วันเสาร์ ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 09:35 น.

อื่นๆ » คอลัมน์

ไลฟ์สไตล์

บ้านเมือง : วันศุกร์ ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2562, 15.49 น.

๑๘ มกราคม ของทุกปี วันยุทธหัตถี วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และวันกองทัพไทย

โดย ว.วรรณพง

 

ย้อนเหตุการณ์ไป ๔๒๗ ปีมาแล้ว สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงชนะศึกยุทธหัตถี ระหว่างไทยกับพม่า เป็นการต่อสู้บนหลังช้าง  ถือเป็นยอดยุทธวิธีการรบอย่างกษัตริย์สมัยโบราณที่สมพระเกียรติยิ่ง

 

เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๓๕  พระเจ้านันทบุเรง โปรดให้พระมหาอุปราชา นำกองทัพทหารสองแสนสี่หมื่นคน มาตีกรุงศรีอยุธยาหมายจะชนะศึกในครั้งนี้ สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบว่าพม่าจะยกทัพใหญ่มาตี  จึงทรงเตรียมไพร่พล มีกำลังหนึ่งแสนคนเดินทางออกจากบ้านป่าโมกไปสุพรรณบุรี แล้วตั้งค่ายหลวงบริเวณ หนองสาหร่าย จังหวัดสุพรรณบุรี

 

 

เช้าวันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๓๕ ตรงกับวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๑๓๕ สมเด็จพระนเรศวรทรงเครื่องพิชัยยุทธ พระองค์ทรงช้าง นามว่า “เจ้าพระยาไชยานุภาพ” ในระหว่างการรบสมเด็จพระนเรศวร และช้างทรง  “เจ้าพระยาไชยานุภาพ” ต่อสู้และวิ่งไล่ตามกองทัพพม่า   กระทั่งหลงเข้าไปในเขตกองกำลังทัพหลวงพม่าที่มีนับแสน  ครานั้นมีเพียงทหารรักษาพระองค์และจาตุรงค์บาทเท่านั้นที่ติดตามทันเท่านั้น

 

“สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ” ทรงนิพนธ์พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรเป็นที่ประทับใจยิ่ง  ในตอนนี้ว่าขณะนั้นช้างพระที่นั่งสมเด็จพระนเรศวร กับ ช้างพระที่นั่งสมเด็จพระเอกาทศรถ เป็นช้างชนะงากำลังตกมันทั้งสองช้าง ครั้นเห็นช้างข้าศึกกลับหน้าพากันหนี ก็ออกเล่นไล่ไปโดยเมาน้ำมัน  พาพระสมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถเข้าไปในหมู่ข้าศึก มีแต่จตุลังคบาทกับทหารรักษาพระองค์ตามติดไปเท่านั้น รี้พลที่รบไล่ข้าศึกตามข้างพระที่นั่งไม่ทัน  เพราะในขณะนั้นกำลังรบพุ่งกันโกลาหล ฝุ่นฟุ้งตลบจนมืดมัวไปทั่วทิศ  พวกนายทัพนายกองไม่เห็นว่าช้างพระที่นั่งไปถึงไหนพวกข้าศึกก็ไม่เห็นพระองค์ถนัด  แม้แต่องค์สมเด็จพระนเรศวรเองก็ไม่ทรงทราบว่าไล่ข้าศึกไปถึงไหน

 

 

กระทั่งเวลาฝุ่นจาง สมเด็จพระนเรศวรทอดพระเนตรไปเห็น พระมหาอุปราชาทรงพระคชสาร ยืนพักช้างอยู่ในร่มไม้กับข้างท้าวพระยาอีกหลายช้าง จึงทรงทราบว่า ช้างพระที่นั่ง “เจ้าพระยาไชยานุภาพ” นำพาพระองค์ไล่ไปจนถึงกองทัพหลวงของข้าศึก

 

