วันศุกร์ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 12:12 น.

อื่นๆ » คอลัมน์

ไลฟ์สไตล์

บ้านเมือง : วันศุกร์ ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2562, 10.55 น.

กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในรัชสมัยกรุงธนบุรี

โดย ว.วรรณพงษ์

 

อีกไม่นาน คนไทยทั้งในประเทศและทั่วโลกจะได้เห็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เสด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ  บดินทรทรเทพยวรางกูล ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย  ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  กราบบังคมทูลในนามของปวงชนชาวไทย  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้น  ในระหว่างวันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒  ถึง วันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒  โดยในวันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย  และสถาปนาฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศานุวงศ์ จากนั้น เสด็จเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมาตร

 

ด้วยสำนึกในสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ผู้เขียนจึงใคร่ขอเทิดพระเกียรติคุณสถาบัติพระมหากษัตริย์ไทยจึงใคร่ขอย้อนเรื่องราว   “กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค” ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี ดังที่ปรากฏใน “พระราชพิธีอัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบาง” เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๔ เพื่อให้คนไทยทุกคนได้ภาคภูมิใจในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ศูนย์รวมใจแห่งความจงรักภักดีของไทยทั้งชาติตั้งแต่อดีตตราบกระทั่งถึงปัจจุบันนี้

 

ก่อนอื่นจะกล่าวถึงความเป็นมา “พระแก้วมรกต”  จากหลักฐานที่ตรงกันระบุว่าพบครั้งแรก ประดิษฐาน ณ เจดีย์วัดป่าญะ (ปัจจุบันคือวัดพระแก้ว ตำบลเวียง   อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย) ในปี พ.ศ. ๑๙๗๗  ฟ้าได้ผ่าลงองค์พระเจดีย์พังทลายลง พบ “พระพุทธรูปพอกปูนลงรักปิดทอง” จึงนำไปไว้ในวิหาร ต่อมาปูนที่หุ้มกระเทาะแตกออก บริเวณพระนาสิก ทำให้เห็นสีเขียวภายใน  เมื่อกระเทาะปูนออกทั้งองค์  จึงเห็นพระพุทธรูปเนื้อหยกสีมรกตทั้งองค์

 

พระเจ้าสามฝั่งแกน” แห่งเชียงใหม่  ทราบข่าวการค้นพบพระพุทธรูปนี้ จึงอัญเชิญมาประดิษฐานที่เชียงใหม่ แต่ช้างทรงพระแก้วมรกตไม่เดินไปเชียงใหม่ แต่ช้างทรงพระแก้วมรกตกลับเดินไปทางลำปาง  เชียงใหม่เห็นว่าลำปางก็อยู่ในอาณาจักรล้านนา จึงอัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐานที่  “วัดพระแก้วดอนเต้า” จังหวัดลำปาง

 

สมัย “พระเจ้าติโลกราช” ได้เชิญพระแก้วมรกตมายังเชียงใหม่   สร้างปราสาทประดิษฐานไว้แต่ถูกฟ้าผ่าหลายครั้ง เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาแห่งล้านช้าง ซึ่งเป็นญาติกับราชวงศ์ล้านนา  มาครองเมืองเชียงใหม่ คราพระเจ้าไชยเชษฐาเสด็จกลับหลวงพระบาง ก็เชิญพระแก้วมรกตไปด้วยพร้อมกับพระพุทธสิหิงค์ ทางเชียงใหม่ขอคืน ก็ได้แต่พระพุทธสิหิงค์  เมื่อล้านช้างย้ายเมืองหลวงจากหลวงพระบางมาเวียงจันทน์   ก็เชิญพระแก้วมรกตลงมาด้วย

 

**************

 

