วันเสาร์ ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 09:06 น.

อื่นๆ » คอลัมน์

บ้านเมืองพระเครื่อง

อ. วันชัย : วันเสาร์ ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2562, 13.49 น.

“เป่า ลาดชะโด” พ่อและปู่ชี้ทางฝันให้เป็นจริง จากเด็กช่างตัดผมก้าวเป็นเซียนพระดัง

 

           

 

♦♦♦ “บ้านลาดชะโด” อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบ้านเกิดของ กิตติ บุรุษชาติ หรือ “เป่า ลาดชะโด” เซียนพระติดอันดับของวงการพระเครื่องในปัจจุบัน เป็นรองประธานชมรมพระเครื่องอำเภอผักไห่ หนึ่งในหลายอำเภอของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พื้นเพคนย่านนี้มีชื่อเสียงโด่งดังกว่า 100 ปีจากแพตลาดเก่าแก่ริมน้ำของชาวจีนรู้จักกันดี “ตลาดลาดชะโด” ปัจจุบันพัฒนาเป็นเป็นตลาดน้ำสองริมฝั่งคลองบ้านลาดชะโด ที่สำคัญบ้านของเป่า ลาดชะโด อยู่ใกล้วัดลาดชะโด จึงเป็นวัดถิ่นกำเนิดหรือวัดบ้านเกิดของ “ตระกูลบุรุษชาติ” นับแต่ครั้งบรรพบุรุษถึงปัจจุบันจะไปทำบุญสุนทานกันที่วัดนี้แหละ

           

 

♦♦♦ “เป่า ลาดชะโด”  เติบโตและเรียนหนังสือที่โรงเรียนลาดชะโดสามัคคี กลับจากโรงเรียนจะเห็นคุณพ่อและเพื่อนๆคุณพ่อนั่งส่องพระเครื่องที่ต่างก็มีนำมาอวดกันเกือบทุกวัน ทำให้ซึมซับความสนใจชื่นชอบพระเครื่องมาตั้งแต่เด็ก คุณพ่อยังเคยบอกให้ดูไว้บ้างนะลูก พระเหล่านี้เป็นพระเครื่องพื้นบ้านเราและของชาวอยุธยาอีกด้วย เอ๊ะถ้าอย่างนั้นเท่ากับว่าคุณพ่อต้องมีพระกรุพระเก่าเยอะละซิ เป่า ลาดชะโดตอบทันทีว่า ใช่ครับ คุณพ่อผมท่านสนใจและชื่นชอบพระพื้นบ้านอยุธยามาก เพราะจังหวัดอยุธยาเป็นเมืองพุทธที่มีวัดวาอารามเยอะสร้างครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีคนเรียกขานเป็นตำนานว่า “เมืองกรุงเก่า” เช่นวัดป่าแก้วหรือวัดใหญ่ชัยมงคล  วัดพนัญเชิง  วัดมงคลบพิตร  วัดกษัตราธิราช วัดบางนมโค  วัดพระญาติการาม วัดบางกระทิง วัดบ้านกร่าง เหรียญพระเกจิคณาจารย์พื้นบ้านท่านมีหมดโดยเฉพาะพระวัดบ้านเกิดเหรียญหลวงพ่ออิ่มวัดลาดชะโด เหรียญหลวงพ่อเคลื้มวัดโพธิ์เผือก  พระหลวงพ่อปานวัดบางนมโค และพระวัดบ้านกร่างเป็นต้น

         

 

♦♦♦  ผู้ชี้ทางให้เป่า ลาดชะโด “หาอาชีพติดตัวไว้วันข้างหน้า เราไม่รู้อนาคตจะเป็นอย่างไร” คือใครครับ เป่าบอกเลยว่าคุณปู่ผมเอง ท่านชื่อ คุณปู่สละ บุรุษชาติ  ท่านมองกาลไกลท่านรู้ว่าทุกคนต้องมีงานมีอาชีพเลี้ยงครอบครัวดูแลพ่อแม่ได้ คุณพ่อผมจึงพาผมไปฝากเพื่อนที่เป็นช่างตัดผมให้ไปหัดตัดผมตั้งแต่ผมยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 3 วัดหยุดเรียนก็ไปฝึกตัดผมกระทั่งตัดผมเป็นมีความชำนาญขึ้นเริมมีลูกค้ามีรายได้ส่งตัวเองเรียนหนังสือ ตั้งแต่ มัธยมปีที่ 4 – 6  รู้มาว่า เป่า ลาดชะโด ไม่รออายุครบการเกณฑ์ทหารอายุ 20 ปีจึงเรียกไปเกณฑ์ทหารจริงไหมครับ จริงครับพี่  พออายุได้ 18 ปี มีประกาศทางราชการรับสมัครเข้าราชการทหาร จึงสมัครไปเป็นทหารได้รับคัดเลือกเป็นช่างตัดผมทหาร  จึงต้องห่างเหินพระเครื่องไปพักหนึ่ง หลังจากได้ปลดประจำการจากทหารแล้วกลับมาเป็นช่างตัดผมที่ร้านในอำเภอผักไห่ ระหว่างนั้นได้เริ่มเก็บสะสมพระเครื่องที่ชื่นชอบไว้หลายอย่างโดยเฉพาะพระหลวงพ่อปานวัดบางนมโคเป็นพระที่ชื่นชอบมาแต่เด็ก จึงซื้อเก็บไว้หลายองค์หลายพิมพ์ มั่นใจแค่ไหนครับที่เช่าหาบูชาพระเครื่องเอง เป่า ส่ายหัว ผมให้คุณพ่อดูแล้วท่านบอกให้ผมนำไปให้ “เฮียตี๋ห่อ” อยู่ อ.เสนาพ่อบอกคนนี้เก่งมาก จึงไปหาให้ดูแล้วทั้งหมดไม่มีพระแท้เลย ผมเลยถาม เฮียตี๋ห่อ ว่าพระแท้เป็นยังไง ท่านได้นำพระแท้หลวงพ่อปานมาให้ดูทั้งกล่อง และกำชับผมให้ดูไว้นะแท้เป็นอย่างนี้

