วันพฤหัสบดี ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2567 23:51 น.

อื่นๆ » คอลัมน์

บ้านเมืองพระเครื่อง

อ. วันชัย : วันอาทิตย์ ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2563, 12.31 น.

พระเด่นคนดัง (23 ม.ค.63)

 

        

 

♦♦♦ “พระผงสุพรรณ”เป็นพระเครื่องเลื่องชื่อ 1 ในพระชุดเบญจภาคีทีมีศิลปะงดงามพุทธศิลป์ยุคอู่ทองเป็นพระเนื้อดินเผา พบบรรจุอยู่ในพระเจดีย์วัดพระศรีมหาธาตุจังหวัดสุพรรณ จากการวิเคราะห์แล้วพบว่าสร้างจากดินละเอียดไม่มีกรวดทรายปะปน  เนื้อพระไม่แข็งกระด้างดูชุ่มฉ่ำที่เรียกว่าหนึกนุ่มถูกเหงื่อจะเป็นมันเงางาม คนโบราณเรียกพระองค์นี้ว่า “พระเกสรสุพรรณ” ด้านหลังมีลายหัวแม่มือคนโบราณ ที่เรียกว่าก้นหอย มีหลักฐานจารึกลานทองกล่าวว่า พระฤาษีอัญเชิญเทวดามาช่วยกันทำพิธี ให้เอาว่านทำเป็นผงก้อน พิมพ์ด้วยลายมือของมหาเถร ปิยะหัสสะสี  ศรีสาลีบุตร ผู้เป็นประธาน พระผงสุพรรณองค์นี้อยู่ในความครอบครองของ MR.Ng Kok Seng


           

 

 

♦♦♦ “พระสมเด็จจิตรลดา” พระสมเด็จจิตรลดาเป็นพระเครื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงสร้างด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง และพระราชทานให้แก่ข้าราชบริพาร ทหาร ตำรวจ และพลเรือน พระสมเด็จจิตรลดาสร้างขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2508 – 2513 โดยมีศาสตราจารย์ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ เป็นผู้แกะแม่พิมพ์ถวาย มวลสารประกอบด้วยเรซินและผงพระพิมพ์ บดรวมกับเส้นพระเจ้า ด้านหลังปิดทอง พระสมเด็จจิตรลดาองค์นี้ปี 2511 เคยอยู่ในความครอบครองของข้าราการเกษียรณ ปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของ ดร.คมสัน  สุวรรณรุจิ


        

 

 

♦♦♦ “พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยมวัดสะพานสูง” หลวงปู่เอี่ยม ท่านเชี่ยวชาญด้านวิปัสสนาเป็นพระเถราจารย์ที่ทำให้วัดสะพานสูงมีความสำคัญเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วประเทศในความศักดิ์สิทธิ์ของพระที่ท่านจัดสร้าง พระปิดตาของท่านเป็นพระเนื้อผงคลุกรัก พระปิดตารุ่นแรกของท่านมีทั้งพิมพ์ชะลูด พิมพ์ตะพาบ พิมพ์พนมมือ สร้างในสมัยเดียวกับสมเด็จวัดระฆัง ประมาณปี 2410 เป็นพระพิมพ์ประกบจึงมีรอยตะเข็บ พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยมจะมีเนื้อหยาบแก่ว่าน และเนื้อละเอียด ใครได้ลองสูดดมจะได้กลิ่นชันยาเรือหลวงปู่ขูดจากเรือที่พายรับบาตร พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยมวัดสะพานสูงองค์นี้พิมพ์ชะลูดใหญ่ หรือคนโบราณชอบเรียกว่าพิมพ์ว่าวจุฬา  พระองค์นี้เป็นของอาจารย์เซีย เซียนพระรุ่นเก่าปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของ อ.เคี้ยง ยศเส ชมรมพระเครื่องมณเทียร


        

 

 

♦♦♦ “พระหลวงพ่อเงินพิมพ์นิยม เอ.” หลวงพ่อเงินวัดหิรัญญาราม หรือวัดบางคลาน จังหวัดพิจิตร ท่านได้อนุญาตให้มีการหล่อรูปเหมือนแทนตัวท่านเพื่อเป็นอนุสรณ์ เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของศิษยานุศิษย์ และผู้เลื่อมใสศรัทธา เมื่อท่านล่วงลับไปแล้วจะได้แวะเวียนกันมากราบไหว้ ท่านจึงอนุญาตให้จัดสร้างเป็นรูปหล่อลอยองค์พิมพ์นิยมและพิมพ์ขี้ตา  เหรียญจอบใหญ่ เหรียญจอบเล็ก ใช้ขบวนการแบบหล่อโบราณคือใช้ดินขี้วัวพอกหุ่นเทียนก่อนเททอง เมื่อถูกความร้อนคราบดินขี้วัวมีฝังแน่นในองค์พระอันยากแก่การปลอมแปลง  พระหลวงพ่อเงินพิมพ์นิยม เอ.องค์นี้อยู่ในความครอบครองของ “ดามพ์ สุพรรณ” รังสรรค์ ทับแก้ว” ร้านอยู่พันธุ์ทิพย์งามวงศ์วานชั้น 3


