วันพุธ ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 01:09 น.

ภูมิภาค

"ประเสริฐ" ลงพื้นที่อุบลฯ ติดตามโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร

วันเสาร์ ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 16.30 น.

วันที่ 24 พ.ค.68  นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมคณะ ได้เดินทางมาตรวจติดตามโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 500 ไร่ ณ บ้านหนองจิก หมู่ที่ 14 ตำบลหัวเรือ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีนายพัฒนวิทย์ จิตต์พิทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 11 (อุบลราชธานี) ให้การต้อนรับและรายงานความคืบหน้าของโครงการ
              
ทั้งนี้  พื้นที่ดังกล่าวประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เนื่องจากอยู่นอกเขตชลประทาน ไม่สามารถทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืน โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่จึงถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่พริกตำบลหัวเรือ ซึ่งสมาชิกกลุ่มเกษตรกรรวม 62 ราย ได้ร่วมกันผลักดันโครงการจนเกิดผลเป็นรูปธรรม
                
สำหรับโครงการดังกล่าว ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นจำนวน 13,231,200 บาท โดยมีองค์ประกอบหลัก อาทิ บ่อน้ำบาดาล 6 บ่อ, หอถังเหล็กเก็บน้ำ 2 ถัง, แผงโซลาร์เซลล์ 6 ชุด, เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง 6 ชุด และระบบท่อกระจายน้ำรวมระยะทาง 3,750 เมตร สามารถผลิตน้ำได้กว่า 239,760 ลูกบาศก์เมตรต่อปี
                
ปัจจุบัน สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 11 (อุบลราชธานี) ได้ส่งมอบระบบให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลหัวเรือเป็นผู้ดูแล และมีการจัดตั้งระบบบริหารจัดการภายในกลุ่มเกษตรกรผ่านการติดตั้งมิเตอร์เก็บค่าน้ำ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการอย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง
                 
ในโอกาสนี้   ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 11 (อุบลราชธานี) ได้ขอความกรุณาจากรองนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาผลักดันการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับโครงการพัฒนาน้ำบาดาลในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 11 (อุบลราชธานี) ครอบคลุม 5 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ เนื่องจากตามร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2569 จะมีเพียง 5 แห่งที่ได้รับงบประมาณ จากที่เสนอขอรับงบประมาณทั้งหมด 316 แห่ง
               
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้มอบแนวทางในการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3 ด้าน ได้แก่  1.ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันในด้านวิชาการนั้นงบประมาณในการติดตามและประเมินประสิทธิภาพการใช้น้ำคุณภาพน้ำอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้โครงการนี้มีงานเพื่อการเกษตรอย่างพอเพียงได้อย่างต่อเนื่อง   2.ให้นำผลความสำเร็จของโครงการเป็นต้นแบบและขยายผลเป็นส่วนท้องถิ่นอื่นเพื่อกระจายน้ำให้ครอบคลุมอย่างทั่วถึง  3.ขอให้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการรักษาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน พร้อมเน้นย้ำ “ทรัพยากรน้ำเป็นเรื่องสำคัญอยากให้ประชาชนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด ขณะนี้รัฐบาลมีหลายโครงการที่จะเข้ามาบริการจัดการเพื่อพี่น้องประชาชน
                
ในวันเดียวกันนี้  นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่อุบลฯ ติดตามผลการดำเนินงานในโครงการ Thailand Zero Dropout ที่ โรงเรียนวารินชำราบ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี  ซึ่งเป็นโรงเรียนนำร่องของประเทศ ในการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ สร้างโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยดำเนินการตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 เป็นต้นมา  ซึ่งมีผลการดำเนินงานที่ดี คือที่ผ่านมา มีเด็กที่เข้าร่วมโครงการสำเร็จการศึกษา จำนวนกว่า 20 ราย และในปีการศึกษา 2568 นี้ มีผู้ปกครองนำเด็กสมัครเข้าเรียนจำนวน 13 ราย อีกทั้งมีสถานศึกษาหลายแห่งสนใจมาศึกษาดูงานการดำเนินงานตามนโยบาย Thailand Zero Dropout  ของทางโรงเรียน 
                  
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง  ได้กล่าวถึงนโยบายที่สำคัญ เพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) เพื่อการขับคลื่อนผ่าน 4 มาตรการ คือ 1.การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน  2.การบูรณาการการช่วยเหลือรายกรณี โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ในการดูแลเด็ก กลุ่มเป้าหมาย 3.การจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น ตามโจทย์ชีวิตของเด็กแต่ละคน 4.การเรียนรู้ควบคู่กับการมีรายได้ (Learn to Eam)  แม้เราจะเริ่มต้นที่เด็กและเยาวชนกลุ่มเป้าหมายอายุ 3- 18 ปี แต่รัฐบาลมุ่งหวังจะขยายผลถึงระดับอุดมศึกษาและวัยแรงงานด้วย
                   
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ผมขอให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมดูแลเด็กและเยาวชนไม่ให้หลุดจากระบบ เพราะเราทุกคนเป็นเจ้าของเรื่องนี้ร่วมกัน ขอให้การพบกันในวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นในจังหวัดอุบลราชธานี ภารกิจของเราไม่ใช่แค่ตามหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา แต่คือการร่วมกันสร้างเส้นทางใหม่ที่ให้ทุกคนกลับเข้าสู่การเรียนรู้ และมีเป้าหมายชีวิตที่มั่นคง สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์"

หน้าแรก » ภูมิภาค