วันจันทร์ ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 14:40 น.

อื่นๆ » คอลัมน์

ท่องเที่ยว รอยเท้า รายทาง

ออน อาร์ต : วันอาทิตย์ ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2559, 06.22 น.

“บักตะปูร์” อ้อมกอดมิตรภาพแห่งหิมาลัย

บักตะปูร์ อ้อมกอดมิตรภาพแห่งหิมาลัย

 

บักตะปูร์ เมืองแห่งผู้มีจิตศรัทธา 

 

มิตรภาพยิ่งให้ยิ่งงอกงาม

 

พวกเรารู้สึกเช่นนั้นจริงๆ หลังเสร็จสิ้นกิจกรรม International Poetry FestivalNepal Academy กลาง “กรุงกาฐมาณฑุ” ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญของ Creative Bridge

 

Krishna Prasai ประธานมูลนิธิ JARA Foundation เจ้าภาพหลักของการจัดแสดงผลงานศิลปะและบทกวีนานาชาติ ณ ประเทศเนปาล ครั้งนี้ ยิ้มร่าอย่างโล่งใจ

ภาพจากอีกฝั่งแม่น้ำพัคมาตี

เขาบอกกับพวกเราว่า รู้สึกอิ่มเอมยินดีอย่างมากที่เห็นทุกกิจกรรมของ Creative Bridge ลุล่วงผ่านไปด้วยดี แม้จะทุลักทุเลเรื่องการเดินทาง และการจัดการหลายอย่าง

 

แต่ท้ายที่สุด “ความตั้งใจจริง” ของ “มวลมิตร” จากนานาประเทศ ก็น่าเชื่อว่าจะเป็นภาพงดงามประทับติดตรึงใจทุกคนไปอีกแสนนาน

ควันไฟภายในวัดปศุปฏินาถ

ก่อนเข้าสู่ที่พักซึ่งจัดไว้ ณ บักตะปูร์" เพื่อเลี้ยงอำลา Krishna ชักชวนพวกเราไปยังสถานที่สำคัญอีกแห่งใน “กรุงกาฐมาณฑุ”

 

วัดปศุปฏินาถ (Pashupatinath Temple) คือสถานที่ซึ่ง “เจ้าบ้าน” ตั้งใจพาเราไปเยือน และทำเอกสารขออนุญาตเข้าพื้นที่ไว้ล่วงหน้า

เหล่ากวีนานาชาติบรรเลงร่วมกัน

วัดแห่งนี้อยู่ห่างจาก กรุงกาฐมาณฑุ ราว 5 กม. ตามข้อมูลที่เราได้รับนั้น วัดปศุปฏินาถ สร้างขึ้นในสมัยของกษัตริย์ราชวงศ์ มลละ เพื่อถวายแด่ พระศิวะ ในภาคของ องค์ปศุปฏินาถ

 

วัดปศุปฏินาถ เป็นวัดที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกโลก” ตั้งอยู่ริม แม่น้ำพัคมาตี (Bagmati River) โดยแม่น้ำสายนี้จะไหลไปรวมกับ “แม่น้ำคงคา” แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของ “ฮินดู”

Bhaktapur Guest House อันแสนร่มรื่น

ดังนั้น แม่น้ำพัคมาตี จึงได้ขึ้นชื่อว่าเป็น “แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เฉกเช่นเดียวกับ แม่น้ำคงคา แห่งเมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย นั่นเอง

 

“เจ้าบ้าน” เดินนำลิ่วๆ หลังรถจอดสนิท พวกเรามองไปด้านหน้า เห็นหลังคา “สีทอง” ซ้อนกันโดดเด่น จากคำบอกเล่า ที่นี่เป็น “วัดศักดิ์สิทธิ์” ที่สุดแห่งหนึ่งของ ศาสนาฮินดู ในประเทศเนปาล

มอบของที่ระลึกก่อนกล่าวอำลา

ทางเข้าด้านหน้าแบ่งแยกระหว่าง “ชาวฮินดู” และผู้มาเยือนรวมถึง “นักท่องเที่ยว” อย่างชัดเจน เพราะมีเพียงผู้ที่นับถือศาสนาฮินดูเท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์เข้าไปภายในวัดได้

 

ส่วน นักท่องเที่ยว สามารถเข้าชมตัววัดได้บางส่วน และมองเห็นการทำกิจกรรมที่มีขึ้นภายในวัด จากอีกฝั่งของ “แม่น้ำพัคมาตี

 

“ชาวฮินดู” จะนำร่างของผู้เสียชีวิตมาทำพิธีศพที่วัดแห่งนี้ ดังนั้นเราจึงเห็นควันไฟที่ใช้ใน “การเผาศพ” อยู่ตลอดเวลา รวมถึงมองเห็นการทำพิธีศพ จากอีกฝั่งของแม่น้ำอย่างชัดเจน

 

รอยยิ้มแห่งมิตรภาพที่บักตะปูร์ 

“เจ้าบ้าน” ปล่อยให้พวกเราสังเกต เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ อย่างเงียบๆ กระทั่งได้เวลาพอสมควร ก็ชวนกันกลับ พร้อมถ้อยคำเรียบง่ายแปลได้ว่า ถึงเวลาผมก็ต้องมาที่วัดแห่งนี้เช่นกัน”

 