           

 

 

♦♦♦ “เหรียญหลวงปู่ทวดรุ่นเลื่อนสมณศักดิ์” จัดสร้างขึ้นในโอกาสที่หลวงปู่ทิมวัดช้างให้ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท พัดขาวฝ่ายวิปัสสนา เมื่อปี 2508 ในสมัญญานามเดิมคือ พระครูวิสัยโสภณ  จัดสร้างเนื้อทองคำไม่เกิน 20 เหรียญ  เนื้อเงินหลักร้อย  เนื้ออัลปาก้า  3,000 เหรียญ  เหรียญอัลปาก้าชุบนิเกิล 10,000 เหรียญและเนื้อทองแดงรมดำ 2,000 เหรียญ สำหรับเหรียญนี้เนื้ออัลปาก้าชุบนิเกิ้ล ตัวตัดหยาบนิยม ของ พีท เมืองกาญจน์ ร้านไทยศิลป์ ชั้น 3 พันธุ์ทิพย์งามวงศ์วาน


           

 

 

♦♦♦ “หลวงพ่อดิษฐ์วัดปากสระพิมพ์ใหญ่” พระสังกัจจายน์ หลวงพ่อดิษฐ์ วัดปากสระ จ.พัทลุง พิมพ์ใหญ่หายาก เป็นพระเทหล่อโบราณสร้างปี พ.ศ.2485 ท่านมีสมณศักดิ์เป็นพระครูเนกขัมมาภิมณฑ์ (ดิษฐ์ ติสฺสโร) ท่านเป็นพระเกจิดังทางด้านไสยศาสตร์ในจังหวัดพัทลุงพระของท่านจึงมีพุทธาคมด้านมหาอุดอยู่ยงคงกระพัน พระสังกัจจายน์หลวงพ่อดิษฐ์ได้รับขนานนามว่า “บางคลานแดนใต้” องค์นี้สวยจัด เอี่ยง ปู่ยีนส์ คนพัทลุงบุกเช่ามาจาก แบงค์ ตะกั่วป่า 1,100,000 บาท


        

 

 

♦♦♦ “พระหลวงพ่อปานพิมพ์ทรงครุฑใหญ่”  พิมพ์เอ.หรือลึกนิยม  หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค หรือพระครูวิหารกิจจานุการ ท่านบวชเมื่อปี พ.ศ.2438 ท่านได้เสาะหาขอวิชาจากครูบาอาจารย์หลายองค์เช่น หลวงพ่อเนียมวัดน้อย  หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน  พระอาจารย์จีนวัดเจ้าเจ็ด สุดท้ายเดินทางเข้ากรุงเทพไปฝากตัวศึกษาอยู่ที่วัดสระเกศนานถึง 4-5 ปี ท่านมรณภาพปี 2481 อายุ 63 ปี ท่านสร้างพระเครื่องราวปี พ.ศ. 2460 เป็นรูปพระพุทธนั่งสมาธิบนหลังสัตว์ 6 ชนิด  ครุฑ หนุมาน เม่น ปลา และนก มาถึงวันนี้ พระของท่านสร้างมากว่า 100 ปีจึงมีคุณค่ามหาศาล เป็นที่ต้องการของทุกคนเล่นหาราคาไม่ตก องค์นี้มีใบรับรองพระแท้ของสมาคมฯ ปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของใหญ่ สุรินทร์ พันธ์ทิพย์งามวงศ์วานชั้น 3


        

 

 

♦♦♦  “เหรียญเจ้าสัว 2 วัดกลางบางแก้ว” เหรียญเจ้าสัว 2 สร้าง ปี พ.ศ.2535 ตามตำรับเจ้าสัวหลวงปู่บุญ เพื่อทางวัดจะนำรายได้ไปสมทบสร้างพิพิธภัณฑ์พระพุทธวิถีนายก พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลทรงเป็นประธาน หลวงปู่เจือศิษย์หลวงปู่เพิ่มเป็นผู้จารอักขระแผ่นยันต์มากมาย มีมวลสาระสำคัญเยอะเช่น พระกริ่งวัดสุทัศน์ พระกริ่งนเรศวร  พระกริ่งวัดบวร กริ่งทักษิณ  แผ่นยันต์สมเด็จพระญาณสังวร หลวงพ่อคูณ การจัดสร้างมีทั้งเนื้อทองคำ เงิน  นวะ ทองแดง ตอกโค้ดทุกเหรียญ เหรียญนี้ของคุณบอย เชียงราย ร้านอยู่หน้าห้องอาจารย์ต้อยเมืองนนท์ พันธุ์ทิพย์


           

 

 