จากพระราชพงศาวดาร ฉบับ พระราชหัตถเลขา ความว่า กองทัพเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกแม่ทัพใหญ่ ได้ชัยชนะอาณาจักรล้านช้างแล้วบอกให้ “ขุนหมื่น” ถือหนังสือลงมายังกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงทราบในหนังสือก็ทรงโสมนัส ดำรัสให้ตรากองทัพกลับยังพระมหานคร  จึงได้อัญเชิญ “พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” หรือ “พระแก้วมรกต” และพระบาง กลับมายังกรุงธนบุรีโดยพระราชกำหนด ทั้งนี้กองทัพถึงเมืองสระบุรีในเดือนยี่ ปีกุล เอกศก ศักราช ๑๑๔๑ (กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๒๔) จึงบอกลงมากราบทูลพระกรุณาให้ทราบ สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงมีพระราชดำรัสให้นิมนต์สมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะทั้งปวง ให้ขึ้นไปรับพระแก้วมรกตและพระบางถึงเมืองสระบุรี แล้วให้แต่งเรือชัยเรือกิ่งขึ้นไปรับพระพุทธรูปด้วย

 

 

ครั้นมาถึงตำบลบางธรณี  สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปรับทางชลมารค พร้อมด้วย “กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค” ในพระราชพิธีอัญเชิญ “พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” หรือ “พระแก้วมรกต” และพระบาง อย่างยิ่งใหญ่ โดยได้ประดิษฐาน ณ วัดอรุณราชวราราม ซึ่งเป็นเขตพระราชวังเดิม ในรัชสมัยกรุงธนบุรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๔

 

ต่อมาในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงอัญเชิญ “พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” หรือ “พระแก้วมรกต” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทย  ลงบุษบกในเรือพระที่นั่ง  เสด็จข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มาประดิษฐานยัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (หรือ วัดพระแก้ว) ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร จนถึงปัจจุบัน ส่วนพระบางได้คืนให้แก่ลาวไปแล้

 

*************

 

 

จากนี้ไปจะขอกล่าวถึง “กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค” จากหลักฐานที่ปรากฏใน  “หมายรับสั่งสมเด็จพระเจ้าตากสิน”  พระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี ความว่า “ณ วันอังคารแรม ๒ ค่ำ เดือน ๓  จุลศักราช ๑๑๔๓  ปีกุน  เอกศก (เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๔)  เสด็จออกท้องพระโรง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ เสด็จขึ้นไปรับพระแก้วมรกต ณ วันพฤหัสบดี  แรม ๔  ค่ำเดือน ๓ เวลาตี ๑๑ ทุ่ม ถึงท่าเจ้าสนุก  ณ วันศุกร์แรม ๕  ค่ำ เดือน ๓  ครั้น ณ วันอังคาร  แรม ๙  ค่ำ  พระแก้วมรกตมาถึงท่าเจ้าสนุก 

 

ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันพุธแรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๓  ปีกุน   เอกศก    ตั้งการสมโภช  ให้มีเครื่องเล่นต้นกัลปพฤกษ์ สามวันสามคืน    กลางวันมีละครหลวงวิชิตณรงค์หนึ่งโรง    ช่อระทาสามโรง  เพลงนายอ้นนายดีหนึ่งวง ปรบไก่นายแก้ว    อำแดงนุ่นหนึ่งวง  ญวนหก    กลางคืนหนังโรงใหญ่พระราชสุภาวดีหนึ่งโรง หมื่นแก้วโรงหนึ่ง   ต้นกัลปพฤกษ์วันละสี่ต้น   ดอกไม้มีระทาสีระทา    จุดทั้งสามคืน

 

ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันเสาร์แรม  ๑๓ ค่ำ เพลาเช้า    แห่พระแก้วพระบางไปลงเรือต้น  ตะพานเรือเก่าฟากตะวันตก เป็นเรือพระที่นั่งสิบสามวา ทรงพระแก้วลำหนึ่ง   เรือพระที่นั่งสิบห้าวา  ซึ่งถวายพระสงฆ์วัดฉลักทรงพระบางลำหนึ่ง  โขมดยาทองทึบใส่พระคัมภีร์ลำหนึ่ง  เรือคู่แห่พระราชาคณะ โขมดยาใหญ่สี  โขมดยาน้อยสามสิบสาม    รวมโขมดยาสามสิบเจ็ด   เรือศีรษะนกสิบ  เรือพระสงฆ์กราบสิบเอ็ด เรือพระห้าสิบเจ็ดลำ  เรือดั้งมีละครและพิมพ์พาทย์ครบหกลำ 

