วันศุกร์ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 03:57 น.

อื่นๆ » คอลัมน์

บ้านเมืองพระเครื่อง

อ. วันชัย : วันเสาร์ ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2565, 13.22 น.

“ป๊าเอ้ จุฬา” หลวงพ่ออิฏฐ์เมตตามาแต่เด็ก ศิษย์สองสำนัก วัดจุฬามณี-บ้านมีดี

 

 

♦♦♦ อธิษฐ์ ไชยโชค หรือ ป๊าเอ้ จุฬา กรรมการรับตัดสินพระเครื่องโต๊ะหลวงพ่ออิฏฐ์วัดจุฬามณี สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย สายตรงวัตถุมงคลวัดจุฬามณี ตั้งแต่รุ่นหลวงพ่อเนื่อง โกวิโท หรือพระครูโกวิทสมุทรคุณ พระเกจิดังสายลุ่มน้ำแม่กลอง ที่โด่งดังเมื่อ 30 ปีก่อนนี้ และ วัตถุมงคลหลวงพ่ออิฏฐ์  ภทฺทจาโร หรือ พระครูโสภิตวิริยาภรณ์ ผู้สืบสานต่อวิชาอาคมขลังและโด่งดังในปัจจุบัน เป็นผู้มีเมตตาให้ศิษย์ใกล้ชิด ค้าขายดีมีชีวิตใหม่ได้เหมือนฝัน

 

 

♦♦♦ “ป๊าเอ้ จุฬา เติบโตจากหมู่บ้านเล็กๆหลังวัดจุฬามณี ต.อัมพวา อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่มีความสงบร่มเย็นมาแต่รุ่นปู่ย่าตายายไปทำบุญสุนทานกันที่วัดนี้สืบต่อกันมา ตนเองได้ศึกษาเล่าเรียนเขียนอ่านชั้นประถมจากโรงเรียนวัดจุฬามณีนี่แหละ  จึงมีโอกาสได้ศึกษาหาความรู้ต่อที่โรงเรียนอัมพวันวิทยาลัย ได้เรียนต่อจบอนุปริญญา ปวส. เทคนิคสมุทรสงครามกระทั่งได้เข้าทำงานมีอาชีพมั่นคงมาจนถึงทุกวันนี้

 

 

♦♦♦ “วัดจุฬามณี มีพระเกจิที่โด่งดังมาครั้งคุณพ่อคุณแม่ มีผู้คนเข้าออกเดินทางมากราบขอพรรับวัตถุมงคล หลวงพ่อเนื่อง โกวิโท ทำให้ทางบ้านมีที่ทำมาหากินขายเต้าหู้ทอดอยู่หน้ากุฏิหลวงพ่อนั่นแหละ มีอยู่ครั้งหนึ่งหลวงพ่อเนื่องท่านเรียกลูกศิษย์ไปในโบสถ์แจกเหรียญกษาปณ์ ปี 29 ตนเองได้รับมากับมือยังเก็บรักษาอยู่ ช่วงวัยเด็กได้ติดตามคุณพ่อคุณแม่ไปทำบุญ ช่วยงานวัดตลอดมามิได้ขาดและยังได้บรรพชาเป็นสามเณรตอนอายุ 9 ขวบรับใช้หลวงพ่อเนื่องอยู่ที่วัดนี้ด้วย วัตถุมงคลที่หลวงพ่อเนื่องและหลวงพ่ออิฏฐ์ท่านเมตตาแจกมาให้ทางบ้านจะนำใส่ไว้ในตะกร้าเป็นที่รวบรวมวัตถุมงคลพระเครื่องไว้ทั้งหมดที่บ้านคุณแม่

 

 

