วันเสาร์ ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567 21:01 น.

อื่นๆ » คอลัมน์

ไลฟ์สไตล์

บ้านเมือง : วันพุธ ที่ 02 มกราคม พ.ศ. 2562, 14.08 น.

เรื่องแปลก ชวนพิศวง รอบๆ พื้นที่ วัดเขาขุนพนม จังหวัดนครศรีธรรมราช

 โดย ว.วรรณพงษ์

               

จากหนังสือ “โบราณสถานเขาขุนพนม” โดยสำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๑๑ นครศรีธรรมราช กรมศิลปากร พ.ศ. ๒๕๔๑ เรื่อง “แหล่งโบราณคดีเขาขุนพนม” หน้า ๔๘ ได้กล่าวช่วงหนึ่งดังนี้ว่า

 

“ตามประวัติมีผู้คนเชื่อกันว่า วัดขุนพนมแห่งนี้เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อครั้งสิ้นรัชกาลของพระองค์ โดยไม่ได้ถูกประหารอย่างที่กล่าวไว้ในพงศาวดาร มีผู้สันนิษฐานว่าก่อนนี้พระองค์ถูกสำเร็จโทษ ได้มีการสับเปลี่ยนพร้อมกับพระญาติหรือนายทหารคนสนิทที่มีลักษณะคล้ายพระองค์ จากนั้นได้นำพระองค์เสด็จหนีมาประทับที่เมืองนครศรีธรรมราช โดยทรงผนวชและทรงเจริญวิปัสสนากรรฐานประทับอยู่ที่วัดเขาขุนพนมจนสวรรคต”

 

เรื่อง : “เตาเผาโบราณ” คงใช้ในกิจการก่อสร้างเสนาสนะวัดเขาขุนพนม
               

จากหนังสือ “โบราณสถานเขาขุนพนม” โดยสำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๑๑ นครศรีธรรมราช กรมศิลปากร พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้กล่าวถึง “โบราณวัตถุสถานและถ้ำเขาขุนพนม” หน้า ๕๙ ในหัวข้อ “เตาเผา” ดังนี้ว่า

               

 

“เตาเผาตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของเชิงเขา เยื้องกับพระอุโบสถมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๓๐ เมตร ลักษณะเป็นรูปค่อนข้างกลมกว้างประมาณ ๒.๕๐ เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑.๒ เมตร ลึกประมาณ ๒.๕ เมตรลักษณะโครงสร้างเตาเป็นเตาก่ออิฐ โดยวางแผ่นอิฐก่ออยู่บนหินปูนธรรมชาติ แล้วใช้ดินถมอัดภายนอกจนแน่น พื้นล่างมีแกรนิตยื่นออกมาขนาดกว้าง ๒๘ เซนติเมตร ยาว ๗๐ เซนติเมตร (ชำรุด) สูง ๕๐ เซนติเมตร คงเป็นแกนสำหรับวางเชื้อเพลิงสุมไฟ มีช่องสำหรับใส่ฟืนทางด้านทิศใต้ พื้นเตาเป็นชั้นดานแข็งเนื้อดินเป็นสีขาว และพบก้อนปูนขาวอยู่ทั่วไป เตานี้คงเป็นเตาเผาปูน โดยนำหินปูนมาเผาเป็นปูนขาว คงใช้ในกิจการก่อสร้างเสนาสนะภายในวัดแห่งนี้”

 

*****************

 

 

ย้อนไปเมื่อวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ผู้เขียนได้เจอกับ “คุณตากล่อม พลพันธ์” อายุ ๑๐๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๕๘) และคุณลุงสุนทร โมราศิลป์ (อายุ ๗๖ ปี) ท่านอยู่ที่ ตำบลบ้านเกาะ อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช เรามาฟังผู้เฒ่าผู้แก่ในพื้นที่เล่าเรื่องราวรอบๆ เขาขุนพนม ให้ฟังกันหลายเรื่องทีเดียว น่าสนใจไม่น้อยหลายเรื่อง

 

 

 

 

เรื่อง : “เตาอั้งโล่โบราณ” เตาทำอาหารรอบๆ เขาขุนพนม 


               

