรมวิถี (อยู่ทิศตะวันตกตลาดสดเทศบาล 3 หรือตลาดสดหนองบัว) ตำบลในเมือง อำเภอในเมือง จังหวัดอุบลราชธานี สร้างเมื่อปี พ.ศ.2498 มีเนื้อที่ 30 ไร่ โดยมีนายฟอง สิทธิธรรม เป็นผู้บริจาคที่ดินถวายเพื่อสร้างวัด  เป็นวัดสำคัญอีกวัดหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี ภายในวัดมีสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ คือ พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ครบรอบ 25 ศตวรรษ ของพุทธศาสนาในปี พ.ศ. 2500 โดยได้จำลองแบบมาจากเจดีย์ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย มีฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างด้านละ 17 เมตร สูง 56 เมตร เป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ รอบองค์พระธาตุเป็นกำแพงแก้วซึ่งทั้งสี่มุมของกำแพงแก้วได้ประดิษฐานพระเจดีย์ขนาดเล็กอีก 4 องค์ ภายในองค์พระธาตุมีประตูทางเข้าทั้ง 4 ด้าน นับเป็นวัดเดียวในภาคอีสานที่มีเจดีย์แบบนี้ สภาพแวดล้อมโดยทั่วไปภายในวัดจะเป็นป่าโปร่งร่มรื่นลมพัดเย็นสบายทั้งวัน
              

ในการสร้างฐานพระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ ที่วัดพระธาตุหนองบัว ได้อัญเชิญชิ้นส่วนของพระธาตุพนมซึ่งถือว่าเป็นเสมือนหนึ่งบรมครูของพระธาตุทั้งปวงในภาคอีสานบรรจุลงศูนย์กลาง และภายในองค์พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ มีประตูทางเข้าทั้งสี่ด้าน ซึ่งพระบรมธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์องค์ใหญ่ที่เห็นในปัจจุบัน สร้างครอบองค์เดิม โดยฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 17 เมตร สูง 56 เมตร สร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อปี พศ. 2512 ด้านหลังของพระบรมธาตุ เป็นที่ตั้งของศาลาการเปรียญ ซึ่งใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามประเพณี และจะมีกุฏิสำหรับพระภิกษุอยู่ด้านหลังล้อมรอบไปด้วยธรรมชาติที่เป็นป่าโปร่ง  ส่วนกุฏิของแม่ชี จะแยกพื้นที่ไปอยู่นอกวัดทางด้านทิศใต้ติดกับหนองน้ำสาธารณะ(ปัจจุบันเป็นสวนสาธารณะสำหรับเป็นที่พักผ่อนและออกกำลังกายของประชาชน


             


สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ทรงมีความปิติยินดีกับความสามัคคีของชาวเมืองอุบลฯ ในการสร้างพระธาตุไว้สักการะบูชาอย่างยิ่ง จึงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากกรุงเทพมหานคร โดยการเดินทางด้วยขบวนรถไฟ ถึงวัดหนองบัว ในวันที่ 20 มีนาคม 2502 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีในสมัยนั้นร่วมขบวนด้วย และในวันที่ 21 มีนาคม 2502 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เป็นผู้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐ์ฐานยังองค์พระบรมธาตุ ซึ่งถือเป็นวันมหามงคลยิ่งของพี่น้องประชาชนชาวอุบลฯ ที่พระบรมสารีริกธาตุ ได้บรรจุในพระธาตุอย่างสมบูรณ์
              

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2530 ทางทายกทายิกา ได้ไปกราบอาราธนาขอพระครูกิติวัณโณบล ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี มาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุหนองบัว และได้ปรึกษาหารือกับคณะสงฆ์และทายกทายิกา พ่อค้า ประชาชนเพื่อจัดทำฉัตรทองคำที่ยอดพระบรมธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ ซึ่งทุกฝ่ายต่างก็เห็นเห็นชอบด้วยกัน  จากนั้นจึงได้ดำเนินการหล่อฉัตร 5 ชั้นขึ้น ลงรักปิดทอง ส่วนสนยอดฉัตรที่เป็นรูปดอกบัวตูมนั้น เป็นเนื้อทองคำแท้หนัก 31 บาท ตาม พ.ศ.ที่จะยก (ยกฉัตรในปี พ.ศ.2531) และเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระชนม์มายุครบ 5 รอบ

 


             

และเพื่อเป็นศิริมงคลแก่พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดอุบลราชธานี เรือตรีดนัย เกตุศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ในสมัยนั้น พร้อมด้วย คณะสงฆ์และทายกทายิกา พ่อค้า ประชาชน และข้าราชการ จึงได้ดำเนินการจัดการงานนมัสการพระบรมธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ขึ้น พร้อมกับยกฉัตรทองคำ พระบรมธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ ขึ้นในวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2531 โดยมี พระเดชพระคุณเจ้าคุณพระพรหมมณี พร้อมด้วยคณะสงฆ์จังหวัดอุบลฯ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และนายไชยศิริ เรืองกาญจนเศรษฐ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น เป็นประธานฝ่ายฆราวาส  
                  


