วันพฤหัสบดี ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 22:54 น.

อื่นๆ » คอลัมน์

บ้านเมืองพระเครื่อง

อ. วันชัย : วันอาทิตย์ ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2563, 11.12 น.

พระเด่นคนดังบ้านเมือง (27ก.ย.63)

“พระสมเด็จจิตรลดา ฝีพระหัตถ์ในหลวง ร.9”

 

 

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสร้างพระสมเด็จ หลวงพ่อจิตรลดาในปี 2508 - 2512 ณ พระตำหนักจิตรดาได้จำนวนไม่เกิน 3,000 องค์ เป็นพระเครื่องพิมพ์เดียวในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างด้วยฝีพระหัตถ์ ด้วยพระประสงค์พระราชทานแก่ผู้ประกอบคุณงามความดีต่อแผ่นดินและข้าราชบริพาร หลายระดับ ผู้ที่ได้รับต่างถือเป็นสิริมงคล ด้วยบารมีของพระองค์ดลบันดาลให้พระสมเด็จจิตรลดาเปี่ยมด้วยพุทธคุณอำนวยชัยให้แก่ผู้บูชาตลอดกาล พระสมเด็จจิตรลดาองค์นี้ ปี 2510 ผู้ครองคือ พลเอก เชวงศักดิ์ ทองสลวย รองนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย


 

“พระหลวงพ่อปาน วัดบางนมโคพิมพ์เม่นบัวโค้ง”

 

 

พระหลวงพ่อปานวัดบางนมโค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระเนื้อดินเผารูปพระพุทธเจ้าทรงสัตว์เป็นพาหนะ ปัจจุบันเป็นพระเครื่องที่สูงค่าโดดเด่นทั้งพิมพ์ทรงและศิลปะขององค์พระที่ไม่เหมือนใคร สองข้างองค์พระมีอักขระยันต์ อุ มะ และอุ อะ หัวใจพระรัตนตรัย  อายุการสร้างกว่า 100 ปี หลวงพ่อปานพิมพ์เม่นมีแม่พิมพ์หลายตัว เม่นบัว 2 ชั้น 8 จุด เม่นบัว 2 ชัน 7 จุด  เม่นมังกร เม่นบัวโค้ง เม่นเล็กฐานมีเส้น เม่นเล็กบัวชั้นเดียว สำหรับพระหลวงพ่อปานพิมพ์เม่นบัวโค้งองค์นี้จัดว่าสวยมากหลายท่านกล่าวว่าเป็นพระสวยแชมป์ประเทศไทย อยู่ในความครอบครองของเซียนพระดัง อ.อ๊อด เลี่ยมทอง พันธุ์ทิพย์งามวงศ์วานชั้น 3 สนใจไปพบได้คนนี้ไม่หวงยินดีแบ่งปัน


 

“พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ฐานแซม” 

 

 

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ฐานแซมมีใบรับรองพระแท้สมาคมฯผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย เมื่อ 12 กันยายน พ.ศ.2561 องค์นี้จัดเป็นพระสุดยอดแห่งพระเครื่องหนึ่งในพระชุดเบญจภาคีที่สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสีท่านจัดสร้างไว้ แม้จะเป็นพระที่มีการฝนด้านบนให้โค้งมนอาจเนื่องมาจากคนสมัยเก่ารุ่นปู่ย่าตาชวดไม่มีสิ่งห่อหุ้มป้องกันพระชำรุดเสียหายจึงมักจะนำพระมาดัดแปลงให้มีสภาพสวยงามตามที่ชื่นชอบแล้วถักด้วยเชือกป่านหรือมีกรอบพระเก่ารูปร่างโค้งมนด้านบนจึงฝนทิ้งก็อาจเป็นได้หลายสาเหตุ แต่ยังคงสภาพองค์พระไม่เสียหายแตกหักยังคงสภาพสมบูรณ์ดีกว่าพระหักครึ่ง องค์นี้ของ Associate Professor Dr.komsun นักสะสมพระมาตรฐาน


        

“แหนบหลวงพ่อโสธรเนื้อทองคำลงยา ปี 09”

 

 