เมื่อวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๘ วันนั้นคุณตากล่อมได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า “ตา..เชื่อว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จมาประทับที่เขาขุนพนมจริงๆ เพราะตาเกิดที่นี่ ได้เห็นหลักฐานบนภูเขาขุนพนมมากมายที่เกี่ยวเนื่องกับพระเจ้าตากสินด้วยตัวเองตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะหน้าถ้ำมีกำแพงตกแต่งด้วยถ้วยชามเบญจรงค์ล้ำค่า มีถ้ำพระเจ้าตาก ทั้งพระพุทธรูปโบราณมากมาย ข้าวของเครื่องใช้สมัยโบราณมากมาย สิ่งเหล่านี้คนธรรมดาสร้างไม่ได้”

               

 

คุณตากล่อมยังเล่าให้ผู้เขียนฟังอีกว่า “พ่อแม่ปู่ย่าตาทวด เล่าให้ตาฟังตั้งแต่เด็กๆ ว่า พระเจ้าตากสินเสด็จมาประทับ ณ เขาขุนพนมแห่งนี้ ตาและชาวบ้านที่นี่ต่างรู้ว่าพระเจ้าตากสินเสด็จมาที่นี่และสิ้นพระชนม์ที่นี่จริงๆ ชาวบ้านแถบนี้หลายๆ บ้าน ที่เป็นลูกหลานของขุนทหารพระเจ้าตากสิน ต่างมีทั้งหอก ดาบ และอาวุธโบราณต่างๆ ใช้ในการศึกสงคราม เป็นมรดกสืบทอดกันมา เมื่อพระเจ้าตากสินสิ้นพระชนม์ ทหารพระเจ้าตากสินได้แต่งงานกับผู้หญิงในพื้นที่ และใช้ชีวิตอย่างสงบสุขในพื้นที่รอบๆ เขาขุนพนมมีลูกหลานสืบมาจนถึงปัจจุบันนี้

               

จากนั้น คุณตากล่อม พลพันธ์ อายุ ๑๐๐ ปี (เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๘) และคุณลุงสุนทร โมราศิลป์ (อายุ ๗๖ ปี) เดินนำหน้าผู้เขียนพาไปดู “เตาอั้งโล่โบราณ” ขนาดยักษ์สูงท่วมศีรษะ ก่อสร้างด้วยอิฐโบราณ สันนิษฐานว่า เตาโบราณนี้ทหารพระเจ้าตากสินคงจะใช้ทำอาหาร ถ้าอย่างนั้นกระทะใบบัวที่ใช้ทำกับ”เตาอั้งโล่ขนาดยักษ์” นี้ คงจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางกระทะไม่น้อยกว่า ๒ เมตร แล้วยังมีเตาอั้งโล่ขนาดเล็กๆ กว่านี้ รอบๆ เขาขุนพนมด้วยเช่นกัน

               

"เตาอั้งโลโบราณ" ปัจจุบันอิฐที่ก่อสร้างเป็นรูพรุน มีสภาพเสื่อมไปตามกาลเวลา แต่ยังคงสภาพเตาอั้งโล่ได้อย่างชัดเจนสร้างถาวรเป็นเตาวางไว้บนพื้นดินต่างระดับอย่างพอเหมาะมีเส้นผ่าศูนย์กลางของเตาโบราณประมาณ ๒ เมตร ความสูงของเตาอั้งโล่โบราณประมาณ ๒ เมตร ด้านล่างสุดใส่ฟืนได้ด้านที่ใส่ฟืนก็อยู่ช่วงพื้นที่ต่ำด้านล่าง ส่วนด้านบนของเตาเผาอิฐโบราณ ตั้งอยู่บนเนินดินสูง สามารถยืนทำอาหารรอบๆ กระทะได้อย่างสะดวกสบาย

               

 

คุณลุงสุนทรโมราศิลป์ยังเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า นอกจากเตาอั้งโล่โบราณใบนี้แล้ว ยังมีเตาอั้งโล่โบราณของทหารพระเจ้าตากสิน ที่มีขนาดเล็กๆ กว่านี้ อยู่ทั่วๆ ไปรอบๆ บริเวณเขาขุนพนม เพราะเหตุใด ? เตาอั้งโล่สมัยโบราณ ที่มีอายุ ๒๐๐ กว่าปี รอบๆ เขาขุนพนม เกิดขึ้นได้อย่างไร

 

***************

 

เรื่อง : “บ้านร้าง” กับเส้นทางเดินทหารพระเจ้าตาก ความเชื่อหรือความจริง!
               