          

 

♦♦♦ เป่า ลาดชะโด ถาม เฮียตี๋ห่อ ว่า มีสักองค์ไหมที่ราคาเบาๆจะเอาไปศึกษา มีองค์นี้ราคาหนึ่งหมื่นบาท(20 ปีที่ผ่านมา) แล้วเป่า เอามาไหมครับ เป่าบอกผมมีเงินเยอะขนาดนั้นซะที่ไหนละพี่ ผมจึงบอกท่านไปว่ามีเงินไม่พอ เฮียตี๋ห่อ ให้โอกาสผมกลับไปรวบรวมเงินจะเก็บพระไว้ให้ ผมจึงไปขายสร้อยคอทองคำหนัก ๑ บาท นำเงินไปซื้อพระหลวงพ่อปานพิมพ์เม่นเล็ก เป็นองค์แรกถือได้ว่าเป็นพระองค์ครูที่ทำให้ผมได้ศึกษาพระหลวงพ่อปานวัดบางนมโคว่าพระแท้ๆต้องเป็นเช่นไร ผมเลี่ยมทองคลองคอบูชาท่านตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

         

 

♦♦♦ “เปลี่ยนใจเปลี่ยนอาชีพจากช่างตัดผมเป็นเซียนพระมันดีตรงไหน” เป่า ลาดชะโด บอกผมศึกษาพระหลวงพ่อปานองค์แรกที่ซื้อเป็นพระองค์ครูและสอบถามผู้รู้กระทั่งสามารถซื้อขายได้เอง จึงมองว่าพระเครื่องเป็นอาชีพได้ มีรายได้มากว่าช่างตัดผม จึงออกเดินซื้อหาสะสมพระที่ชอบจากสนามพระในจังหวัดอยุธยา ที่สุพรรณบุรี สนามพระวัดพระรูป หน้าวังจันทร์เกษม  ตลาดเสนา สนามพระวัดป่าเรไร จึงรู้จักเซียนพระเยอะขึ้นและยังไปเดินตามงานประกวดพระ ทั้งต่างจังหวัดและใน กทม. กระทั่งเพื่อนชวนไปเปิดร้านที่เดอะสะกายศูนย์พระเครื่องที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดอยุธยา มีคุณเด่น อยุธยา เป็นผู้บริหาร ปัจจุบันยังมีร้านอยู่ที่นั่นครับ และเปิดร้านอยู่บนห้าพันธุ์ทิพย์งามวงศ์วานชั้น 2 อีกแห่งหนึ่งชื่อ “ร้านเป่า ลาดชะโด”  

           

 

♦♦♦ “เป่า ลาดชะโด” ฝากข้อคิดในฐานะเดินอยู่บนเส้นทางพระเครื่องด้วยความจริงใจว่า ปัจจุบันพระเครื่องเล่นยากกว่าเมื่อ 20 ปีก่อน สมัยนี้มีวิวัฒนาการได้เหมือน จึงต้องควรพิจารณาให้ถ่องแท้ ความเก่าเป็นธรรมชาติ  พิมพ์ทรง ตำหนิต้องรู้และจดจำจากของแท้ดั่งเดิม โดยเฉพาะพระหลวงพ่อปานทำได้ใกล้เคียงมาก เป่า ลาดชะโดจึงมีคำนิยามหรือสโลแกนประจำใจว่า “สวยไม่จัด แต่ชัดเจน” เชิญแวะเยี่ยมชมแลกเปลี่ยนความรู้ซื้อขายได้ที่ ร้าน เป่า ลาดชะโดศูนย์พระเดอะสกายอยุธยาและที่พันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน โทร.085 -4229466 Facebook กิตติ เป่า ลาดชะโด