แหนบทองคำลงยาหลวงพ่อโสธร วัดโสธรแปดริ้ว พิมพ์หน้าใหญ่นิยม ถ้าเอ่ยถึงหลวงพ่อโสธรทุกคนรู้ว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแปดริ้ว จังหวัดฉะเชิงเทราเท่าที่มองเห็นปัจจุบันเป็นพระพุทธรูปหน้าตัดกว้าง 1.65 เมตร  สูง 1.48 เมตร ผู้รู้กล่าวองค์จริงหลวงพ่อโสธรนั้นเป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์เล็กกว่าที่เห็นกันอยู่ เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามและศักดิ์สิทธิ์เกรงว่าจะเป็นอันตรายอาจมีผู้ใจบาปมาทำอันตรายได้ จึงสร้างพระพระพุทธรูปปูนปั้นหุ้มห่อไว้อีกชั้นที่ได้เห็นเป็นองค์หลวงพ่อพระพุทธโสธรในปัจจุบันนี้ แหนบหลวงพ่อโสธรทองคำลงยาหน้าใหญ่นิยมปี 09 พร้อมตลับทองล้อมเพชร ของ หมอ ท่าแซะ 089-9241576


 

“พระกริ่งไพรีพินาศ วัดบวรนิเวศวิหาร ปี 2495”

 

 

พระกริ่งไพรีพินาศวัดบวรนิเวศวิหาร จัดสร้างโดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์) พระสังฆราชองค์ที่ 13 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จัดเป็นหนึ่งในพระกริ่งยอดนิยมของวงการพระเครื่องในปัจจุบัน วัดบวรนิเวศได้จำลองแบบพระบูชาไพรีพินาศองค์ต้นแบบที่มีผู้มาถวายรัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งทรงผนวชอยู่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประกอบพิธีเททองจัดสร้างตามตำนานพระกริ่งแบบโบราณที่ตกทอดมาจากพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ที่เรียกว่าเทหล่อแบบดินไทย มีสองพิมพ์คือฐานบัวเหลี่ยมกับฐานบังแหลม พระกริ่งไพรีพินาศพิมพ์บัวเหลี่ยมนิยมองค์นี้แต่งเก่าโดยช่างชั้นครู ปี 2495 ของ คุณภูดิศ นนทพิมลชัย นักสะสมพระเครื่องคนดังบางบัวทอง เจ้าของบ้านน้อยคอยใจในวันวานสู่อาคารนนทพิมลชัยที่สวยงามในวันนี้ ในตลาดบางบัวทองริมคลองพิมลราชา


 

“พระรอดวัดมหาวัน ลำพูน พิมพ์เล็ก”

 

 

 พระรอดขุดพบที่วัดมหาวัน จังหวัดลำพูน เมื่อประมาณ พ.ศ.2435 ที่วัดนี้มีพระพุทธรูปศิลาองค์ใหญ่อยู่ในวิหารของวัด เรียกว่าพระรอดหลวง  พระรอดพบที่วัดมหาวันแห่งเดียวเท่านั้น สันนิษฐานว่าฤาษีนารทะเป็นผู้สร้าง สร้างด้วยเนื้อดินเผาละเอียด ราวพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นพระนั่งสมาธิขัดเพชรปางมารวิชัย  ด้านหลังองค์พระเป็นซุ้มใบโพธิ์ พระรอดวัดมหาวันพิมพ์เล็กองค์นี้เนื้อเขียวหายาก ของคุณสุรเดช ไตรยราช วิศวกรรมโยธา


 

“คชสีห์หลวงปู่เหรียญวัดหนองบัว เมืองกาญจน์”

 

 

 พระงาแกะพิมพ์ต่างๆหลวงปู่เหรียญจัดสร้างไว้หนึ่งในนั้นคือ คชสีห์งาแกะหลวงปู่เหรียญวัดหนองบัว ปี 2497 แกะจากงากำจายที่หลวงปู่เดินธุดงค์พบงาปักอยู่ที่ต้นไม้ใหญ่ริมโป่ง ท่านนำมาสร้างคชสีห์ได้ 30-40 ตัว งากำจัดกำจายเป็นงาศักดิ์สิทธิ์มีพลังอำนาจมหาบารมีอยู่สูงในตัว แก้คุณไสยและมีเมตตาหมาเสน่ห์สูง คชสีห์หลวงปู่เหรียญวัดหนองบัวตัวนี้ของ พีท เมืองกาญจน์  ร้านไชยศิลป์พันธุ์ทิพย์งามวงศ์วานชั้น 3


 

“พระมเหศวรกรุวัดพระศรีมหาธาตุ จ.สุพรรณบุรี”

 

 

