วันพุธ ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 01:38 น.

อื่นๆ » คอลัมน์

บ้านเมืองพระเครื่อง

อ. วันชัย : วันอาทิตย์ ที่ 09 พฤษภาคม พ.ศ. 2564, 09.45 น.

สังคมพระเครื่องบ้านเมือง (9 พ.ค.64)

“ป๋า พยัพ” ห่วงใยผู้ค้ามาดูแลทรัพย์สิน

 

 

 

♦♦♦ “สามหัวเรือใหญ่วงการพระเครื่อง” ออกโรง ช่วงโควิด-19 ระรอก 3 หนักหน่วงที่สุด ศูนย์พระเครื่องมรดกไทยต้องดบริการชั่วคราวตามคำสั่งของภาครัฐ ระดมฉีดยาฆ่าเชื้อทั้งชั้น 2 และชั้น 3 ซึ่งเป็นที่ทำการห้างร้านพระเครื่อง แม้จะมีเจ้าหน้าที่ของห้างพันธุ์ทิพย์ดูแลทรัพย์สินอยู่แล้วก็ตาม คุณพยัพ คำพันธุ์ อ.ต้อย เมืองนนท์ และคุณปู มรดกไทย 3 หัวเรือใหญ่ไม่ละเลยเข้ามาดูแลเสริมเพิ่มเติมความปลอดภัยของผู้ค้าอย่างใกล้ชิดทุกวัน โดยเฉพาะ ตัวนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ป๋า พยัพ คำพันธุ์ เข้ามาดูแลทรัพย์สินของผู้ค้าด้วยตัวเองทุกวัน นั่งอยู่ที่ทำการสมาคมตั้งแต่เช้า 8.00 น. บางวันถึง 20.00 ก่อนห้างปิดจึงกลับออกไป เป็นเพราะอำนวยความสะดวกแก่ผู้ค้าที่มีร้านพระเครื่อง อาจเข้ามาเอาของต้องเปิดร้าน จะได้ไม่ผิดตัวตน ตามที่เคยปฏิบัติมาตั้งแต่ระรอกแรกและระรอกที่ 2 ด้วยข้อความแสดงความเป็นห่วงเป็นใยลูกค้าร้านพระเครื่องที่พันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วานว่า “เราจะผ่านไปด้วยกัน” ศูนย์พระเครื่องมรดกไทยปิดให้บริการชั่วคราว ลูกค้าทุกร้านโปรดให้ความไว้วางใจเจ้าหน้าที่และมาตรการรักษาความปลอดภัย เราจะดูแลทรัพย์สินของท่านอย่างดีที่สุด ของให้สบายใจ ช่วงนี้งดเดินทางออกจากบ้าน รักษาสุขภาพกันด้วย แล้วพบกันใหม่” นี่เป็นส่วนหนึ่งจากใจ 3 หัวเรือใหญ่วงการพระเครื่องครับ


 

หลวงพ่อพัฒน์ วัดห้วยด้วนได้เป็นเจ้าคุณชั้นราช

 

       

 

 

♦♦♦ “ประกาศพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์” พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์พระราชาคณะ จำนวน 11 รูป หนึ่งรูปในคราวนี้มี หลวงพ่อพัฒน์ ปุญญกาโม หรือพระครูนิวิฐปุญญากร วัดธารทหาร(วัดห้วยด้วน) อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ พระเกจิคณาจารย์ที่โด่งดัง ศิษย์พุทธาคมหลวงพ่อเดิมวัดหนองโพ ปัจจุบันอายุ 99 ปี ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นเจ้าคุณชั้นราชที่พระราชมงคลวัชราจารย์ ตามปรากฏในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 เล่มที่ 138 ตอนที่ 28 ข. หน้า 2  ในลำดับที่ 5 ความว่า พระครูนิวิฐปุญญากร เป็นพระราชมงคลวัชราจารย์ ไพศาลศาสนกิจ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี พระราชาคณะชั้นราช สถิต ณ วัดธารทหาร จังหวัดนครสวรรค์ มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้  ๔ รูป คือ พระครูปลัด ๑ พระสังฆรักษ์ ๑  พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑ ประกาศ ณ วันที่ 7 พฤษภาคม พ.พุทธศักราช ๒๕๖๔ เป็นปีที่ ๖ ในรัชกาลปัจจุบัน (ป๋อง สุพรรณได้รับอนุญาตให้สร้างเหรียญหลวงพ่อพัฒน์รุ่นเลื่อนสมณศักดิ์ )


 

ธีรศักดิ์ ฉัตรทอง” หนังสือพระกริ่งปวเรศ

           