♦♦♦ “พระเชียงแสนพิมพ์ใบข้าว กรุกู่เต้า” พระเครื่องเมืองเชียงแสน ได้บันทึกและกล่าวถึงไว้ในหนังสือของอาจารย์ต้อย เมืองนนท์ อมตะพระกรุเล่มแรก หน้า 710 ว่าศิลปะวัตถุของเมืองเชียงแสนที่มีชื่อเสียงมาก ได้แก่ พระพุทธรูปเนื้อสำริดเชียงแสนสิงห์หนึ่ง อยู่ในยุคของแสนแซ้ว เป็นพระที่มีอายุสูงสุดเลิศล้ำและพระสกุลเชียงแสนสิงห์ต่างๆ ส่วนพระเครื่องสร้างเป็นพระเนื้อตะกั่วสนิมแดง เช่น พระที่ลงโชว์อยู่นี้เป็นพระเชียงแสนใบข้าว มีพบที่กรุวัดข้อและกรุวัดกู่เต้า คนรุ่นใหม่ไม่รู้จักกันแล้ว เป็นพระเนื้อตะกั่วสนิมแดงศิลปะงดงาม พบไม่มากจึงหาดูยาก องค์นี้ คุณธัลดล บุนนาค เช่าบูชาจากเซียนใหญ่ศูนย์พระมณเทียรไว้กว่า 20 ปีแล้วจึงนำมาให้ดูเป็นวิทยาทาน


           

 

 

♦♦♦ “พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์เกศบัวตูม” ขึ้นชื่อว่าพระสมเด็จวัดระฆังย่อมเป็นที่ต้องการมีไว้ครอบครองด้วยบารมีของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ผู้สร้างมีเจตนาดีมีมวลสารดีพระมีอายุเป็นร้อยปีจัดเป็นวัตถุโบราณไปแล้ว พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์เกศบัวตูมองค์นี้ ผู้เป็นเจ้าของดั่งเดิมยุคก่อนๆ ได้พระมาจะต้องหาวิธีเก็บรักษาให้คงทนถาวรจึงมักจะลงรักหรือลงน้ำหมากเพื่อเคลือบไว้ให้มีสภาพเดิมแม้ถูกใช้มาบ้างก็ยังไม่สึกกร่อนมากนัก จึงมีตกทอดมาถึงรุ่นพวกเราได้ครอบครองกัน เพียงแค่คำกล่าวที่เล่าบอกว่ามวลสารของท่านทำด้วยผงวิเศษ ผงปถมัง ผงอิทธิเจ ผงมหาราช ผงพุทธคุณ และผงตรีนิสิงเห พุทธคุณด้านเมตตามหานิยมก็เป็นเลิศประเสริฐล้นแล้ว องค์นี้อยู่ในความครอบครองของคุณกิตติ เจนกำจรชัยนักธุรกิจคนดังเมืองหาดใหญ่


        

 

 

♦♦♦ “รูปหล่อหลวงพ่อเงินวัดบางคลาน พิมพ์นิยม” เป็นพระเครื่องรูปหล่อโบราณเนื้อโลหะผสม เป็นงานหล่อแบบฝีมือของช่างโรงงานบ้านช่างหล่อ บางกอกน้อย จึงมีความประณีตสวยงามกว่าพิมพ์ขี้ตาที่เป็นฝีมือช่างชาวบ้านยุคนั้น องค์นี้ปิดทองมาแต่ดั้งเดิม เป็นพระของนักสะสมรังเก่าในวงการแบ่งให้บูชา จัดว่าเป็นพระรูปหล่อพิมพ์นิยมที่มีความงดงามด้วยบุญบารมีของ คุณวิกรานต์ ชุติมาภรณ์ ผู้เป็นเจ้าของจึงมีวาสนาได้มาไว้ครอบครอง ปัจจุบันราคาไม่ตก เล่นหากันเป็นล้าน


        

 

 

♦♦♦ “พระนางพญาพิมพ์อกนูนใหญ่” พระนางพญา วัดนางพญา จ.พิษณุโลก กล่าวขานกันว่าพระวิสุทธิกษัตรีย์ มเหสีของสมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงสร้างไว้ในราว พ.ศ. 2090-2100  ทราบว่ายังนำมาบรรจุที่วังหน้าและวัดอินทรวิหารด้วย พระนางพญาพิษณุโลกเป็นศิลปะสกุลสุโขทัยบริสุทธิ์สร้างในคราวที่มีการปฏิสังขรณ์วัดราชบูรณะถูกพบครั้งแรกในปี พ.ศ.2444  มีทั้งพิมพ์เข่าโค้ง เข่าตรง อกนูนใหญ่ อกนูนเล็ก พิมพ์สังฆาฏิและพิมพ์เทวดา สำหรับพระนางพญาพิษณุโลกพิมพ์อกนูนใหญ่องค์นี้ ท่านผู้เป็นเจ้าของ ดร.ชัยพร พิบูลย์ศิริ ได้ใช้และมีประสบการณ์มาแล้วเป็นพระที่มีพุทธคุณด้านเมตตาดีมากและยังโดดเด่นในเรื่อแคล้วคลาดคงกระที่ไม่ธรรมดา จึงขอนำมาบอกกล่าวให้ผู้มีครอบครองต้องรักษากันไว้เป็นมรดกลูกหลาน