วันจันทร์ ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 12:07 น.

อื่นๆ » คอลัมน์

ไลฟ์สไตล์

บ้านเมือง : วันจันทร์ ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2561, 15.30 น.

สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงธนบุรี เกี่ยวพันอย่างไรกับเมืองนครศรีธรรมราช !

โดย ว.วรรณพงษ์

 

 

“หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง” หรืออีกชื่อหนึ่งว่า “พระพุทธไตรรัตนนายก” ประดิษฐาน ณ วัดพนัญเชิง ริมแม่น้ำป่าสัก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หน้าตักกว้าง ๒๐ เมตร สูง ๑๙ เมตร สร้างด้วยปูนปั้นปางมารวิชัย พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง อายุหลายร้อยปี ที่พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาได้บูรณซ่อมแซมให้มีสภาพดีมาโดยตลอด

               

 

เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๐๕ ก่อนจะเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ได้ปรากฏเหตุ “หลวงพ่อโตมีน้ำพระเนตรไหลออกมา จากพระเนตรทั้งสองข้างเป็นที่อัศจรรย์” ครานั้น “พระภิกษุศรี” เห็นเหตุประหลาดเช่นนี้ เชื่อว่าจะเกิดเหตุร้ายแก่กรุงศรีอยุธยาอีกไม่นาน พระภิกษุศรีจึงตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเกิด ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช ภายหลังท่านก็คือ “สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)”  ท่านเป็นสมเด็จพระสังฆราช ๒ แผ่นดิน คือ กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์

 

******************

 

แต่เรื่องราวของ พระภิกษุศรี มิได้จบเพียงแค่นี้ ด้วยปรากฏเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับพระภิกษุศรี ณ วัดป่าตอ ตำบลท้ายสำเภา อำเภอพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช โดย “พระอภิรักษ์  วิชรธัมมาภิรักโข” รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดป่าตอ  เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ “วัดป่าตอ” ให้ฟังว่า  ก่อนเสียกรุงครั้งที่ ๒ หลังจากหลวงพ่อโต กรุงศรีอยุธยาหลั่งน้ำพระเนตร พระภิกษุศรีได้เดินทางทางเรือจากกรุงศรีอยุธยา กระทั่งถึงเมืองนครศรีธรรมราช แล้วลัดเลาะแม่น้ำทางเรือผ่านคลองเสาธง มุ่งมายังบ้านเกิด ท่านได้มาสร้าง “วัดป่าตอ” จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๕

 

เมื่อพระภิกษุศรีมาพำนักจำพรรษา ณ วัดป่าตอ แห่งนี้ท่านรำลึกถึง “หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง” จึงได้สร้าง “หลวงพ่อโต” ขึ้นที่วัดป่าตอ ด้วยปูนเพชรในสมัยโบราณ ที่สร้างเจดีย์พระบรมธาตุฯ เมืองนครศรีธรรมราช และเปลือกหอยนำมาตำเป็นผง  ในสมัยโบราณมักจะนำยางไม้ น้ำอ้อย น้ำผึ้ง กล้วยน้ำว้า นำมาผสมด้วยเช่นกัน  พร้อมทั้งผูกพันธสีมาทำจากปูนเปลือกหอย  เป็นเขตพุทธาวาส เสร็จแล้วจึงได้ประดับอุณาโลมด้วย “นิล” สีดำเม็ดโตขนาดเท่าลูกหมาก ขนาดหน้าตักกว้าง ๕ ศอก ( ๒.๕ เมตร) เฉพาะองค์พระสูง ๖ ศอก ( ๓ เมตร)

 

ในช่วงแรกพระสังฆราชศรีสร้าง “หลวงพ่อโต” ไว้กลางแจ้ง ภายหลังชาวบ้านทำหลังคาชั่วคราวคลุมไว้  เมื่อหลังคาชั่วคราวพังลง  ทำให้เศียร “หลวงพ่อโต” แตกหัก อุณาโลมสูญหายไป  จึงปรากฏการซ่อมแซมเศียรพระขึ้นมาใหม่อีกครั้ง แต่เศียรที่ทำมาใหม่ในครั้งที่สอง แต่เมื่อกรมศิลปากรมาซ่อมแซมปรากฏว่า ไม่สามารถซ่อมแซมได้ จึงได้ทำเศียรพระขึ้นมาเป็นเศียรที่สามประดิษฐานติดกับองค์พระ ด้วยความศรัทธาชาวบ้านจึงสร้างเสาขึ้นมาในโบสถ์แล้วนำ “เศียรที่สอง”  ประดิษฐานไว้ดังที่ปรากฏ นี่คือ อนุสรณ์ประวัติศาสตร์ที่ยังคงปรากฏถึงทุกวันนี้

 

*****************

 

ครั้นในปี พ.ศ. ๒๓๑๒ พระเจ้าตากสินทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองนครศรีธรรมราชเป็นอาณาจักรธนบุรี ครานั้นเมืองนครศรีธรรมราชและหัวเมืองปักษ์ใต้เป็นดินแดนหนึ่งในอาณาจักรธนบุรีแล้ว   คราพระเจ้าตากสินเสร็จศึกเมืองนครศรีธรรมราช ทรงยั้งทัพอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช ตั้งแต่ในช่วงเดือน ๑๒ (พฤศจิกายน) พ.ศ. ๒๓๑๒ ในช่วงนั้นเป็นช่วงฤดูลมมรสุม  หากเดินทางกลับกรุงธนบุรี  เรือจะเกิดอันตราย พระองค์พำนักที่นี่ประมาณ ๓ เดือนเศษ

