วันพฤหัสบดี ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 12:24 น.

ภูมิภาค

ชาวบ้านร้องนายทุน ตั้งจุดรับซื้อแมงกระพรุน หมักสารเคมี ริมชายหาด ส่งกลิ่นเหม็น แถมปล่อยน้ำปนเปื้อนสารเคมีลงทะเล

วันเสาร์ ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2566, 11.47 น.

วันที่ 23 ธ.ค.66 ผู้สื่อข่าวลงตรวจสอบในพื้นที่หมู่ 3 บ้านท่าเลน ตำบลเขาทอง อำเภอเมืองกระบี่  หลังได้รับการร้องเรียน จากผู้ประกอบการ พายเรือคายัค และ ร้านอาหารบริเวณดังกล่าวว่า ได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็น จากการหมักดองแมงกระพรุน  ที่เกิดจากนายทุนจากนอกพื้นที่เข้ามาตั้งเต้นท์รับซื้อแมงกะพรุน แล้วทำการหมักดองภายในบ่อที่ทำด้วยผ้าใบ ที่ทราบว่าใช้เกลือและสารเคมีอื่นๆในการหมัก 

ซึ่งน้ำหมักดองแมงกะพรุนนี้ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณ ส่งผลกระทบกับนักท่องเที่ยวที่มารับประทานอาหารและพบว่า จุดที่นายทุนตั้งเต้นท์รับซื้อแมงกะพรุน เป็นพื้นที่ส่วนบุคคล ตั้งอยู่กลางชุมชน อยู่ติดกับร้านอาหาร ที่เป็นผู้ประกอบการเรือคายัค และมีกลิ่นเหม็นเน่าลอยมาเป็นระยะๆ ด้วย โดยการหมักดองแมงกะพรุนในบ่อผ้าใบนั้น ทราบว่า จะต้องใช้เกลือและสารเคมีอื่นๆเป็นจำนวนมาก ทำการหมักทิ้งไว้หลายๆวัน  เมื่อตักแมงกระพรุนออกไปขายต่อ น้ำเสียในบ่อหมัก จะถูกเททิ้งลงสู่ชายหาด ลงสู่ทะเล โดยที่ไม่ได้บำบัด ยังส่งผลกระทบต่อ ระบบนิเวศทางทะเล 

นางสาว วนิดา  ราชานา  ผู้ประกอบการ นำเที่ยว พายเรือคายัค ในพื้นที่ เปิดเผยว่า มีผลกระทบโดยตรงในเรื่องกลิ่น  และน้ำเสียที่ถ่ายลงไปในทะเล เป็นเวลาเกือบหนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบ เช่นเวลารับประทานอาหารกลางวัน หรือช่วงเย็น ก็จะมีกลิ่นเหม็นมารบกวน นักท่องเที่ยวบางคนก็ไม่นั่งทานอาหาร โดยบอกว่านั่งไม่ไหว  ที่ผ่านมาได้ไปแจ้งทางเจ้าหน้าที่ของ อบต.แล้ว แต่ได้เขาบอกว่า มีทางเดียวคือให้ ใส่เกลือมากๆ  ซึ่งก็ได้แจ้งไปแล้ว แต่ก็ยังมีกลิ่นเหมือนเดิม  แต่ถ้าเป็นช่วงตอนที่ว่าโควิดก็ ก็ยอมๆกันไป เพราะว่าลูกค้ามันน้อยมาก ก็ทนๆเหม็นไปก็โอเค แต่ช่วงนี้มันมีลูกค้าเยอะ ลูกค้าเริ่มจะกลับมา และก็มันเป็นที่ท่องเที่ยว ก็ไม่โอเค ขอวิงวอนให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ มาช่วยดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ได้ด้วย โดยเร็ว ซึ่งเธอบอกว่าหากปล่อยไว้ อาจจะมีผลกระทบกับการท่องเที่ยวในบริเวณนี้ 

ด้านนายไพโรจน์  ดินแดง นายก อบต.เขาทอง อำเภอเมืองกระบี่ เปิดเผยว่าที่ผ่านมา ก่อนการเปิดจุดรับซื้อ ทางผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่ ในพื้นที่ได้ ทำประชาคม สอบถาม ชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ลงมติเห็นด้วย เพราะเป็นการสร้างรายได้ โดยการออกทะเลจับแมงกะพรุนมาขาย ที่บริเวณดังกล่าว ปีหนึ่งจับได้ ระยะเวลา 2-3 เดือนก็หยุด แต่มีชาวบ้าน ผู้ประกอบการบางส่วนที่ไม่เห็นด้วย เพราะได้รับผลกระทบ หลังจากนี้ อบต.จะลงพื้นที่ ทำความเข้าใจกับ ผู้ประกอบการ รับซื้อแมงกะพรุนและ ประชาชน ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้อยู่กันได้ทั่งสองฝ่าย

หน้าแรก » ภูมิภาค