 

เรือกราบขึ้นไปรับ “พระแก้วพระบาง” สองลำ   เรือพระที่นั่งกรมขุนอินทรพิทักษ์ลำหนึ่ง    เรือตามเสด็จในกรมหก  ข้าทูลละอองสิบหกรวมยี่สิบสอง   รวมเป็นเรือขึ้นไปยี่สิบห้าลำ  เรือกราบลงมาแต่กองทัพ เรือแฝงหก   เรือข้าทูลละอองยี่สิบ   รวมยี่สิบหกลำ  รวมเรือกราบข้างฝ่ายคฤหัสถ์ห้าสิบเอ็ดลำ  รวมเรือแห่ทั้งปวงร้อยสิบห้าลำ   แห่ลงมาประทับแรมขนาดน้ำประจำท่า พระราชวังหลวง (กรุงธนบุรี)

 

ครั้นรุ่งขึ้น วันอาทิตย์ แรม ๑๔  ค่ำ เดือน ๓  แห่  (ขบวนแห่พระแก้วมรกตและพระบาง) มาประทับแรมอยู่ที่ประทับสามโคก

 

 ครั้นรุ่งขึ้น วันจันทร์ ขึ้น ๑  ค่ำ  ถึงพระตำหนักบางธรณี   เพลาค่ำวันอาทิตย์  แรม ๑๔ ค่ำเดือน ๓   ณ วันจันทร์ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๔  ให้จุดดอกไม้เพลิงสองคืน   มีดอกไม้รุ่ง ๕ ขด  ฝอยทอง กังหัน ช่อม่วง และดอกไม้น้ำ ณ วันขึ้น ๕  ค่ำ  เดือน ๕  ลุศักราช ๑๑๔๒   (พ.ศ. ๒๓๒๔)  ปีชวด  โทศก รับสั่งให้ข้างในลงเรือประพาสสี่ลำ ข้างหน้าสี่ลำ  ให้เจ้านครฯ (เจ้านครศรีธรรมราช หนู) แต่งเรือประภาสสองลำ  รวมหกลำด้วยกัน  ให้พร้อมสรรพแต่ตีสิบเอ็ด

 

 

ครั้น ณ วันอังคาร ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๔    เสด็จขึ้นไปรับพระแก้วมรกต ณ พระตำหนักบางธรณี ครั้นเวลาบ่ายสามโมง ทรงให้แห่ลงมา ณ นครธนบุรี   กระบวนแห่หน้าเครื่องเล่นโขนลง สามป้าน หลวงรักษาสมบัติหนึ่ง งิ้วลงสามป้านพระยาราชาเศรษฐีหนึ่ง    หลวงรักษาสมบัติหนึ่ง  รวมงิ้วสองลำ  ละครไทยหมื่นเสนาะภูบาลลำหนึ่ง หมื่นโวหารภิรมย์ลำหนึ่ง   ละครเขมรหลวงพิพิธวาทีลงเรือสามป้านลำหนึ่ง ปี่กลองหลวงโชฏึกลำหนึ่ง   ญวนหกลงเรือลำหนึ่ง หุ่นลาวลงเรือกุแหละลำหนึ่ง มโหรีไทยหลวงวิชิตธารา มโหรีฝรั่งหลวงศรียศ  มโหรีเขมรพระองค์แก้วลำหนึ่ง เรือดั้งเรือโขมดยาลงมาชักเรือละครรำสาม   รามัญเรือหนึ่ง ปลายเชือกสองหลัก   สามป้านสี่คู่ชักเรือพระที่นั่งทรงหนึ่ง  (เรือประเทียบ)  แปดลำ

 

เรือพระเจ้าลูกเธอยี่สิบสาม   เรือคู่แห่ชักแปดสิบสี่    รวมเรือกราบร้อยสิบสองลำ แห่หลัง เรือเครื่องเล่นงิ้วญวนสองลำ เรือกราบแห่สิบหก  รวมสิบเก้า  รวมเป็นเรือขึ้นไปรับถึงบางธรณี ๑๕๔  ลำ บรรจบกับที่แห่ลงมา  รวมเป็นเรือ ๒๔๖ ลำ