พระมเหศวร พบที่กรุพระปรางค์วัดพระศรีมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรีเพียงแห่งเดียว ในราวปี พ.ศ.2456 พบพร้อมกับพระผงสุพรรณ สันนิษฐานว่าจัดสร้างโดยฤาษีพิมพ์พิลาไลย พุทธลักษณะขององค์ทำด้วยพระเนื้อชินเงิน ศิลปะอู่ทอง มีสองหน้าเศียรพระสวนทางกัน เหตุที่เศียรพระสวนกลับกันคนละด้านคนรุ่นเก่าจึงเรียกว่าพระสวนต่อมากลายเป็นพระมเหศวร พุทธคุณดีทางแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี มีเมตตามหานิยมสูง องค์นี้ของ “ผู้การเฉิด” พล.ต.เฉิดวิทย์ กองจินดา สนใจไปชมได้ร้านพระเครื่อง ตึกแดงชั้น 2 ตรงข้ามตลาดนัดจตุจักร


 

 “เหรียญหลวงพ่อธรรมจักรวัดธรรมามูล ชัยนาท”

 

 

 หลวงปู่ศุขวัดปากคลองมะขามเฒ่าปลุกเสก เหรียญหลวงพ่อธรรมจักรวัดธรรมามูลเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองประจำจังหวัดชัยนาทมายาวนาน นักสะสมพระเครื่องรู้จักกันดีว่าเป็นเหรียญรุ่นเก่าสร้างราวปี พ.ศ. 2461 ปลุกเสกโดยหลวงปู่ศุขวัดปากคลองมะขามเฒ่า หลวงปู่ศุขเป็นอาจารย์ของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์หรือเสด็จเตี่ย เหรียญหลวงพ่อธรรมจักร พิมพ์หน้าใหญ่นิยมจัดว่าเป็นพิมพ์ในตำนานแสนจะหาชมยากยิ่งไปแล้ว มีประวัติการจัดสร้างชัดเจนสร้างน้อย เท่าที่พบเป็นเนื้อทองแดง หูเชื่อมด้วยเงิน พุทธลักษณะด้านหน้าเป็นรูปพระพุทธธรรมจักรประทับยืนบนฐานดอกบัว 5 ดอก เหรียญหลวงพ่อธรรมจักร วัดธรรมามูลวรวิหาร จ.ชัยนาทเหรียญนี้ของ ต๋อง ชัยนาท 086-8486397


 

“พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่”

 

 

 พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ เป็นพระเครื่องมาตรฐานนิยมแสวงหาพระแท้สะสมกันทุกคน จากประสบการณ์ของนักสะสมรุ่นเก่าที่เล่าขานเป็นตำนานว่าสมเด็จพระพุฒาจาย์โตวัดระฆังท่านจัดสร้างพระสมเด็จด้วยมวลสารหลักคือปูนขาว หรือปูนเปลือกหอย และเนื้อผงวิเศษ 5 ชนิดคือ ผงปถมัง ผงอิทธิเจ ผงมหาราช ผงพุทธคุณ และผงตรีนิสิงเห เป็นมวลสารหลักมีน้ำมันตังอิ้วเป็นตัวประสาน พระสมเด็จวัดระฆังมี 5 พิมพ์ที่นิยมสะสมราคาแพงได้แก่ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์ทรงเจดีย์ พิมพ์ฐานแซม พิมพ์เกศบัวตูมและพิมพ์ปรกโพธิ์ องค์ที่ลงให้ชมนี้เป็นพระของ ผศ.ดร.ประเสริฐ ฉัตรตระกูล


 

“พระร่วงนั่งหลังลิ่ม”

 

 

 พระร่วมนั่งหลังลิ่มเป็นองค์ที่ 2 ของคุณธัลดล บุนนาค ที่ขนออกจากบ้านมาให้ชมกัน ท่านบอกว่าเก็บพระร่วงนั่งไว้หลายองค์เพราะท่านเป็นคนชื่นชอบพระเครื่องเก่าจากกรุต่างๆในเมืองไทย พระร่วงนั่งจัดเป็นพระหายากจึงนำออกเผยแพร่ให้ท่านได้ดูเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ พระร่วงนั่งหลังลิ่มกรุวัดช้างล้อม เมืองศรีสัชนาลัย ตามประวัติเป็นวัดสำคัญในสมัยกรุงสุโขทัย ผู้นับถือศาสนาพุทธในยุคนั้นได้จัดสร้างพระเพื่อสืบสานพระศาสนาและจรรโลงพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสร้างแล้วบรรจุไว้ตามพระปรางค์หรือพระเจดีย์ คุณธัลดล บุนนาคจัดเป็นหนึ่งในบุคคลที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมีศรัทธาในพุทธคุณใช้พระติดตัวมีประสบการณ์แก่ตัวเองมากมายหลายครั้งท่านบอกวันหน้าจะเล่าให้ฟังบ้าง


