สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกู้ชาติไทยครบ ๒๕๐ ปี หากไม่มีพระองค์..ก็อาจไม่มีเราในวันนี้?
โดย ว.วรรณพงษ์
.JPG)
ณ ท่าเรือเมืองจันทบุรี เดือนสิบเอ็ดปีกุนนพศกนั้น พระเจ้าตากสินเสด็จยาตรากำลังพลประมาณ ๕,๐๐๐ คน ทัพเรือร้อยลำเศษจากเมืองจันทบุรี แลเต็มท้องทะเลสุดลูกหูลูกพร้อมด้วยธงชาติไทยปลิวไสว ทหารไทยประจำกราบเรือซ้ายขวาเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังกายและพลังใจที่จะกู้ชาติกู้แผ่นดินคืนมาให้จงได้
ขบวนกองทัพเรือพระเจ้าตากสินพร้อมทหารกล้าแล่นฝ่ากระแสน้ำ จากจันทบุรี ผ่านระยอง ชลบุรี ผ่านมาทางแม่น้ำบางปะกง ฉะเชิงเทรา แล้วก็เสด็จยกพลทัพเรือเข้ามาทางปากน้ำเมืองสมุทรปราการ สองฟากฝั่งแม่น้ำเงียบเหงาวังเวงดุจสุสาน แม่น้ำเจ้าพระยาอันกว้างใหญ่ไม่มีผู้คน ไม่มีแม้แต่เรือแพการค้าขาย ทุกอย่างสลดวังเวงดุจเมืองร้าง
ครั้นล่องเรือเข้าปากน้ำ เห็นบ้านช่องริมน้ำย่อยยับพังทลายไม่มีชิ้นดี นี่คือผลจากการกวาดต้อนปล้นสะดมของข้าศึก ที่เข้ามารุกรานบ้านเมืองและประชาชนถึงเพียงนี้ ตลอดระยะทางกองทัพเรือพระเจ้าตากสินพร้อมทหารกล้า ต่างนิ่งเงียบสะกดกลั้นอารมณ์ภายในที่คุกรุ่น แต่บางคนก็น้ำตาซึมไหลไม่รู้ตัว
ณ ป้อมวิไชยเยนทร์ เมืองธนบุรี โดยมี “นายทองอิน” คนไทยคนหนึ่งที่ฝักไฝ่ช่วยเหลือพม่ากระทั่งเสียกรุง พม่าเห็นความดีความชอบ จึงตั้งให้เป็นรองหัวหน้าและให้เป็นผู้รักษาเมืองธนบุรี เพื่อสอดส่องดูแลคนไทยที่จะทำการแข็งกระด้างกระเดื่อง และเพื่อตัดกำลังชาวกรุงศรีอยุธยาที่อาจจะรวมตัวเป็นก๊กเป็นเหล่าต่อสู้พม่า อาจจะสั่งซื้ออาวุธปืนจากชาวต่างประเทศที่ส่งมาทางเรือได้
นายทองอินเห็นกองทัพเรือพระเจ้าตากสินล่วงเข้าปากน้ำมาแล้ว จึงให้ทหารรีบขึ้นไปแจ้งข่าวแก่ “สุกี้พระนายกอง” ที่ค่ายโพธิ์สามต้น พร้อมกับสั่งทหารให้รักษาป้อมวิไชยเยนทร์ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “ป้อมวิไชยประสิทธิ์”) และให้คอยรับมือกองทัพเรือพระเจ้าตากสิน แต่พวกที่รักษาป้อมวิไชยเยนทร์ เห็นกองทัพเรือพระเจ้าตากสินมีขบวนเรือนับ ๑๐๐ ลำ ต่างก็สะดุ้งหวาดกลัวไปตามกัน หากแต่ถูกบังคับจากตัวนายทองอิน จึงจำเป็นต้องรบพุ่ง
ครั้นทัพเรือพระเจ้าตากสินยกพลขึ้นบกได้ ทะลวงฟันทหารที่รักษาเมืองธนบุรีและพวกของนายทองอิน พม่าที่รักษาเมืองธนบุรีก็พ่ายแพ้ พระเจ้าตากสินจึงให้จับตัวนายทองอิน คนไทยที่ฝักไฝ่ต่อศัตรูบ้านเมืองฆ่าเสีย จากนั้นกองทัพเรือพระเจ้าตากสินก็เร่งขึ้นไปยังกรุงศรีอยุธยาโดยเร็ว และถึงกรุงศรีอยุธยาในค่ำคืนวันนั้น และพักทัพกันในค่ำคืนนั้น