 

พระแก้วมรกตมาขึ้นที่ “ตะพานป้อมต้นโพธิ์”  ปากคลองนครบาล (กรุงธนบุรี) คงจะอยู่เบื้องเหนือหน้าพระอุโบสถ (วัดอรุณราชวราราม)  สัสดีเกณฑ์ให้ตั้งราชวัตรฉัตรเบญจรงค์รายทาง และล้อมรอบโรงพระแก้ว ตั้งขบวนแห่มีเครื่องสูง กลองชนะคู่  แห่สี่สิบแห่ เข้าประตูรามสุนทรมาไว้ในโรง”

 

นี่คือพระราชพิธี “กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค” เป็นกระบวนเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำที่เป็นราชประเพณีไทยที่มีแต่โบราณ ดังที่ปรากฏในรัชสมัย “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” พระมหากษัตริย์ผู้ก่อตั้งอาณาจักรธนบุรี โดยมีกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคยิ่งใหญ่เกรียงไกร สืบมาถึงปัจจุบัน

 

***************

 

ย้อนประวัติความเป็นมาสักนิด “กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค” เป็นกระบวนเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำที่เป็นราชประเพณีไทยที่มีมาแต่โบราณ ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย สืบเนื่องมากระทั่งถึงกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะในรัชสมัย “สมเด็จพระนารายณ์มหาราช” พระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ ๒๗  ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีกระบวนเรือเพชรพวง ซึ่งเป็นเรือริ้วกระบวนที่ใหญ่มาก  เรือในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคมีการ “สลักโขนเรือเป็นรูปสัตว์ในเทพนิยาย”  

   

ตามบันทึกของ นิโคลาส แชแวร์ ราชทูตฝรั่งเศส ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ซึ่งเดินทางเข้ามาในสมัยนั้น ได้บันทึกไว้ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์แห่งราชอาณาจักรสยาม” ถึงกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค ไว้ว่า

 

"ไม่สามารถเทียบความงามกับขบวนเรืออื่นใดได้ เป็นขบวนเรือที่มโหฬาร มีเรือกว่า ๒๐๐  ลำ โดยมีเรือพระที่นั่งพายเป็นคู่ๆ ไปข้างหน้า เรือพระที่นั่งนั้น ใช้ฝีพายของพวกแขนแดงที่ได้รับการฝึกพายมาจนชำนาญ ทุกคนสวมหมวก เสื้อ ปลอกเข่า ปลอกแขน มีทองคำประกอบ เวลาพายพร้อมกับเป็นจังหวะจะโคน พายนั้นก็เป็นทอง เสียงพายกระทบเป็นเสียงประสานไปกับทำนองเพลงยอพระเกียรติของพระเจ้าแผ่นดิน"

 

นี่คือ ความยิ่งใหญ่เกรียงไกรกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ดังที่เราทั้งหลายได้ชมในพระราชพิธีสำคัญที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ สืบมาถึงพระราชพิธีสำคัญในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ในกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๑๐ ที่ยังคงสืบทอดความรุ่งเรืองเกรียงไกรที่คนไทยทุกคนควรภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้เกิดใต้ร่มพระบารมีพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ด้วยพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมอย่างหาที่สุดมิได้

 

*******************

 

เชิงอรรค : ๑. พระราชพงศาวดาร ฉบับ พระราชหัตถเลขา กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

 ๒.  พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี แผ่นดินพระบรมราชาที่ ๔ (พระเจ้าตากสิน) พ.ศ. ๒๔๗๒

 ๓. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประยูร พิศนาคะ, เกษมบรรณกิจ พ.ศ. ๒๕๐๙

 ๔. ประวัติศาสตร์แห่งราชอาณาจักรสยาม นิโคลาส แชแวร์ ราชทูตฝรั่งเศส

 ๕. กระบวนพยุหยาตราชลมารค ฉลองสิริราชสมบัติ ๖๐ ปี