วันพฤหัสบดี ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 03:50 น.

อื่นๆ » คอลัมน์

บ้านเมืองพระเครื่อง

อ. วันชัย : วันเสาร์ ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2563, 17.18 น.

เซียนพระ“ปริญญากี่ใบ ไม่เรียนก็โอกาสเท่ากัน” “แก๊ป ท่าพระจันทร์” สำคัญที่ความอดทน

♦♦♦  “แก๊ป ท่าพระจันทร์” ภัคธร ประสาททอง หนึ่งในผู้ที่ชื่นชอบอาชีพนี้ ส่วนตัวแล้วมองต่างมุม ต้องหาความแตกต่างกับเพื่อนร่วมอาชีพที่ค้าขายในที่เดียวกันให้จงได้จึงจะอยู่รอด ต้องเบี่ยงเบนหันเหไปศึกษาและสะสมในสิ่งที่ตนเองชอบและไม่ซ้ำซ้อนมือใหญ่ในสถานที่เดียวกัน มันจะไม่ได้ขาย ผมชอบทั้งพระเครื่องและเครื่องรางยังต้องเบี่ยงเบนไปเอาดี “เครื่องราง” ชนิดที่ต้องศึกษาให้รู้จริงเชี่ยวชาญจริงและซื้อขายได้ด้วยตัวเองอย่างมีคุณธรรม

        

 

♦♦♦ ภัครธร ประสาททอง หรือ แก๊ป ท่าพระจันทร์ เป็นคนกรุงเทพฯ บ้านอยู่เจริญนคร เขตคลองสาน ไม่ไกลจากสะพานพระพุทธยอดฟ้า มีสนามพระดังคือตลาดพระพญาไม้เป็นตลาดพระที่เก่าแก่แห่งหนึ่งในย่านฝั่งธนบุรี สมัย ช่างสะพานพุทธ อ.บิ วงเวียนเล็ก และอีกหลายๆคนเป็นเซียนพระที่มีชื่อเสียงในย่านนี้ คุณพ่อผมเป็นคนชอบสะสมพระเครื่องช่วงผมยังเด็กอยู่คุณพ่อส่งไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน ยอแซฟอุปถัมภ์ อยู่สามพราน นครปฐม ตรงปากซอยมีแผงหนังสือพระเครื่องวางขาย ประมาณปี 2534 ตนเองได้เห็นรูปพระรูปเหรียญช้างสามเศียรเป็นเหรียญบาทรัชกาลที่ 5 บนหน้าปกบอกราคา 3 หมื่น เหมือนกับเหรียญของคุณพ่อที่มีอยู่ถึง 5 เหรียญ คิดในตอนนั้นว่าต้องมีราคาแพง จึงซื้อหนังสือกลับไปช่วงปิดเทอมกลับบ้านจึงได้ไปเทียบดูเหรียญของคุณพ่อก็เหมือนกัน และได้นำไปสนามพระวัดราชนัดดา เซียนพระบอกของปลอม ตรงนี้แหละครับเป็นจุดกำเนิดที่ทำให้แก๊ป ท่าพระจันทร์สนใจเรื่องพระเครื่องมากขึ้น

           

 

♦♦♦  พ.ศ.2541 ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย มศว.ประสานมิตร คณะพละศึกษา วิชาเอกสันทะนาการ มีเพื่อนคนหนึ่งบ้านอยู่ใกล้วัดละหารไร่ จ.ระยอง เพื่อนแนะนำให้เอาสีผึ้งหลวงปู่ทิมไปใช้ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีราคาเอาไปใช้แล้วได้ผลดีมาทางเมตตามหาเสน่ห์จึงใช้มาตลอด  ทำให้แก๊ป ท่าพระจันทร์ชื่นชอบและสนใจเครื่องราง ในช่วงเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ปี 2 ถึงปี 4 จำได้ว่าสะสมสีผึ้งหลวงปูทิมและสีผึ้งหลวงพ่อทาบวัดกระบกขึ้นผึ้ง จ.ระยอง รวมแล้วกว้า 30 ตลับ

           

 

 

♦♦♦  จบปริญญาตรีแล้ว แก๊ปไปทำงานมีเงินเดือนจึงเริ่มออกเดินสนามพระเครื่อง “ตลาดพระเครื่องพญาไม้” ใกล้บ้านที่สุดอยู่ข้างสะพานพุทธนั่นแหละ เดินเช่าบูชาพระเครื่องที่ชอบเห็นอะไรชอบเป็นซื้อทั้งที่ไม่มีความรู้ 5 ปี หมดเงินไปมากโข วันหนึ่งมีโอกาสไปจังหวัดตรังได้พบกับผู้ใหญ่ใจดีคนหนึ่งเป็นช่างตัดผม ฉายา “โก๋ กรรไกรคู่” เป็นนักสะสมพระและเครื่องรางที่มีราคาไว้พอสมควรได้นำมาให้ดูจึงรู้ว่าพระเครื่องและเครื่องรางที่เราซื้อเก็บไว้ไม้แท้  ถามว่าท้อแท้ไหมครับ แก๊ป ท่าพระจันทร์ตอบทันที “ไม่ครับกลับทำให้เราคิดเดินหน้าต่อถ้าหยุดเล่นก็ต้องทิ้งเงินไปทั้งหมด” จึงค้นคว้าศึกษาหาความรู้จากตำราสิ่งใดไม่รู้ก็ไถ่ถามผู้รู้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์หลังเลิกงานวัดหยุดตลอดมาไปทั้งงานประกวดพระ สนามพระที่โด่งดัง ท่าพระจันทร์ พันธุ์ทิพย์งามวงศ์วาน โอกาสดีเหมือนวาสนาพาไปได้พบเจอกับนักสะสมพระเครื่องและเครื่องรางรุ่นน้องคนหนึ่งเป็นชาวราชบุรีที่บ้านสะสมเครื่องรางไว้เยอะได้ไปดูแล้วเป็นของจริงทั้งหมด ทำให้ตนต้องเองไขว่คว้าหาผู้รู้ที่เก่งจริงให้ได้จึงตัดสินใจไปพบ อ.ธิ ท่าพระจันทร์ ที่สนามพระท่ามหาราชทั้งที่ไม่รู้จักมาก่อน เพียงแค่ได้ยินได้ฟังและเห็นทางโซเซียลจึงรู้ว่าท่านเป็นคนดีมีชื่อเสียงและมีคุณธรรม