วันศุกร์ที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๑๐ ตรงกับเดือน ๑๒ ขึ้น ๑๕ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๒๙ ปีกุลนภศก เช้าตรู่เมื่อมีเสียงไก่ขัน พระเจ้าตากสินสั่งเคลื่อนทัพไปบดขยี้ “ค่ายโพธิ์สามต้น” ทหารกล้าพร้อมอาวุธครบมือ อาทิเช่น ดาบ หอก หลาวแหลน และอาวุธปืน เตรียมพร้อมจะเอาเลือดศัตรู เพื่อเอาแผ่นดินไทยคืนมา ไม่หวั่นแม้แต่ชีวิตตัวเองปลิดปลิวลงไป ยอมสละชีพเป็นชาติพลี พระเจ้าตากสินสั่งให้ทหารระดมตีค่ายพม่าที่โพธิ์สามต้นให้ชนะให้จงได้
เมื่อกองทัพพระเจ้าตากสินและทหารกล้า ถึง “ค่ายโพธิ์สามต้น” พระองค์สั่งให้ทหารระดมตีค่ายพม่าด้านทิศตะวันออก แล้วให้ทำบันไดปีนค่ายพม่าฟากตะวันตก ครั้นพร้อมสรรพ ก็ให้พระยาพิพิธ พระยาพิชัย และนายทหารจีน เข้าระดมตีค่ายโพธิ์สามต้นพร้อมกัน รบกันแต่เช้าจนเที่ยง ในที่สุดกองทัพพระเจ้าตากก็เข้าค่ายพม่าได้สำเร็จ ในเวลา ๑๓.๐๐ น.
"สุกี้พระนายกอง" แม่ทัพค่ายพม่ายอมสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าตากสิน ไพร่พลที่เหลือตามมองย่าหนีไปได้บ้าง แต่ที่จับได้และที่เป็นไทยก็ยอมอ่อนน้อมโดยดีเป็นอันมาก
หลังเสียกรุงครั้งที่ ๒ พระเจ้าตากสินใช้เวลา ๗ เดือนเศษ ในการกู้ชาติ ได้ชัยชนะเด็ดขาดแล้ว กรุงศรีอยุธยาก็กลับคืนสู่อิสรภาพอีกครั้ง ตั้งแต่นั้นมากระทั่งทุกวันนี้
ดังนั้น วันที่ ๖ พฤศจิกายน วันสำคัญของชาติไทยที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรง “กู้ชาติไทย” ให้มีอธิปไตยเหนือแผ่นดินอีกครั้ง ทุกเลือดที่หยาดหยดบนแผ่นดินไทย ทุกวีรกรรมบรรพชนผู้กล้า กว่าจะมีแผ่นดินให้ลูกหลานไทยได้ครอบครองอย่างสงบสุขในวันนี้ ด้วยเกียรติคุณที่ยิ่งใหญ่ของ “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” และพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์เสียสละความสุขส่วนพระองค์ เพื่อปกป้องดูแลอาณาประชาราษฎร์ให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขมายาวนานใต้ร่มพระบารมี
ขอน้อมศิระกราน กราบแทบพระยุคลบาท สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้
ข้าพระพุทธเจ้า ว.วรรณพงษ์
ขอบพระคุณ ภาพประกอบจาก "ครูแอนท์ ม้าทมิฬ" เป็นอย่างยิ่ง