วันศุกร์ ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 14:19 น.

ภูมิภาค

ทีมนักวิจัย มข. พัฒนาผลิตภัณฑ์จากหญ้าแฝก ควบคุมไส้เดือนฝอยรากปม ลดการใช้สารเคมีในไร่พริก

วันพฤหัสบดี ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 09.46 น.

"ไส้เดือนฝอยรากปม" ศัตรูพืชขนาดจิ๋วแต่สร้างความเสียหายใหญ่หลวงให้เกษตรกร โดยเฉพาะผู้ปลูกพริกทั่วประเทศ ส่งผลให้ต้นพืชแคระแกร็น ใบเหลือง และให้ผลผลิตลดลง ปัจจุบันการจัดการมักพึ่งสารเคมีเป็นหลัก ซึ่งอาจกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

 

ล่าสุด ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ผศ.ดร.กานต์สิรี จินดาปัณณาพัฒน์ คณะเกษตรศาสตร์ ได้คิดค้น “ผลิตภัณฑ์หญ้าแฝกควบคุมไส้เดือนฝอยรากปม” ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของไทยที่ใช้พืชท้องถิ่นมาแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

 

โดยหญ้าแฝก ซึ่งเป็นพืชอนุรักษ์ดินและน้ำในโครงการพระราชดำริ ถูกนำมาวิจัยร่วมกับนักวิจัยจาก ม.แม่โจ้ และ ม.เกษตรศาสตร์ เพื่อสกัดสารสำคัญจากใบหญ้าแฝก ก่อนพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่ปลอดภัยต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม

 

ผลิตภัณฑ์แบ่งเป็น 2 สูตร คือ:

  • สูตรที่ 1: ผงละลายน้ำ ใช้งานง่าย เพียงผสม 1 ซอง (50 กรัม) ในน้ำ 1 ลิตร ฉีดพ่นโคนต้นพริกทุก 3 สัปดาห์ ควบคุมไส้เดือนฝอยได้ถึง 200 ต้น

  • สูตรที่ 2: ผงรองก้นหลุมแบบปลดปล่อยช้า ใช้ 1 ซอง (2 กรัม) รองก้นหลุมก่อนปลูก 2 ต้นพริก ป้องกันไส้เดือนฝอยได้นานถึง 1 เดือน ลดความถี่ในการใช้ ช่วยประหยัดต้นทุน

 

ทั้งสองสูตรผ่านการทดสอบในแปลงเกษตรจริงที่ ต.ซำสูง จ.ขอนแก่น และได้รับผลตอบรับดีจากเกษตรกร

 

อนาคต ทีมวิจัยมีแผนขยายผลไปยังพืชชนิดอื่น เช่น เมล่อน และพร้อมพัฒนาในระดับอุตสาหกรรมเพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงได้มากขึ้นในราคาที่เหมาะสม

 

ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือต้องการร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ ติดต่อ
ผศ.ดร.กานต์สิรี จินดาปัณณาพัฒน์
โทร. 043-202-360
อีเมล: kansji@kku.ac.th

หน้าแรก » ภูมิภาค