           

 

♦♦♦  แก๊ป ท่าพระจันทร์ ได้เข้าไปขอเป็นศิษย์  อ.ธิ ปฏิเสธตลอดมาหลายต่อหลายครั้งที่แก๊ปไปหาท่านบอกเพียงว่าอย่าเพิ่งเลย แต่ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่นเป็นเรื่องจริง แก๊ปไม่หมดความพยายามไปอ้อนวอนขอร้องท่านจนวันหนึ่ง อ.ธิ ท่าพระจันทร์ใจอ่อน ให้ไปหา อ.ตี๋เหล้า ท่าพระจันทร์ขอใช้ฉายา ท่าพระจันทร์และจะมาเปิดร้านอยู่ที่ท่ามหาราชนี่แหละ หลังได้รับอนุญาตให้ใช้ฉายานี้แล้วเปิดร้านอยู่ที่นี่จนถึงทุกวันนี้ อ.ธิ ได้ชี้แนะให้ความรู้ให้ดูพระแท้พระหลักทำให้แก๊ปมีความรู้มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น และยังโชคดีที่นั่นมีร้านของ อ. มิ้ง จักรวรรดิ มือใหญ่สายพระเบญจภาคีจึงมีโอกาสได้ดูและศึกษาพระชุดเบญจภาคีอีกด้วย

           

 

♦♦♦ ความคิดที่ก้าวไกลในแวดวงการค้าวัตถุมงคล ในส่วนตัว แก๊ป ท่าพระจันทร์ คิดว่าควรจะหาความแตกต่าง เพราะในสนามพระท่ามหาราช ยังไม่มีเซียนพระที่เล่นหาซื้อขายเครื่องรางอย่างจริงจัง ถ้าตนเองเล่นหาซื้อขายพระเครื่องโดยเฉพาะพระชุดใหญ่คงไม่ได้ขายแน่ เพราะรอบข้างมีแต่มือใหญ่จึงทำให้ตนเองเบี่ยงเบนมาสนใจเครื่องรางที่ตนเองชื่นชอบและดูได้อยู่แล้วมากขึ้น และที่นี่มีคนนำเครื่องรางมาขายและมีผู้สนใจมาให้ตนซื้อและขายจึงได้ดูเครื่องรางทุกวัน

          

♦♦♦  ถามว่า “เป็นเซียนเครื่องราง” แล้วใช้เครื่องรางหรือเปล่าครับ แก๊ป ท่าพระจันทร์ ยืดอกหยิบให้ดูที่ใช้ติดตัวเป็นของหายากมี 3 อย่างนี้ครับ 1.ตะกรุดไมยราพ หลวงพ่อกุน วัดพระนอน จ.เพชรบุรี 2.ตะกรุดอีแปะ หลวงพ่ออินทร์ วัดไทรม้าใต้ จ. นนทบุรี 3. ตะกรุดเทวดาขี่เสือ หลวงพ่อน้อย วัดป่ายาง จ.อุตรดิตถ์ และยังฝากขอบคุณสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยที่จัดหมวดหมู่มาตรฐานเครื่องรางที่เคยเล่นกันแค่ชอบทำให้นักสะสมรายใหม่มีมาตรฐานกำหนดในการเล่นหา และยังแนะนำด้วยว่าคนเล่นเครื่องรางต้องเป็นคนช่างสังเกตและศึกษา อย่าท้อแท้ ต้องรู้ถึงวิธีการทำ การถักลายเชือกต่างเมืองที่จะแตกต่างกันเช่นคนเพชรบุรีพื้นฐานดีทางการถักอวนถักแหจะมีลายถักสวยงาม

           

 

♦♦♦ แก๊ป ท่าพระจันทร์ ปัจจุบันเปิดร้านใหญ่ให้บริการทั้งพระเครื่องและเครื่องรางอยู่ถึง 2 แห่งที่ ท่ามหาราชชั้น 2 และที่ ห้างพระเครื่องบิ๊กซีเพชรเกษม ฝากข้อคิดให้นักสะสมรุ่นใหม่ไว้อย่างน่าฟังว่า  “คุณธรรมเป็นเรื่องสำคัญผู้ขายต้องมีคุณธรรมรับผิดชอบ พระแท้เครื่องรางแท้ย่อมขายได้ อาชีพเซียนพระเป็นอาชีพที่ดี คุณจะจบปริญญาตรี โท ม.3 หรือไม่ได้เรียนก็มีโอกาสเท่ากัน จะแตกต่างกันที่คุณธรรม”