สมเด็จพระนเรศวรทรงมีพระสติมั่นไม่หวั่นไหวแกล้วกล้าอาจหาญ คิดเห็นในทันทีว่า ทางที่จะเอาชนะได้มีอยู่อย่างเดียว  พระองค์จึงขับช้างพระที่นั่ง “เจ้าพระยาไชยานุภาพ” ตรงไปยังหน้าช้างพระมหาอุปราชา  ครานั้น สมเด็จพระนเรศวรทรงตรัสไปโดยฐานที่คุ้นเคยกันมาแต่ก่อนว่า

 

“เจ้าพี่...จะยืนช้างอยู่ในร่มทำไม เชิญเสด็จมาทำยุทธหัตถีกันให้เป็นเกียรติยศเถิด”

 

****************

 

ทั้งๆ ที่ขณะนั้น สมเด็จพระนเรศวรทรงช้าง “เจ้าพระยาไชยานุภาพ”  พร้อมด้วยพระเอากาทศรถ ทรงช้าง “เจ้าพระยาปราบไตรจักร” พร้อมด้วยจตุลังคบาทกับทหารรักษาพระองค์ตามติดไปน้อยนิดแค่หยิบมือเดียวเท่านั้น  อยู่ในท่ามกลางข้าศึกอันเป็นฝ่ายตรงกันข้ามนับแสน  ทหารข้าศึกที่สะพรั่งมืดมนจนแลลันตาก็หาทำให้พระองค์ทรงหวาดหวั่นพรั่นพรึงไม่

 

 

พระมหาอุปราชาได้ยินดังนั้น จึงไสช้างนามว่า “พลายพัทธกอ” เข้าชนช้าง “เจ้าพระยาไชยานุภาพ” ทันใดนั้นพระมหาอุปราชาทรงฟันสมเด็จพระนเรศวรด้วยพระแสงของ้าว แต่สมเด็จพระนเรศวรทรงเบี่ยงหลบทัน จึงฟันถูกพระมาลาหนังขาด จากนั้นช้าง “เจ้าพระยาไชยานุภาพ” ชน “พลายพัทธกอ” เสียหลัก คราวนี้สมเด็จพระนเรศวรทรงฟันด้วยพระแสงของ้าวถูกพระมหาอุปราชาเข้าที่อังสะขวา สิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง

 

ทหารพม่าเห็นว่าแพ้แน่แล้ว จึงใช้ปืนระดมยิงใส่สมเด็จพระนเรศวรได้รับบาดเจ็บ ทันใดนั้นทัพหลวงไทยตามมาช่วยทัน จึงรับพระองค์กลับพระนคร พม่าจึงยกทัพกลับกรุงหงสาวดีไป

 

สมเด็จพระนเรศวรทรงเป็นยอดนักรบที่เด็ดเดี่ยวกล้าหาญและทรงมีพระปรีชาญาณไหวพริบเป็นเลิศ อย่างไรก็ตาม  ควรอย่างยิ่งที่จะยกย่อง “พระมหาอุปราชา” แห่งเมืองพม่าว่า เป็นยอดวีรกษัตริย์พระองค์หนึ่งเช่นกัน ด้วยเป็นสงครามยุทธหัตถีที่เทิดพระเกียรติยศเกรียงไกรสองแผ่นดินอย่างสมพระเกียรติในการทำศึกระหว่างไทยกับพม่าครั้นนั้น นับแต่นั้นมาก็ไม่มีกองทัพใดกล้ายกมากล้ำกรายกรุงศรีอยุธยา ด้วยพระบารมี จึงทำให้แผ่นดินไทยร่มเย็นเป็นสุขว่างเว้นจากการศึกสงครามพม่า เป็นเวลาถึง ๑๐๐ ปีเศษ การทำยุทธหัตถีในครั้งนั้น ถือว่าเป็นการทำยุทธหัตถีที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย

               

ไม่มีพระองค์ท่าน ไม่มีบรรพบุรุษของเรา และอาจไม่มีเราในวันนี้ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์เป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้

 

เชิงอรรค : ๑. พระราชพงศาวดาร ฉบับ พระราชหัตถเลขา กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

 ๒. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประยูร พิศนาคะ, เกษมบรรณกิจ พ.ศ. ๒๕๐๙

  ๓.สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ไทยรบพม่อักษรเจริญทัศน์, ๒๕๔๖