 

 

 

♦♦♦ “ธีรศักดิ์ ฉัตรทอง”  ผู้จัดทำหนังสือพระกริ่งตระกูลปวเรศ หนังสือที่รวบรวมภาพและเนื้อหาเกี่ยวกับพระกริ่งปวเรศ  พระชัยวัฒน์ และเครื่องรางวัตถุมงคลที่เกี่ยวข้องมากที่สุด ปัจจุบันถือได้ว่าเป็นตำราในการศึกษาและสะสมพระกริ่งปวเรศสมัยใหม่  ที่ได้รับการยอมรับจากผู้ที่สนใจศึกษาพระกริ่งปวเรศอย่างจริงจัง ธีรศักดิ์ ฉัตรทอง ยังสะสมพระยอดนิยมอีกหลากหลายประเภท ด้วยความรู้ที่มีอยู่เป็นอย่างดีกับพระกริ่งเนื้อโลหะ และสะสมพระรูปหล่อหลวงพ่อเงิน บางคลาน พิมพ์นิยม เนื้อเงินและรูปหล่อหลวงพ่อเงินเนื้อทองเหลืองนิยม ที่ใช้วิธีเทหล่อแบบโบราณ พระรูปหล่อหลวงพ่อเงินพิมพ์นิยมที่สะสมไว้มีความสมบูรณ์งดงามเป็นฝีมือช่างหล่อในยุคนั้น ท่านที่มีความสนใจเชิญ แลกเปลี่ยนความรู้ได้ที่ 086-1610535


 

 

เสี่ยกุ่ย รัชดา แจงสมเด็จโตสร้างสมเด็จไว้ 13 วัด

 

        

 

♦♦♦ “เสี่ยกุ่ย รัชดา อาจหาญชำระประวัติศาสตร์วงการพระเครื่อง” ชี้แจง พระสมเด็จสร้าง 13 วัดไม่ใช่แค่วัดระฆังหรือวัดบางขุนพรหมหรือ วัดเกศไชโย เท่านั้น วงการพระหรือแม้แต่องค์กรใหญ่ๆพระเครื่องก็ไม่รู้ มีในคัมภีร์ใบลานหลวงปู่คำชัดเจน คือ 1.วัดระฆัง ธนบุรี 2.วัดบางขุนพรหมใน หรือวัดใหม่อมตรส พระนคร 3.วัดบางขุนพรหมนอก หรือวัดอินทรวิหาร พระนคร 4.วัดไชโย อ่างทอง 5.วัดละครทำ ธนบุรี 6.วัดชีประขาว ธนบุรี 7.วัดอัมพวา ธนบุรี 8.วัดประชานารถ อยุธยา  9.วัดพิตเพียน อยุธยา 10. วัดตะไกร อยุธยา 11. วัดสะตือ อยุธยา 12. วัดกลางคลองข่อย ราชบุรี และ 13.วัดโพธิ์ บางปะอินทร์

 

 

♦♦♦ เสี่ยกุ่ย ยังโชว์แม่พิมพ์สมัยหลวงวิจารแกะไว้ให้ดูด้วย มีจารึกปี พ.ศ. ไว้ด้านหลังปีที่แกะด้วย แม่พิมพ์ไม้ปัจจุบันถูกเผาเอาไปสร้างพระ แม่พิมพ์หินอ่อน แม่พิมพ์หินลับมีด  และแม่พิมพ์ที่ทำด้วยทองคำ เสี่ยกุ่ยบอกหลวงวิจาร เจียรนัยแกะแม่พิมพ์ถวายสมเด็จโตไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2408-2415 เชื่อว่าไม่มีใครในวงการพระเครื่องที่เคยเห็นแม่พิมพ์เหล่านี้ ได้แต่พูดกันต่อๆมาเท่านั้น  อันที่จริงแล้วสมเด็จโตอยากให้มีพระของท่านใช้กันทุกคนเพื่อสืบต่อพระศาสนา ถ้าคิดจำนวนสร้างแค่คร่าวๆก็ต้องมี 7-8 ล้านองค์และในปี พ.ศ.2565 พระสมเด็จจะมีเต็มบ้านเต็มเมือง ตนเองจึงต้องการชำระประวัติศาสตร์วงการพระเครื่องให้ถูกต้อง คือมีทั้งประวัติศาสตร์ หลักฐานที่จับต้องได้ และวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ ศูนย์พระรัชดารับตรวจเช็คให้แต่ไม่รับซื้อ ยกเว้นพระทองคำเท่านั้น เปิดทุกวันเว้นวัน อาทิตย์ปิดเสี่ยกุ่ย รัชดากล่าว