 

 

ในช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๓๑๓ นี่เองที่ สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทางรำลึกถึง “พระภิกษุศรี” ด้วยเป็นพระอาจารย์ที่เคยสอนท่านตั้งแต่เมื่อคราเป็นสามเณร ณ วัดสามวิหาร กรุงศรีอยุธยา ทราบแต่เพียงว่า “พระภิกษุศรี” เดินทางกลับบ้านเกิด ณ เมืองนครศรีธรรมราช ก่อนเสียกรุงครั้งที่สอง หลายปีมาแล้วที่ไม่ได้เจอท่าน

 

ณ เมืองนครศรีธรรมราช เดือนมกราคม  พ.ศ. ๒๓๑๓ พระเจ้าตากสินจึงเสด็จมานมัสการพระภิกษุศรี ได้สนทนาธรรม และพระภิกษุศรีได้อ่าน “พระไตรปิฎกอักษรขอมบาลีใต้” อักษรสมัยโบราณของเมืองนครศรีธรรมราช ให้พระองค์ได้ฟัง พระเจ้าตากสินจึงได้อาราธนานิมนต์พระภิกษุศรี ให้ไปช่วยกันแปลพระไตรปิฎกอักษรขอมบาลีใต้และคัดลอกเป็นภาษาไทย โดยยืมพระไตรปิฎก จาก วัดหอไตร อำเภอเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช (ปัจจุบันกลายเป็นวัดร้างไปแล้ว)

 

เมื่อไปถึงกรุงธนบุรี จึงได้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกในกรุงธนบุรี ณ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ    ครั้นสมเด็จพระสังฆราช (ดี) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกในสมัยกรุงธนบุรี สถิต ณ วัดอมรินทรารามวรวิหาร กรุงเทพฯ สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๙

 

 

สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ทรงดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒ แห่งกรุงธนบุรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๙  เป็นต้นมา ครั้นถึง พ.ศ. ๒๓๓๔ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ได้ถูกถอดจากตำแหน่งเนื่องจากได้ถวายวิสัชนาร่วมกับ พระพุฒาจารย์ วัดบางหว้าน้อย (วัดอมรินทราราม) และพระพิมลธรรม วัดโพธาราม (วัดพระเชตุพนหรือวัดโพธิ์) เรื่องพระสงฆ์ปุถุชนไม่ควรไหว้คฤหัสถ์ที่เป็นอริยบุคคล ดังความว่า

 

ถึงมาตรว่าคฤหัสถ์เป็นพระโสดาก็ดี แต่เป็นหินเพศต่ำ อันพระสงฆ์ถึงเป็นปุถุชน ก็ตั้งอยู่ในอุดมเพศอันสูง เหตุทรงผ้ากาสาวพัสตร์ และพระจตุปาริสุทธิศีลอันประเสริฐ ซึ่งจะไหว้นบคฤหัสถ์ อันเป็นพระโสดานั้นก็บ่มิควร

 

ข้อวิสัชนาดังกล่าวนี้ไม่ต้องพระทัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน พระองค์จึงให้ถอดเสียจากตำแหน่งพระสังฆราช แล้วทรงตั้งพระโพธิวงศ์ เป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๓ แห่งกรุงธนบุรี

 

ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงปราบดาภิเษกและสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คืนสู่สมณฐานันดรศักดิ์ “สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)” เป็นสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์พระองค์แรก โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ตรัสสรรเสริญว่าพระองค์ท่านซื่อสัตย์มั่นคงที่จะรักษาพระศาสนาโดยไม่อาลัยชีวิต ควรเป็นที่นับถือ ต่อไปหากมีข้อสงสัยใดในพระบาลี ก็ให้ถือตามถ้อยคำพระองค์ท่าน กระทั่งเมื่อเดือน ๕ ปีขาล จ.ศ. ๑๑๕๖ (เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๓๓๗) สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) อาพาธถึงแก่มรณภาพ น่าจะมีชันษาไม่น้อยกว่า ๘๐ ปี

 

โดยมีพิธีอัญเชิญพระอัฐิสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) พระสังฆราชสองแผ่นดินกลับมายังบ้านเกิด ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช (ไม่ปรากฏหลักฐานว่านำมาพระอัฐิมาเพียงบางส่วน หรือทั้งหมด)  อย่างไรก็ตามจากข้อมูลหลากหลายที่มาโดยส่วนใหญ่ยืนยันพ้องว่า สถานที่เก็บ “พระอัฐิ” สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) คือ “โกศบัว” ที่อยู่ในเขตวัดแจ้งวรวิหาร  (ภายหลังวิทยาลัยเทคโนโลยีสถาปัตย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช  มาเช่าสถานที่วัดแจ้งวรวิหารนี้) อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน

 

 

ทุกวันนี้ ชาวเมืองนครศรีธรรมราช ยังคงรำลึกถึง สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) จึงมักจะไปกราบสักการะ “หลวงพ่อโต” อายุ ๒๕๐ กว่าปีมาแล้ว ณ วัดป่าตอ ตำบลท้ายสำเภา อำเภอพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่ธรรมดา ขอเชิญทุกท่านไปพิสูจน์ความจริงด้วยตัวท่านเอง !