พระมหากษัตริย์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วย “ทศพิธราชธรรม”
โดย ว.วรรณพงษ์
พระเจ้าตากสินสมเด็จมหาราชแห่งอาณาจักรธนบุรี ทรงปกครองอาณาประชาราษฎร์ดุจ “บิดา” ปกครอง “บุตร” พระองค์เสด็จพระราชดำเนินให้ราษฎรเห็นพระองค์อยู่เนืองนิตย์ เปิดโอกาสให้ราษฎรได้เฝ้าแหนตามรายทาง ด้วยในรัชสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี บ้านเมืองเพิ่งเริ่มใหม่หลังกู้ชาติไทย ยังขาดแคลนทุกสิ่ง พระองค์ทรงห่วงใยอาณาประชาราษฎร์ พระองค์อยากถามไถ่ความเป็นอยู่ของอาณาประชาราษฎร์ด้วยพระองค์เองว่า ทุกข์สุขเพียงไร ?
พระราชพงศาวดาร ฉบับ พระราชหัตถเลขา เล่ม ๒ ตอน ๒ แผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ (เจ้ากรุงธนบุรี) บันทึกไว้ดังนี้ว่า
“ลุศักราช ๑๑๓๐ ปีชวดสัมฤทธิศก (พ.ศ. ๒๓๑๐) จึงท้าวพระยาข้าราชการจีนไทยผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง ก็ปรึกษาพร้อมกันอัญเชิญเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นบรมกษัตริย์ผ่านพิภพสีมา ณ กรุงธนบุรี ตั้งขึ้นเป็นราชธานีสืบไป ทรงพระกรุณาให้แจกจ่ายอาหารแก่ราษฎรทั้งหลาย ซึ่งอดโซอนาถาทั่วสีมามณฑล เกลื่อนกล่นกันมารับพระราชทานมากกว่าหมื่น บรรดาข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนไทยจีนทั้งปวงนั้น ได้รับพระราชทานข้าวสารเสมอคนละถัง กินคนละยี่สิบวัน
ครั้งนั้นยังหามีผู้ใดทำไร่นาไม่ อาหารกันดารนัก และสำเภาบรรทุก “ข้าวสาร” มาแต่เมืองพุทไธมาศ จำหน่วยถังละสามบาทสี่บาทห้าบาทบ้าง ทรงพระกรุณาให้ซื้อแจกคนทั้งปวง โดยพระราชอุตสาหะโปรดเลี้ยงสัตว์โลก พระราชทานชีวิตไว้มิได้อาลัยแก่พระราชทรัพย์ แล้วแจกจ่ายเสื้อผ้าเงินตราแก่ไพร่ฟ้าประชาชนจักนับมิได้”
ทั้งนี้มีชาวฝรั่งเศสท่านหนึ่งที่ยืนยันถึงน้ำพระทัยที่ใหญ่ไพศาลของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ท่านนี้คือ “มองเซนเยอร์ เลอบอง” ครั้งมาเยือนอาณาจักรธนบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๕ ท่านเคยติดตามสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี คราเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ จากหลักฐาน “จดหมายเหตุมองเซนเยอร์เลอบอง ถึงผู้อำนวยการคณะการต่างประเทศ ลงวันที่ ๑ เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๗๗๒ (พ.ศ.๒๓๑๕)” ดังนี้ว่า
“บรรดาคนทั้งหลายเรียกพระเจ้าตากว่าพระเจ้าแผ่นดิน แต่พระเจ้าตากทรงตรัสว่า เป็นแต่เพียงผู้รักษากรุงเท่านั้น พระเจ้าตากหาได้ทรงประพฤติเหมือนอย่างพระเจ้าแผ่นดินก่อนๆ ไม่ และในธรรมเนียมของพระเจ้าแผ่นดินฝ่ายทิศตะวันออกที่ไม่เสด็จออกให้ราษฎรเห็นพระองค์ ด้วยกลัวจะเสื่อมเสียพระเกียรติยศนั้น พระเจ้าตากไม่ทรงเห็นชอบด้วยเลย
พระเจ้าตากทรงพระปรีชาสามารถยิ่งกว่าคนธรรมดา เพราะฉะนั้นจึงไม่ทรงเกรงว่า ถ้าเสด็จออกให้ราษฎรพลเมืองเห็นพระองค์ และถ้าจะมีรับสั่งด้วยแล้วจะทำให้เสียพระราชอำนาจลงแต่อย่างใด เพราะพระองค์มีพระราชประสงค์ทอดพระเนตรการทั้งปวงด้วยพระเนตรของพระองค์เอง และจะทรงฟังการทั้งหลายการประชาชน ด้วยพระเนตรพระกรรณของพระองค์เองทั้งสิ้น”
ใครเลยจะคาดคิดว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี “พระมหากษัตริย์ยอดนักรบผู้กู้ชาติกู้แผ่นดิน” เก่งกล้าสามารถในสนามรบชนะข้าศึกทุกครั้ง อริราชศัตรูต่างประหวั่นพรั่นพรึงในพระปรีชาสามารถการรบที่เกรียงไกรไปทั่วหล้า เมื่อพระองค์ปกครองอาณาประชาราษฎร์ ณ อาณาจักรกรุงธนบุรี พระองค์ทรงเป็น พระมหากษัตริย์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วย “ทศพิธราชธรรม” คือ จริยวัตร ๑๐ ประการ ที่พระเจ้าแผ่นดินทรงประพฤติเป็นหลักธรรมในการปกครองบ้านเมือง เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาราษฎร์ทั้งแผ่นดินด้วย “ทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ” คือทาน (ทานํ), ศีล (สีลํ), บริจาค (ปริจาคํ), ความซื่อตรง (อาชฺชวํ), ความอ่อนโยน (มทฺทวํ), ความเพียร (ตปํ), ความไม่โกรธ (อกฺโกธํ), ความไม่เบียดเบียน (อวิหิงสา), ความอดทน (ขนฺติ), ความเที่ยงธรรม (อวิโรธนํ)
“ทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ” คือหลักธรรมที่ “สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี” หรือ “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ท่านทำเพื่อบรรพบุรุษไทยทั้งแผ่นดินซึ่งเป็นบรรพบุรุษของเราทุกคน เมื่อ ๒๕๐ ปีมาแล้ว ด้วยธรรมะของพระราชา คนไทยทั้งแผ่นดินควรน้อมรำลึกถึงพระเกียรติคุณของพระองค์สืบไปชั่วกาลนาน