วันศุกร์ ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 05:49 น.

ภูมิภาค

ไทม์ไลน์ ครม.อนุมัติเงินช่วยเหลือ ปรับปรุงเส้นทาง R12 ถนนสายเศรษฐกิจสำคัญ

วันศุกร์ ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567, 15.30 น.

สืบเนื่อง วันที่ 18 เมษายน 2567 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการให้ความช่วยเหลือ ทางการเงินแก่รัฐบาลลาว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในการปรับปรุงเส้นทางหมายเลข R 12 เมืองท่าแขก-ด่านาเพ้า แขวงคำม่วน จำนวน 1,833,747,000 บาท (หนึ่งพันแปดร้อยสามสิบสามล้านเจ็ดแสนสี่หมื่นเจ็ดพันบาทถ้วน) โดยเริ่มจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 ฝั่งเมืองท่าแขก ผ่านเมืองยมมะลาด เมืองบัวละพา ถึงด่านนาเพ้า ซึ่งเป็นจุดผ่านแดนสากล ติดกับด่านจาลอ จ.กวางบิงห์ ประเทศเวียดนาม ระยะทางประมาณ 147 กิโลเมตร

ทั้งนี้ การอนุมัติเงินให้แก่ทางการลาว นำไปปรับปรุงถนนสายดังกล่าว เกิดจากการผลักดันของกลุ่มองค์กรเอกชน คือ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครพนม และ หอการค้าจังหวัดนครพนม โดยในช่วงเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา จังหวัดนครพนมร่วมกับสภาอุตฯ และหอการค้าฯ  ได้เดินทางสำรวจเส้นทางไทย-ลาว-เวียดนาม สาย R12 สปป.ลาว  เพื่อประเมินศักยภาพทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว หลังพบอุปสรรคเส้นทางการขนส่งสินค้า ที่ส่งออกจากด่านพรมแดน จ.นครพนมไปยังเวียดนามหรือต่อไปยังประเทศจีน คือสภาพเส้นทางหมายเลข R 12 ในประเทศลาว ระยะทาง 147 กิโลเมตร ตั้งแต่เมืองท่าแขกผ่านเมืองยมมะลาด  สิ้นสุดที่ด่านจาลอของเวียดนาม มีสภาพเส้นทางชำรุดค่อนข้างมาก และไม่มีไหล่ทาง

ต่อมาในโอกาสที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะได้เดินทางตรวจราชการ และติดตามการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวันครพนม,สกลนคร และอุดรธานี ระหว่างวันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา นายจรินทร์ บุตรธิเดช ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.นครพนม  และ นายธนพัต ทีฆธนานนท์ ประธานหอการค้า จ.นครพนม ได้นำเสนอเรื่องสำคัญหลายอย่าง เช่น การจัดตั้งศูนย์บริการค้าชายแดนจุดเดียว  เบ็ดเสร็จ หรือ One-Stop Service  ที่จะทำให้สะดวกเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในการขอเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ณ ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 (นครพนม – คำม่วน) เป็นต้น

นอกจากนี้ ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ และ ประธานหอการค้า จ.นครพนม ได้เสนอปัญหาเส้นทาง R12 สปป.ลาว ถึงชายแดนประเทศเวียดนาม ระยะทางเกือบ 150 กิโลเมตร ต้องได้รับการเร่งรัดปรับปรุงเส้นทางดังกล่าว ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของ ครม. ในการสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย กับ สปป.ลาว สนับสนุนงบประมาณพัฒนา จึงต้องการให้รัฐบาลเร่งพิจารณาเงื่อนไข เพื่อความสะดวกในการขนส่งสินค้า ย่นระยะเวลาการเดินทางได้หลายชั่วโมง  อย่างไรก็ตามหากมีการจัดตั้งศูนย์บริการค้าชายแดนจุดเดียวเบ็ดเสร็จ จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยวอย่างแน่นอน คาดว่าจะส่งผลดีต่อตัวเลขเศรษฐกิจการค้าชายแดนจากแสนล้านบาท เพิ่มเป็น 2 แสนล้านบาท

ขณะเดียวกัน ดร.เดือน-มนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม/ส.ส.นครพนม เขต 2 พรรคเพื่อไทย ได้กล่าวในที่ประชุมคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2566 ที่สภาอุตสาหกรรม จ.นครพนมเป็นเจ้าภาพ เกี่ยวกับแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยว รวมถึงการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม ในพื้นที่จังหวัดชายแดนอีสาน เชื่อมโยงพื้นที่อีสานตอนบน 9 จังหวัด ที่จะเป็นการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ และกระตุ้นเศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรมทุกด้าน รวมถึงเป็นการสร้างความร่วมมือ ระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน ในการพัฒนาอุตสาหกรรมทุกด้าน ที่จะเกิดประโยชน์ ในการสร้างรายได้ในพื้นที่อีสาน  โดยเฉพาะ จ.นครพนม ถือเป็นจังหวัดที่มีจุดแข็งด้านเศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ที่กำลังเติบโต รวมถึงจะเป็นพื้นที่นำร่อง ในการสร้างความร่วมมือ ระหว่างรัฐเอกชน ในการขับเคลื่อนการพัฒนาฯ

โดยจากการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญพบว่า เส้นทาง R12 สปป.ลาว ถือเป็นถนนสายเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย เชื่อมโยงการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ระหว่างไทย ลาว เวียดนาม และจีน รวมทั้งสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประเทศภายใต้อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอีกด้วย โดยสามารถประหยัดเวลาการขนส่งและพิธีการทางศุลกากรระหว่างประเทศได้ (Transit & Customs time) จากจุดเริ่มต้น (Origin) และจุดหมาย (Destination) เดียวกันจาก 10 ชั่วโมง เหลือ 4 ชั่วโมง เนื่องจากลดขั้นตอนการผ่านด่านศุลกากรจาก 5 จุด เหลือ 2 จุด และช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นฐานการค้าการลงทุนที่สำคัญของภูมิภาคและระดับโลก รวมถึงส่งเสริมให้มีการเดินทาง และติดต่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมประเพณีระหว่างกัน ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในการดำรงชีวิตได้อย่างรวดเร็วปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้นหากปรับปรุงเส้นทาง R12 แล้ว จะสามารถเพิ่มมูลค่าการค้าชายชายแดนระหว่างไทย-ลาว ผ่านด่านศุลกากรนครพนมได้มากขึ้น โดยเกิดจากความร่วมมือของจังหวัดนครพนม และองค์กรภาคเอกชน รวมทั้ง รมช.คมนาคม ที่ติดตามและผลักดันโครงการดังกล่าว  

หน้าแรก » ภูมิภาค