วันพฤหัสบดี ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 12:35 น.

ภูมิภาค

"สมศักดิ์" เปิดโครงการนำร่อง ฉีดวัคซีนไข้เลือดออกในเด็ก 7-10 ปี พัฒนาแพทย์แผนไทย ผลักดันเป็นท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

วันอังคาร ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2568, 10.37 น.

การประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนบน 2 (นครพนม สกลนคร มุกดาหาร) ในวันที่ 29 เมษายน 68 ณ หอประชุมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยนครพนม ต.นาราชควาย อ.เมือง จ.นครพนม  โดยก่อนถึงวันประชุมระหว่างวันที่ 27-28 เมย. ได้มีรัฐมนตรีของแต่ละกระทรวงสได้ลงพื้นที่ตรวจราชการ พบปะประชาชน พร้อมรับฟังปัญหาความเดือดร้อน

โดยวันที่ 28 เมย. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ได้ติดตามการดำเนินงานดูแลระยะยาวผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care : LTC) ที่ได้รับการดูแล ณ ศูนย์ดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิง (LTC) โรงพยาบาลโพนสวรรค์ จากนั้นได้เดินทางไปยังอาคารศรีโคตรบูรณ์ มหาวิทยาลัยนครพนม ต.ขามเฒ่า อ.เมืองนครพนม เป็นประธานเปิดโครงการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (dengue virus) ในเด็กอายุระหว่าง 7-10 ปี โดยมีแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย และบุคลากรทางการแพทย์ อสม. รวมทั้งผู้ปกครองเด็กให้การต้อนรับ

รมว.สธ.เปิดเผยว่าโรคไข้เลือดออก ยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญสำหรับประเทศไทย กระทรวงได้เน้นย้ำให้ดำเนินมาตรการป้องกัน และควบคุมโรคที่มีอยู่แล้วให้เข้มข้น จึงมีนโยบายเพิ่มมาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ ได้แก่ การสนับสนุนให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกเดงกี ที่มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย

“จังหวัดนครพนมเป็นส่วนหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ เพื่อผลักดันในการนำวัคซีนไข้เลือดออกมาใช้ ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก วัคซีนไข้เลือดที่ใช้ในการรณรงค์ในครั้งนี้ เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (live attenuated vaccine) มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย ปัจจุบันวัคซีนชนิดนี้ได้รับการอนุมัติขึ้นทะเบียนมาแล้วกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ฉีดไปแล้ว 10 ล้านกว่าโดส ในส่วนของประเทศไทยมีการใช้วัคซีนไปกว่า 4 แสนโดส โครงการรณรงค์ในวันนี้เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน นำโดยกระทรวงสาธารณสุข สถาบันวัคซีนแห่งชาติ โดยวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ทาเคดา ฟาร์มาซูติคัล จำกัด เป็นการผสานพลังกันในการดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างยั่งยืน  ที่นครพนมมีเด็กอายุระหว่าง 7 ถึง 10 ปี เข้าร่วมในโครงการกว่า 15,000 คน”

นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สธ. เปิดเผยเพิ่มเติมว่าจากการติดตามการดำเนินงานดูแลระยะยาวผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care : LTC) ที่ได้รับการดูแล ณ ศูนย์ดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิง (LTC) โรงพยาบาลโพนสวรรค์ ต้องบอกว่าจังหวัดนครพนมดำเนินการบริหารจัดการจัดกองทุน LTC ได้เข้มแข็งมาก

“กองทุน LTC คือ กองทุนที่ดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุข สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงและบุคคลที่มีภาวะพึ่งพิง เพื่อให้ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่มีภาวะพึ่งพิง เป็นประชาชนคนไทยทุกสิทธิและทุกกลุ่มวัย ได้รับการบริการด้านสาธารณสุขตามชุดสิทธิประโยชน์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบต. เทศบาล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. มีสหวิชาชีพ แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย ผู้จัดการการดูแลผู้ป่วยครบทุกหน่วยบริการ”

“จุดเด่นของศูนย์ดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิง โรงพยาบาลโพนสวรรค์ ก็คือ มีศูนย์ชีวาภิบาลที่ดูแลผู้ป่วยภาวะพึ่งพิง ผู้ป่วยระยะท้ายแบบ One Stop Service ดูแลผู้สูงอายุติดสังคมเพื่อไม่ให้เข้าสู่ภาวะผู้ป่วย มีการประเมินสุขภาพจิตผู้สูงอายุ ที่มีภาวะสุขภาพทางจิต ใช้ “นวัตกรรมการวางแผนการตายดี” และแผนการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยภาวะพึ่งพิงทุกราย รวมถึงการเป็นแหล่งเรียนรู้ของเจ้าหน้าที่ และที่ศึกษาดูงานจากหน่วยงานหลายแห่ง โดยได้รับโล่โมเดลนวัตกรรมการออกกำลังกายยามนึ่งข้าวโดยใช้ผ้าขาวม้า (ตามบริบทของสังคมอีสาน) ดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงให้มีคุณภาพชีวิตดีเด่น ระดับจังหวัด ปี 2566 และได้รับรางวัลชนะเลิศนวัตกรรมการดูแลผู้ป่วยประคับประคอง (Palliative Care Cancer) ในปี 2567 และโล่รางวัลบุคลากรที่ขับเคลื่อนนโยบายและให้การสนับสนุนการดำเนินงานด้านการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุดีเด่น ระดับประเทศ กรมอนามัย ปี 2567” รมว.สธ. กล่าว

สำหรับนโยบายด้านการแพทย์แผนไทย (เพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจสุขภาพ Medical & Wellness Hub) เป็นการยกระดับเพิ่มโอกาส สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนและประเทศ ผ่านการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มทางด้านการแพทย์ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย ภูมิปัญญาไทย สมุนไพรไทย ผลิตภัณฑ์สุขภาพ นวดสปา การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ทั้งนี้ จ.นครพนมมีผลงานเด่นและรางวัลแห่งความภาคภูมิใจ โดยคว้ารางวัลพื้นที่ต้นแบบดีเด่นแห่งชาติด้านการแพทย์แผนไทย ระดับเพชร ในปี 2567 ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม และโรงพยาบาลนครพนม ในปี 2568 ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ระดับเขต ประเภทโรงพยาบาลชุมชน ได้แก่ โรงพยาบาลบ้านแพง และรางวัลพื้นที่ต้นแบบบชมรมผู้สูงอายุด้านการแพทย์แผนไทย ส่วนรองชนะเลิศอันดับ 1 ระดับเขต ได้แก่ ชมรมผู้สูงอายุ ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน

หน้าแรก » ภูมิภาค