วันศุกร์ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 16:50 น.

อื่นๆ » คอลัมน์

บ้านเมืองพระเครื่อง

อ. วันชัย : วันเสาร์ ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2563, 14.39 น.

“พระยอดขุนพล” ขุนศึกสนามรบภูหินร่องกล้า ผู้การเฉิด “พลตรีเฉิดวิทย์ กองจินดา”

        

♦♦♦ “ความสุข” อยู่ไม่ไกล อยู่ที่ใจเรานี่เอง “พลตรีเฉิดวิทย์ กองจินดา”  รำลึกถึงครูบาอาจารย์ในวงการพระเครื่องแม้ผ่านมากว่า 30 ปีแล้วก็ตามยังอยู่ในความทรงจำของ “ผู้การเฉิด” ตลอดมา อาทิ อาจารย์สมศักดิ์ จวงสวัสดิ์ อาจารย์วิวัฒน์ เรือพรสวัสดิ์  อาจารย์เชิดชัย เสตสุวรรณ (เฮี่ยง้ำ) อาจารย์บรรจง จงปัญญางาม(จั๊ว ตลาดพลู) อาจารย์ฮั้ว ลพบุรี อาจารย์เทพ เชียงราย อาจารย์เทพ ฤาษี กำนันชูชาติ มากสัมพันธ์และอาจารย์สามารถ นุชอ่อง ท่านเหล่านี้เป็นผู้ที่ให้ความรู้ให้ความจริงเรื่องพระเครื่องทุกครั้งที่มีโอกาสได้พูดคุยตลอดหลายปีที่พบเจอ

 

           

♦♦♦ “สนามพระเครื่องวัดราชนัดดาและสนามพระท่าพระจันทร์” 30 ปีก่อนอยู่ในที่แคบเดินผ่านตรอกเล็กเข้าไปซ้ายขวาเต็มไปด้วยแผงพระเครื่องร้านค้าที่จำต้องอยู่กันอย่างแออัดและคับแคบหากจะเทียบกับสนามพระยุคปัจจุบันมันคนละเรื่อง ที่นั่นมีแต่กูรูผู้รู้เรียกว่าปรมาจารย์ด้านพระเครื่องหรือยุคนั้นเรียกท่านว่า “เซียนใหญ่” สายตรงเต็มไปหมด ผู้การเฉิด กอบโกยความรู้จากกูรูเหล่านั้นทุกครั้งที่ได้พูดคุยได้ดูได้ส่องพระเครื่องที่ท่านมีอยู่และเพิ่งซื้อเข้าร้าน โดยเฉพาะพระชุดเบญจภาคี พระปิดตายอดนิยม พระหล่อโบราณ เหรียญพระเกจิรุ่นเก่า และพระกรุต่างๆกำลังมาแรงในยุคนั้น

 

 

♦♦♦พลตรีเฉิดวิทย์ กองจินดา นักสะสมพระเครื่องผู้มีจิตใจขาวสะอาดมีมิตรไมตรีเป็นสุภาพชนคนต้นแบบในวงการพระเครื่อง ท่านยกย่องเชิดชูสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยที่ทำให้วงการนี้เป็นที่รู้จักและยอมรับทั้งในประเทศชาติและต่างประเทศ และยกย่องบุคคลากรของสมาคมที่อนุรักษ์พระเครื่องซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาหลายชั่วอายุคนให้คงอยู่สืบไป ถือว่าเป็นมรดกล้ำค่าของคนในชาติที่สำคัญยิ่งให้ตกทอดถือลูกหลาน มีการจัดประกวดพระอนุรักษ์พระเครื่องพระบูชาเหรียญคณาจารย์และเครื่องรางไทย

 

 

♦♦♦ “พระยอดขุนพล” เป็นพระเครื่องที่แสดงถึงอำนาจบารมี มีอานุภาพทางคงกระพันชาตรีและแคล้วคลาด  มีการสร้างมาแต่สมัยโบราณ ตั้งแต่สมัยลพบุรี สุโขทัย อยุธยามาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ “พลตรีเฉิดวิทย์ กองจินดา” นำพระในดวงใจที่ผ่านสนามรบพบกับสิ่งมหัศจรรย์แคล้วคาดปลอดภัยมาได้อย่างปาฏิหาริย์  (1) พระร่วงหลังรางปืน จักรพรรดิแห่งพระเนื้อชิน เบญจภาคีพระยอดขุนพล กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุโขทัย โบราณสถานที่นี่อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ผู้รู้กล่าวไว้สันนิษฐานขอมเป็นผู้สร้าง ด้านหลังเป็นร่องลักษณะคล้ายร่องปืนแก๊ปเนื้อตะกั่วสนิมแดง องค์นี้อยู่กับผู้การเฉิดวิทย์มากว่า 30 ปี (2)พระพุทธชินราชใบเสมา พิมพ์ฐานสูงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก  เป็นพระศิลปะแบบสุโขทัยลังกาวงศ์ผสมผสานกับศิลปะเขมรสิ่งที่แปลกใจคือพุทธลักษณะขององค์พระมีความงดงามเข้มขลังนับว่าเป็นหนึ่งในพระยอดขุนพลที่ได้รับความนิยมสูงสมัยรัชกาลที่ 5 มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายแจกจ่ายผู้ติดตาม(3) พระหูยาน ลพบุรี หนึ่งในพระชุดเบญจภาคีเนื้อชิน จัดเป็นพระยอดขุนพลระดับประเทศเป็นพระศิลปะอู่ทองแตกกรุปี 2450 วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรีและปี 2508 แตกกรุอีกครั้งเป็นพระกรุใหม่ว่ากรุเก่ากรุใหม่ล้วนเป็นเลิศด้านคงกระพันชาตรีตามแบบฉบับขอม พระหูยาน อกกากบาทนิยมสุดกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี เป็นพระเนื้อชินเงิน (4) พระท่ากระดาน กรุศรีสวัสดิ์เมืองกาญจน์ หนึ่งในเบญจภาคีพระยอดขุนพลเนื้อชินด้วยอายุการสร้างประมาณปี พ.ศ. 1800-2031 กว่า 500 ปี สนิมไขและสนิมแดงจึงหนาแน่นส่วนใหญ่ลงรักปิดทองมาแต่เดิม สมัยก่อนเรียกท่ากระดานเกศคด ตาแดงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะได้รับการยกย่องเป็นขุนศึกแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง

 

 

♦♦♦ “ผู้การเฉิด” ผ่านสนามรบภูหินร่องกล้า ฝ่าดงกระสุนข้ามห้วยเหวเทือกเขาในพื้นที่สีแดงถูกซุ่มโจมตีได้รุ่นพี่ที่ชื่อ ผู้พันเหลา ธีรวัฒน์ เอมะสุวรรณ สนับสนุนเครื่องบินโอวีเท็นยิงรอดพ้นออกไปถึงฐานปืนใหญ่นครไทย เพชรบูรณ์ พลตรีเฉิดวิทย์ กองจินดา ได้รับความเมตตาจากหลวงพ่อทบ วัดชนแดนเป่ากระหม่อมและมอบเสื้อยันต์ให้มาด้วย ภายหลังได้เข้าเรียนหลักสูตรเสนาธิการทหารบก จบแล้วไปปฏิบัติหน้าที่กองกำลัง ผบ.เฉพาะกิจไทย มาเลเซีย และกลับไปปฏิบัติหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน พบกับตัวจริงผู้การเฉิดได้ที่ร้านพระเครื่องของเขาเอง ชั้น 2 ตึกแดง ตรงข้างตลาดนัดจตุจักร ทุกเสาร์และอาทิตย์