นอกจากนี้ ชาวบ้านในเขตชุมชนวัดพระธาตุหนองบัว ยังมีชื่อเสียงในด้านการทำต้นเทียนประเภทแกะสลักขนาดใหญ่อีกด้วย โดยใช้สถานที่ภายในวัดเป็นจุดทำต้นเทียน โดยมีเจ้าอาวาสวัด คอยกำกับดูแล และอำนวยความสะดวกแก่ทีมงานช่าง ซึ่งการตกแต่งต้นเทียนของชาวชุมชนวัดพระธาตุหนองบัวนี้มีชื่อเสียงมาก โดยในแต่ละปีทางวัดพระธาตุหนองบัวและชาวบ้าน ได้จัดทำต้นเทียนประเภทแกะสลัก ขนาดใหญ่ ส่ง เข้าประกวดในงานแห่เทียนเข้าพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี ทุกปี และได้รับรางวัลชนะเลิศบ่อยมาก  และในแต่ละปีพอใกล้ถึงเทศกาลงานแห่เทียน ทางวัดจะจัดทำต้นเทียนเพื่อส่งเข้าประกวด ช่วงนี้เองจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ได้พากันเที่ยวชมช่างแกะสลักต้นเทียนกันเป็นจำนวนมาก และช่วงดังกล่าวทางวัดยังเปิดโอกาสให้ชาวบ้าน นักเรียน นักศึกษา ได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติการทำต้นเทียน แกะสลักต้นเทียน โดยจะมีปราชญ์ท้องถิ่นที่ทางวัดจัดเอาไว้คอยให้ความรู้และสอนภาคฏิบัติให้ด้วย
 


ปัจจุบัน  บริเวณด้านหน้าองค์พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ ภายในวัดพระธาตุหนองบัว มีรูปปั้น “พญานาคฉัพยาปุตตะ” หรือพญานาคสีรุ้ง ขนาดสูงใหญ่ จำนวน 2 องค์ อยู่คู่กัน คือ ท่านปู่กริชกรกต และท่านย่ามณีเกตุ  (ทำพิธีบวงสรวงเมื่อวันที่ 11พ.ย.62)  ซึ่งก่อนที่จะมีการสร้างหรือปั้นรูปพญานาคขึ้น  พระครูอมรธรรมสโรชร เจ้าอาวาสวัดพระธาตุหนองบัว รูปปัจจุบัน ได้อธิษฐานจิต ก่อนที่มาเป็นเจ้าอาวาสวัดพราตุหนองบัว ว่า ถ้ามีบุญบารมี มีวาสนา จะได้เป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุหนองบัว ก็ขอให้มีปาฏิหาริย์ หรือสิ่งลี้ลับปรากฏให้เห็นด้วย จากนั้น ท่านได้ฝันเห็นพญางูสีรุ้งสวยงามขนาดใหญ่  มาอาศัยอยู่ภายในวัด ต่อมาท่านก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดพระธาตุหนองบัว จึงได้มีการสร้างรูปปั้นพญานาคขนาดใหญ่ สูง 15 เมตร ยาว 58.85 เมตร ขึ้นที่ด้านหน้าพระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์  ซึ่งเป็นพญานาค สีรุ้ง สวยงามมากและ เป็นพญานาคตระกูลฉัพพยาปุตตะ มีผิวกายหรือเกล็ดหลากสีเป็นสีรุ้ง อาศัยอยู่ในนครบาดาลหรือป่าลึก และเป็นพญานาคที่มีความสวยงามมากเพราะมีเกล็ดหลากสี สวยเหมือนสีรุ้ง และยังมีอิทธิฤทธิ์มาก อีกด้วย

 


                

วัดพระธาตุหนองบัว นอกจากจะมีพระบรมสารีริกธาตุ และ “พญานาคฉัพยาปุตตะ” ให้กราบไหว้แล้ว ยังเป็นแหล่งรวมรสพระธรรมและกลิ่นอายวัฒนธรรมอันล้ำค่า มีป่าที่อุดมสมบูรณ์ เงียบสงบ เหมาะแก่การปฏิบัติธรรมยิ่งนัก และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะพระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ ที่ตั้งตระหง่านอยู่ลานวัด เป็นพระธาตุหนึ่งเดียวในภาคอีสานที่ถอดแบบมาจากเจดีย์ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย  หากท่านใดได้ไปสัมผัสด้วยสายตาตัวเองแล้ว จะมีความรู้สึกเหมือนกับว่า ได้ยืนอยู่ที่เจดีย์ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย เลยทีเดียว นักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบในรสพระธรรม เมื่อผ่านไปทางเมืองอุบลฯ อย่าลืมแวะยลมนต์เสน่ห์ของวัดพระธาตุหนองบัวกันสักครั้ง แล้วท่านจะประทับใจไปอีกนานแสนนาน

หน้าแรก » ภูมิภาค