คุณลุงสุนทร โมราศิลป์ ได้พาผู้เขียนมาที่บ้านร้างหลังหนึ่ง  ห่างจากวัดเขาขุนพนมไม่มากนัก คุณลุงสุนทรชี้ไปที่บ้านร้างหลังนี้ พร้อมกับเล่าให้ฟังว่า  เดิมบ้านหลังนี้ เจ้าของที่ดินมาสร้างบ้านไว้เพื่ออยู่อาศัย ที่แปลกก็คือ ใครก็ตามที่จะมาอยู่บ้านหลังนี้สร้างไม่เสร็จสักราย แม้จะเปลี่ยนเจ้าของมาหลายครั้ง ทุกคนต่างบอกเล่าเป็นเสียงเดียวกันว่า มักจะฝันร้ายว่า

              

 “วิญญาณทหารมาปรากฏร่างสูงใหญ่แววตาดุดัน มาบอกในความฝันด้วยเสียงดุดันว่า เส้นทางนี้คือทางเดินของทหารพระเจ้าตากสิน ที่ทหารเหล่านี้ยังคงเดินมาถวายอารักขาพระเจ้าตากสิน และบ้านหลังนี้สร้างทับเส้นทางเดินของทหาร ไม่ว่าใครก็ตามมาอยู่ไม่ได้เด็ดขาด”

               

ในที่สุดบ้านหลังนี้ ที่ตั้งอยู่ใกล้เขาขุนพนมก็ไม่เคยสร้างเสร็จ ถูกทิ้งร้างไว้ถึงทุกวันนี้ นี่คือเรื่องเล่าในชุมชน ที่ชาวบ้านเชื่อกันเช่นนี้ ท่านใดสนใจเชิญเดินทางไปพิสูจน์ความจริงได้ด้วยตัวเอง ผู้เขียนไม่ขอแสดงความคิดเห็นใดๆ เพียงแต่บอกเล่าให้ฟังเท่านั้น

 

*****************

 

เรื่อง : นามสกุลบอกที่มา “เหล่าขุนทหารพระเจ้าตากสิน” 
               

คุณลุงสุนทร โมราศิลป์ เล่าให้ฟังว่าพื้นที่รอบๆ เขาขุนพนม อำเภอพรหมคีรีแห่งนี้ ชาวบ้านในพื้นที่ต่างรู้ดีกันว่าหลังจากพระเจ้าตากสินสิ้นพระชนม์ เหล่าขุนทหารต่างก็แต่งงานมีครอบครัวรอบๆ เขาขุนพนม และเรื่องนี้ต่างก็รู้ในลูกหลานในพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องที่มาของนามสกุลในชุมชนพื้นที่รอบๆ เขาขุนพนม รวมทั้งข้อมูลจากหนังสือ “นครศรีธรรมราช” เขียนโดย วิเชียร ณ นคร, สมพุทธ ธุระเจน, ชวน เพชรแก้ว, ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์, ปรีชา นุ่นสุข พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๑ สรุปที่มา “นามสกุล” ในพื้นที่รอบๆ เขาขุนพนม ซึ่งจะขอนำมาเพียงส่วนหนึ่งบางส่วน ดังนี้

               

๑. ตระกูลทหารที่ดูแลความปลอดภัยให้พระเจ้าตากสิน บ้านใดที่เป็นอดีตขุนทหาร ชาวบ้านรอบๆ เขาขุนพนมจะมีทั้ง “หอก ดาบโบราณ และศาสตราวุธมากมาย” เป็นมรดกตกทอดจากบรรพชน นามสกุลที่ใช้ถึงทุกวันนี้ ก็จะมีคำว่า “คีรี” นำหน้าเป็นส่วนใหญ่ เช่น นามสกุล “คีรีกัณฑ์, คีรีคช, คีรีนาถ, คีรีเพชรฯ”

               

๒. ตระกูลใดที่เป็นมหาดเล็กรับใช้ส่วนพระองค์พระเจ้าตากสิน จะใช้นามสกุลว่า “กรดกางกั้น”

 

๓. นามสกุลที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ดูแลพระองค์ จะใช้ชื่อตระกูลว่า “ชูโอสถ”