 

“พระปิดตาหลวงพ่อแก้ววัดเครือวัลย์พิมพ์เล็ก”

 

 

 พระปิดตาหลวงพ่อแก้ววัดเครือวัลย์ชลบุรีองค์นี้พิมพ์เล็ก เป็นพระเนื้อผงคลุกรักหรือจุ่มรัก  คุณพยัพ คำพันธุ์ ผู้ชำนาญการพระปิดตาได้เขียนไว้ในหนังสือเบญจมหามงคลให้นักสะสมได้ศึกษาหาความรู้อยู่หน้าที่ 258 สาธยายว่า พระปิดตาหลวงพ่อแก้ววัดเครือวัลย์ว่า 90 เปอร์เซ็นพบพระปิดตาหลวงพ่อแก้วเนื้อผงคลุกรักเป็นเนื้อละเอียดปรากฏเม็ดสีน้ำตาลสีแดงที่เกิดจากว่านขึ้นประปรายหากลึกเนื้อในออกสีน้ำตาลอมดำโบราณเรียก “เนื้อกะลา” บางองค์ปิดทองจากกรุต้องดูว่าทองเก่าหรือใหม่ พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว เมืองชลบุรีนับเป็นราชาแห่งพระปิดตาเนื้อผงมีราคาเช่าหาสูงการพิจารณาต้องอาศัยความชำนาญเป็นหลัก พระปิดตาหลวงพ่อแก้วพิมพ์เล็กองค์นี้ของ วิฑูรย์ พุ่มสุวรรณ


 

 “พระหลวงพ่อทวดพิมพ์กลาง เนื้อว่านปี 97”

 

 

 พระหลวงพ่อทวดเนื้อว่านรุ่นแรก ปี 2497หลวงปู่ทิมวัดช้างให้เป็นผู้สร้าง พระครูวิสัยโสภณหรือที่ชาวบ้านเรียกขานท่านว่าหลวงปู่ทิม  ธมฺมธโร สร้างพระหลวงพ่อทวดขึ้นจากภาพนิมิตเป็นพระภิกษุชรานั่งขัดสมาธิบนดอกบัวองค์พระสีดำ หลวงพ่อทวดเป็นพระสมัยกรุงศรีอยุธยากว่า 400 ปีมาแล้ว สมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาถวายพระนามให้หลวงปู่ทวดว่า  “พระราชมุนีสามีรามคุณปรมาจารย์”  พระหลวงพ่อทวดทำจากว่านและกากยายักผสมกันจึงพบเห็นเม็ดแร่สีขาวขุ่น สีดำ สีขาวอมเหลืองและสีน้ำตาลผสมกันอยู่ในองค์พระ พระหลวงพ่อทวดเนื้อว่านรุ่นแรก ปี 97 พิมพ์กลางองค์นี้ของ ตี๋น้อย เมืองตาก


 

เหรียญกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์  รุ่นบูรณะเสาธง”

 

 

 เหรียญกรมหลวงชุมพร รุ่นบูรณะเสาธงเนื้อทองคำเป็นเหรียญที่ระลึกจัดสร้างมอบให้ผู้ร่วมบูรณะเสาธงเป็นเหรียญพิธีใหญ่จัดพุทธาภิเษก 2 วาระ  วาระแรกวันที่ 22 มิ.ย.62 วัดเขาอ้อ พัทลุง พระเกจิดังนั่งปรกเช่น หลวงพ่อหวน ขันติโก วัดนิคมประทีป  หลวงพ่อจรัญ วัดช่องลมพรหมนิมิต  พระครูอาทร วัดดอนรวบ เป็นต้น วาระที่ 2 วันที่ 13 ก.ค. 62 พระเกจินั่งปรกเช่นหลวงพ่อผ่องวัดแจ้ง หลวงพ่อเอียดวัดโคกแย้ม หลวงพ่อเอียดปราบผีวัดขันประปาสรรค์ พระมหาจรูญวัดเขาเมืองเก่า และพระครูถาวรศิลวัฒน์เจ้าคณะอำเภอกันตัง จ.ตรัง วัดตรังคภูมิพุทธาวาส  เหรียญนี้เนื้อทองคำของ นาวาโทยุทธศักดิ์ กุลธนกีรติ (ร.น.)