วันจันทร์ ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 11:11 น.

อื่นๆ » คอลัมน์

ไลฟ์สไตล์

บ้านเมือง : วันจันทร์ ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2561, 00.36 น.

ปริศนาตำราพิชัยสงคราม สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

โดย ว.วรรณพงษ์  

 

 

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เก่งกล้าสามารถ เชี่ยวชาญกลศึก  และทรงเป็นผู้นำทัพที่  “เก่งกาจทั้งบู้และบุ๋น” นอกจากทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านต่างๆ แล้ว พระองค์ยังทรงเชี่ยวชาญตำราพิชัยสงครามยิ่งนัก  ในสมัยโบราณตำราพิชัยสงครามของจีนถูกบันทึกไว้เป็นภาษาจีนมานับพันปีมาแล้ว  ด้วยพระองค์มีเชื้อสายจีน  การอ่านตำราพิชัยสงคราม ฉบับ ภาษาจีน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรมิใช่หรือ ?

ย้อนไปเมื่อวันขึ้น ๔ ค่ำ เดือนยี่ จุลศักราช ๑๑๒๘  ปีจอ อัฐศก ตรงกับวันที่ ๔ มกราคม  พ.ศ. ๒๓๐๙ พระเจ้าตากสินยกกำลังออกจากกรุงศรีอยุธยามุ่งสู่ค่ายวัดพิชัย บ้านโพธิ์สังหารและตีฝ่าวงล้อมทหารพม่าออกไปได้ทางทิศตะวันออก มุ่งตรงไปยังบ้านพรานนก พร้อมด้วยทหารไทยจีน กว่า ๕๐๐ นาย  กระทั่งมาถึงบ้านพรานนก (อำเภออุทัย  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) 

ประจวบเหมาะกับกองกำลังของพม่า ยกทัพกลับจากปราจีนบุรี  ทหารเอก ๓๐ ม้า ทหารพม่า ๒,๐๐๐ นาย กำลังเดินทางไปยังกรุงศรีอยุธยา  หมายเผด็จศึกพระนครให้ได้ภายในฤดูแล้งนี้ กองทัพพม่านี้จึงปะทะกับกองกำลังของพระเจ้าตากสิน  

พระเจ้าตากสินขี่ม้าพร้อมทหารเอกสี่ม้าออกรับกองทัพพม่าก่อน   ตามด้วยทหารและชาวบ้านพรานนกที่ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่ พระองค์วางกลยุทธ์ให้ทหารเดินเท้า  “ตั้งค่ายปีกกาซ่อนไว้” การรบแซงสองข้าง กองทัพพม่าสามสิบม้า แตกย่นหกหลังลงไปถึงพลเดินเท้า ๒,๐๐๐ คน ในที่สุดกองทัพพม่าที่มีกำลังมากกว่าพ่ายแพ้ยับเยิน

ด้วยฝีมือการรบอันเป็นเลิศ สามารถรบเอาชนะทหารพม่าที่มีมากกว่าได้อย่างเด็ดขาด การวางกลยุทธ์ที่หลักแหลมและเหี้ยมหาญการศึก พระเจ้าตากสินได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาด  ฝ่ายทแกล้วทหารไทยจีนทั้งปวงเห็นบุญฤทธิ์พระองค์เป็นอัศจรรย์ ก็ยิ่งยกย่องยำเกรง ต่างแซ่ซร้องพระบารมี แม้แต่ทหารพม่าก็ไม่มีคนใดกล้าติดตามอีกต่อไป

ดังนั้นในวันที่ ๔ มกราคม ของทุกปี กองทัพบกได้กำหนดให้เป็นวันทหารม้า เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช "พระบิดาแห่งทหารม้าไทย” ที่ทรงอุทิศพระวรกายเพื่อบ้านเมืองและอาณาประชาราษฎร เพื่อรักษาเอกราชของชาติไทย

เมื่อสืบค้นในตำราพิชัยสงครามหลายเล่มแล้ว ผู้เขียนยืนยันได้เลยว่า พระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพในกลศึกและตำราพิชัยสงครามอย่างยิ่ง โดยเฉพาะใน “ตำราพิชัยสงครามของซุนจู้ หรือ ซุนจื่อ” สำหรับการรบที่พระองค์ใช้ในการกู้ชาติหลายครั้งและหลายๆ รูปแบบ เรียกว่า “การรบแบบพิศดาร” ที่เรียกว่า "ฉี" หมายถึง “การรบที่ผิดจากธรรมดา” คือ ใช้หน่วยจู่โจมเข้าตีข้าศึกทางปีกซ้าย หรือปีกขวา หรือด้านหลัง ในลักษณะลอบเข้าตี โดยข้าศึกไม่คาดคิด เป็นกลอุบายสร้างความพะว้าพะวังลังเลให้ข้าศึก เป็นยุทธวิธีหนึ่งซึ่งเอาชนะข้าศึกได้

หลักการจัดขบวนทัพตามแบบซุนจู้  ทหารทุกคนจะถูกฝึกให้ชำนาญการสู้รบมีกำลังร่างกายแข็งแรงอดทน รู้จักระเบียบวินัย เข้าใจการแปรขบวนทัพ ตามที่ตกลงกันเป็นอาณัติสัญญาณ หน่วยหน้าสุดของกองทัพนั้น เปรียบกับกองทัพฝ่ายทะลวงฟันของพระเจ้าตากสิน ทุกคนต้องมีความจงรักภักดีต่อแม่ทัพ แม่ทัพที่ดีเยี่ยมจะชั่งน้ำหนักของสถานการณ์ ก่อนลงมือกระทำการทุกครั้ง ที่สำคัญก็คือ พระเจ้าตากสินทรงเปรื่องปราชญ์ในตำราพิชัยสงคราม และทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านการรบ ทรงวิริยะอุตสาหะไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ กระทั่งพระองค์ได้ชัยชนะและกู้ชาติสำเร็จในที่สุด

“ถ้าหากไม่มีท่านเมื่อ ๒๕๐ ปีมาแล้ว  ก็อาจไม่มีเราในวันนี้”

วันนี้เราคนไทยน้อมรำลึกถึงพระเกียรติคุณของ “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” แล้วหรือยัง ?