พวกเราได้แต่พยักหน้าตอบรับคำบอกเล่านั้น เพราะต่างก็รู้กันดีว่า ไม่มีใครสามารถหลีกหนี กฎธรรมชาติ นี้ไปได้ ไม่ว่าจะเชื้อชาติหรือศาสนาใดก็ตาม

 

ระหว่างเดินออกจาก วัดปศุปฏินาถ เราสังเกตเห็นหลายคนที่เดินสวนเข้าไป มีสีหน้าเศร้าสร้อย เดาได้ว่าคงมา “ส่ง” ใครบางคน

 

จากนั้นพวกเราเดินทางต่อไปยัง Bhaktapur Guest House ที่พักสุดแสนงดงาม แห่ง บักตะปูร์" ซึ่งเจ้าของสถานที่เป็นเพื่อนสนิทของ Krishna

 

ก่อนจะเข้าที่พัก “เจ้าบ้าน” ชวนเราลงเดินไปยังที่ดินโล่งๆ แปลงหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน พร้อมกับบอกว่า ในอนาคตเขาตั้งใจให้ที่ดินผืนนี้เป็นที่ตั้งของ JARA Foundation

 

เป็นสถานที่ให้ “กวี” และ “ศิลปิน” ได้มาพักพิง และสร้างสรรค์ผลงานของตนเอง รวมถึงอาจเป็น “ที่พัก” ในวัยชราเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในช่วงชีวิตที่ผ่านมาด้วย

 

เมื่อถึง Bhaktapur Guest House ระหว่างนั่งรอเหล่า “กวี” จากประเทศไทย ทั้ง “เจน สงสมพันธุ์” และ นายทิวา หรือ เอกรัตน์ จิตร

มั่นเพียร แห่งคอลัมน์ ใต้ถุนสภา ของ นสพ.บ้านเมือง

 

พร้อมด้วย “กวี” จาก “อินเดีย” และ “ภูฏาน รวมถึง “เนปาล” เจ้าบ้าน ชักชวนกันร้องเพลง เคาะจังหวะรับกันอย่างสนุกสนาน

 

อีกครั้งที่ “ดนตรีไม่มีพรมแดน” เฉกเช่น “หัวใจ” ของเหล่า “กวี” จากนานาประเทศที่สอดประสานเชื่อมถึงกันด้วยทำนองอันแสนพิเศษ

 

ระหว่างอาหารมื้อค่ำ เรามีโอกาสพูดคุยกับ “ตุมเบียง” กวีจาก “ภูฏาน” ที่สอบถามเรื่องราวเกี่ยวกับ “ประเทศไทย” อย่างสนใจ

 

เขาบอกกับเราว่า ได้รับรู้ข่าวสารเรื่องราวเกี่ยวกับ “เมืองไทย” มากมาย หากทว่านี่นับเป็น “ครั้งแรก” ที่เขามีโอกาสได้พบและสนทนากับ “คนไทย”

ยามเช้าจากดาดฟ้า Bhaktapur Guest House

พวกเราจึงแลกเปลี่ยนกันอย่างสนุกสนาน โดยเฉพาะเมื่อเล่าถึง “ผลไม้” ที่มิตรใหม่ของเรา ตื่นเต้นกับ “ทุเรียน” ผลไม้ที่เปลือกมีหนามแหลม หากแต่รสชาติลือลั่นมีชื่อเสียงไปทั่วโลก

 

ค่ำคืนที่ Bhaktapur Guest House อบอวลไปด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และบทเพลง แม้กระทั่งก่อนลาไปนอน เรายังได้ยินเสียงร้องเพลงครึกครื้นแว่วผ่านสายลมให้ได้ยิน

 

เช้าวันอำลา “เจ้าบ้าน” เตรียมของที่ระลึกให้พวกเราหลายอย่าง ทั้ง “งานหัตถกรรม” ที่ทำจากไม้ มอบให้แก่ทุกคน รวมถึง “มาลา” หรือ “มาลัยคล้องคอ” ที่บ่งบอกการให้เกียรติแก่ผู้มาเยือน

 

พร้อมกันนั้นยังมี “ภาพเทือกเขาหิมาลัย” ให้ทุกคนได้นำกลับบ้าน และถ้อยคำที่ย้ำว่า เมื่อยามใดที่คิดถึงขอให้มองมายัง “เทือกเขาหิมาลัย” มีมิตรภาพรออยู่ที่นั่น

 

ตัวแทน “ศิลปินไทย” ทั้ง 2 คน คือ สาโรจน์ อนันตอวยพร จาก ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และ ตนุพล เอนอ่อน จาก ม.มหาสารคาม มอบภาพผลงานของตนเองให้แก่ “เจ้าบ้าน”

 

โดยมี ชื่นกมล ศรีสมโภชน์ และ จุฬารัตน์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ประสานงานและผู้แทน JARA Foundation ประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน

 

จากนั้นก็ได้เวลากล่าวคำอำลาอย่างเป็นทางการ ด้วยคำมั่นว่า สักวันเราจะกลับมาพบกันใหม่ เพราะ Creative Bridge เป็นสะพานแห่งการสร้างสรรค์ที่เชื่อมพวกเราไว้ด้วยกันอย่างเหนียวแน่น

 

อ้อมกอดแห่งหิมาลัย อบอุ่น งดงาม ด้วยมิตรภาพที่โอบล้อมหัวใจพวกเราทุกคน ...

 

 

ออนอาร์ต / roythao@yahoo.com