♦♦♦ ป๊าเอ้ จุฬา บอกด้วยว่า พระเครื่องที่เก็บรวบรวมไว้ในตะกร้าอยู่ที่บ้านคุณแม่ถูกขโมยลักไปหมดทำให้ตนเองเกิดความรู้สึกเสียดายและเสียใจอยู่บ้างที่วัตถุมงคลหลายรุ่นเป็นที่นิยมสะสมหายากและเริ่มมีราคาแพง มีทั้งรูปหล่อรุ่นแรกหลวงพ่อเนื่อง รูปหล่อปี 20-27-29 เหรียญหลายรุ่นตั้งแต่ปี 2512 -13- 17-21 ร่วมมูลค่าหลายแสน ทำให้ ป๊าเอ้ เริ่มสนใจสะสมด้วยการหาเช่าบูชาด้วยเงินเดือนของตนเองเดือนละองค์สององค์ เหรียญรุ่นแรกหลวงพ่อเนื่อง ปี 2511 และเหรียญจำปีท้าวเวสสุวรรณรุ่นแรก ปี 2545 ก็ซื้อได้แค่เหรียญละไม่เกิน 100 บาทได้ตามละแวกบ้าน ร้านกาแฟ พวกพ้องที่ชาวบ้านเก็บๆกันไว้แม้ตามแผงพระเครื่อง ทำให้รู้จักกับผู้คนที่ชื่นชอบและสะสมวัตถุมงคลวัดจุฬามณีหลายท่าน ศึกษาเรียนรู้วัตถุมงคลของสองหลวงพ่ออย่างจริงจังมานานกว่า 13 ปีตั้งแต่ปี 2551 - 2552 เรียกได้ว่ามีความชำนาญวัตถุมงคลสายวัดจุฬามณีไม่มีพลาด

 

 

♦♦♦ “บ้านมีดี  มีดีอะไรทำไม ป๊าเอ้ จุฬา จึงมีศรัทธาเข้าถึงสำนักสักยันต์อันโด่งดังนี้ เพื่อนมาชวนอยู่ถึง 2 ปี เพื่อนบอกว่า ที่นี่ของจริง จึงตัดสินใจไปลองดู ได้พบกับท่านอาจารย์ ป่อง นวมมานา หรืออาจารย์บุญธรรม น่วมมานา ศิษย์ปู่เที่ยง ผู้เป็นบิดาได้ถ่ายทอดวิชาอาคมทุกอย่างให้ อ. ป่อง น่วมมานา ลูกชายเป็นมรดกสืบทอดสายเหนียวมาถึงปัจจุบันนี้ เช่นสืบทอดวิชาจากหลวงปู่ทองวัดราชโยธาจากขรัวตาแสง วัดมณีชลขัณฑ์  หลวงปู่เผือกวัดกิ่งแก้ว ปู่แก้ว คำวิบูลย์ อ.อยู่ เรือลอย อ.เจ๊ก สามแยกไฟฉาย อ.หม่อง ชาวพม่าสอนวิชาหมูทองแดง ยันต์ดังสร้างชื่อให้ปู่เที่ยง เป็น 1 ใน 4 จตุรเทพฆราวาสสายเหนียว ป๊าเอ้ จุฬาได้สักยันต์หมูทองแดงกับท่าน อ.ป่อง น่วมมานา เพื่อคุ้มครองตัวเองจากหนักให้เป็นเบา ไม่ใช่สักยันต์แล้วอยู่แบบนักเลง ปัจจุบันเขาวัดกันที่เงินในบัญชี ไม่ใช่วัดด้วยกำลังที่ยิ่งใหญ่สายนักเลง

 

 

♦♦♦ ป๊าเอ้ จุฬา เล่าว่าตนเองและครอบครัวศรัทธาสำนักสักยันต์บ้านมีดี มากขึ้นเนื่องจาก บุตรสาวไม่สบายไข้ขึ้นอยู่บ่อยๆ จึงขอยืมตะกรุดพ่อป่อง น่วมมานา มาผูกข้อมือลูกสาวอาการไข้หายอย่างปลิดทิ้งได้อย่างปาฏิหาริย์ ทำให้ตนเองและครอบครัวมีความมั่นใจในความเข้มขลังเพิ่มกำลังศรัทธามากขึ้น ปัจจุบัน ป๊าเอ้ จุฬา เป็นกรรมการรับตัดสินพระเครื่องโต๊ะวัตถุมงคลวัดจุฬามณี ของสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย  Facebook: ป๊าเอ้ จุฬา โทร.084-0193578