 

๔. ตระกูลที่เป็นแม่ทัพจากระยอง ลูกหลานยืนยันว่า บรรพชนเล่าสืบต่อให้ฟังว่า แม่ทัพจากระยอง ชื่อ "ชัย" จึงใช้นามสกุลว่า “ชัยเมืองยอง”

 

๕. ตระกูลที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ ช่วยตกแต่งเขาขุนพนมเมื่อ ๒๐๐ กว่าปีมาแล้ว เป็นที่พำนักสุดท้ายให้กับพระเจ้าตากสินด้วยความจงรักภักดี กระทั่งเป็นโบราณสถานในทุกวันนี้ คือ “ตระกูลโมราศิลป์” ของคุณลุงสุนทร โมราศิลป์ นี่คือเรื่องราวที่พ่อแม่ปู่ย่าตาทวดเล่าถึงที่มาต้นตระกูลให้ลูกหลานฟังสืบต่อกันมาถึงทุกวันนี้

               

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของตระกูลขุนทหาร ที่บรรพชนบอกเล่าสืบต่อกันมาถึงลูกหลานรอบๆ เขาขุนพนม ใครมีโอกาสไปเยือนเขาขุนพนม ลองไปสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ดูน่ะค่ะ

 

*************

 

เรื่อง : “คนพรหมคีรีพูดข้าหลวง”
               

ลูกหลานชาวพรหมคีรีดั้งเดิม มักจะคุ้นชินภาษาข้าหลวงจาก “ปู่ย่าตาทวด” แต่รุ่นหลังๆ ก็เลือนหายไปตามกาลเวลา แต่ผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะได้ยินภาษาข้าหลวงมาตั้งแต่เด็ก เป็นเรื่องคุ้นชิน สมัยก่อนคนนครศรีธรรมราชจะการขนานนามชาวพรหมคีรีว่า “คนพรหมคีรีพูดข้าหลวง” ด้วยภาษาพูดที่ไม่เหมือนที่ไหนๆ อาทิเช่น

๑. คำว่า “ไปทม (บรรทม) ได้แล้ว” หมายถึง “ไปนอนได้แล้ว”
๒. “เหวย (เสวย) แล้วยัง” หมายถึง “กินข้าวแล้วหรือยัง”
๓. “กลด” หมายถึง “มุ้ง”

 

ด้วยภาษาพื้นถิ่นภาคใต้ มักจะพูดสั้นๆ คำราชาศัพท์ จึงพูดสั้นลง ตามแบบภาคท้องถิ่นใต้ จึงเป็นเรื่องแปลกที่น่าสนใจไม่น้อย เหตุใดคำราชาศัพท์กลายเป็นคำพูดปู่ย่าตาทวดสืบต่อกันมา ในครอบครัวดั้งเดิมในพื้นที่รอบๆ เขาขุนพนม อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช เช่นนี้

               

ทุกเรื่องราว มีหลักฐานยืนยันและมีที่มาชัดเจน ทั้งผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟัง บางท่านก็อายุ ๑๐๐ กว่าปีแล้ว เกิดอะไรขึ้นกับเรื่องราวรอบๆ เขาขุนพนมแห่งนี้ ผู้เขียนไม่สามารถอธิบายได้ เพียงแต่เป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดให้ทุกท่านได้ทราบ มีความเป็นไปได้หรือมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงไร แล้วแต่ท่านจะใช้วิจารณญาณด้วยตนเอง

 

เชิงอรรค :
๑. ขอบคุณข้อมูลจาก คุณตากล่อม พลพันธ์, คุณลุงสุนทร โมราศิลป์ ผู้เฒ่าผู้แก่ ณ ตำบลบ้านเกาะ อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช
๒. พระเจ้าตากสินยังไม่ตาย. ว.วรรณพงษ์, ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ 
๓. นครศรีธรรมราช , วิเชียร ณ นคร, สมพุทธ ธุระเจน, ชวน เพชรแก้ว, ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์, ปรีชา นุ่นสุข, พ.ศ. ๒๕๒๑
๔. โบราณสถานเขาขุนพนม, สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๑๑ นครศรีธรรมราช กรมศิลปากร, พ.ศ. ๒๕๔๑