วันพุธ ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 10:10 น.

อื่นๆ » คอลัมน์

แยกรัชวิภา

บ้านเมืองออนไลน์ : วันพุธ ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2565, 16.58 น.

จิตวิทยากับการแก้ปัญหาสังคมไทย

จิตวิทยากับการแก้ปัญหาสังคมไทย

 

ธนพรวงศ์ สุ่นสวัสดิ์

นิสิตปริญญาโทคณะมนุษยศาสตร์

สาขาวิชาจิตวิทยาชีวิตและความตาย

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

จิตวิทยา เมื่อได้ยินคำนี้หลายๆ คนฟังแล้วรู้สึกไกลตัวและไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับคนที่ป่วยเป็นโรคทางจิต หรือมีสุขภาพจิตไม่ดีจึงไม่ให้ความสำคัญที่จะศึกษาเรื่องเกี่ยวกับจิตวิทยาเท่าไรนัก บ้างคิดว่าสุขภาพจิตของตนนั้นดีอยู่แล้ว บ้างเป็นกังวลกลัวสายตาคนอื่นจะมองว่าผู้ที่สนใจเข้ารับการปรึกษาเกี่ยวกับจิตวิทยาเป็นผู้ป่วยทางจิตจึงไม่กล้าเข้ามาเข้ารับคำปรึกษา หรือไม่กล้าแม้แต่จะยอมรับว่าตนกำลังมีปัญหาบางอย่างที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจ เมื่อปล่อยไว้นานเข้าจากที่คิดว่าไม่มีปัญหา ก็กลับแสดงผลลัพธ์ที่น่าตกใจ

ถ้าอย่างในกรณีรุนแรงก็จะปรากฏให้เห็นเป็นหัวข้อข่าวสะเทือนอารมณ์ต่างๆ นานา นั่นเพราะสาเหตุเบื้องต้นมาจากสภาพจิตใจที่ไม่ปกติ และเมื่อปล่อยให้เรื้อรังไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไข หรือไม่ได้รับคำปรึกษาที่ถูกวิธี จึงส่งผลให้บางท่านไม่สามารถควบคุมตนเองได้จึงใช้วิธีแสดงออกทางอารมณ์ด้วยการทำร้ายผู้อื่น ทำร้ายครอบครัว และทำร้ายตัวเองเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกัน

ดิฉันขออธิบายความหมายของคำว่า “จิตวิทยา” ให้ทุกท่านเข้าใจอย่างง่ายๆ “จิตวิทยา” คือ ศาสตร์ที่ศึกษาด้านพฤติกรรมการแสดงออกของมนุษย์ทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อให้เข้าใจถึงการกระทำที่แสดงออกทางสังคม และเรียนรู้ที่จะช่วยให้มนุษย์มีความเข้าใจตนเองและผู้อื่นมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นไปเพื่อให้เกิดประโยชน์ในทางที่ดีขึ้นตั้งแต่ระดับครอบครัว สังคม ชุมชน ขยายวงกว้างไปถึงประเทศชาติต่อไป

จากสภาพสังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและไม่คาดคิดทั้งเรื่องของชีวิตความเป็นอยู่ โรคระบาด สภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงความไม่มั่นคงไม่แน่นอนในชีวิตที่เราทุกคนกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ เราจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาพจิตใจของเราเองก็อาจจะได้รับผลกระทบจากสภาวะภายนอกบ้างไม่มากก็น้อย และเราเองก็อาจจะต้องการได้รับการดูแลเอาใจใส่ทางด้านจิตใจรวมถึงต้องการความเข้าใจจากสังคมภายนอก โดยเริ่มจากหน่วยที่เล็กที่สุดคือครอบครัว ด้วยหลายๆ เหตุปัจจัยจึงทำให้ดิฉันตัดสินใจศึกษาต่อในสาขาด้านจิตวิทยา โดยมีชื่อเต็มๆ ว่า สาขาจิตวิทยาชีวิตและความตาย ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย เมื่อเพื่อนหรือคนรู้จักได้ยินชื่อสาขานี้ ต่างแปลกใจและตกใจ เพราะมีคำว่าชีวิตและความตายพ่วงท้ายต่อมาด้วย เลยทำให้ดูเป็นเรื่องที่น่ากลัวเข้าไปอีก ซึ่งจริงๆ แล้ว สาขานี้ก็คือ จิตวิทยาเชิงพุทธนั่นเอง

โดยปกติในการเรียนสาขาจิตวิทยาจะมีหลากหลายแขนง โดยแบ่งเป็นฝั่งตะวันตก และฝั่งตะวันออก ถ้าเป็นฝั่งจิตวิทยาตะวันตกจะเป็นการเรียนผ่านหลักการและทฤษฎีของบุคคลหลายๆ ท่าน ที่เฝ้าสังเกต บันทึก ทำการทดลอง และได้ข้อสรุปมาเพื่อเข้าใจทั้งด้านจิตใจและพฤติกรรมมนุษย์ ซึ่งมีมากมายหลายร้อยทฤษฎี หลายๆ คนน่าจะคุ้นหูและเคยได้ยินมาบ้าง เช่น ทฤษฎีจิตวิทยาของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (นักประสาทวิทยาชาวออสเตรีย ผู้ค้นพบหลักจิตวิเคราะห์) ได้สร้างทฤษฎีขึ้นมาว่า จิตไร้สำนึกนั้นจะจดจำและเก็บประสบการณ์ทั้งหมดของเราเอาไว้ และมักจะปรากฎขึ้นบางเวลาในรูปแบบของความฝันหรือความคิดที่ไม่ได้ผ่านการไตร่ตรอง การได้พูดคุยถึงประสบการณ์หรือความทรงจำที่เลวร้ายจึงเป็นการปลดปล่อยให้เราพ้นจากปัญหาในจิตใจ และจะทำให้ชีวิตเรามีความสุขมากขึ้น เป็นต้น ทฤษฎีมากมายเหล่านี้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการเยียวยารักษา หรือให้คำปรึกษาทางด้านจิตใจ สำหรับผู้ที่ต้องการเข้ารับคำปรึกษา

ในส่วนฝั่งตะวันออก หรือจิตวิทยาเชิงพุทธ จะเป็นการนำหลักธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาประยุกต์ใช้ร่วมกับการสังเกต และเรียนรู้ พฤติกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น เมื่อพูดเรื่องเกี่ยวกับศาสนาอาจจะดูเหมือนไกลตัวแต่จริงๆ แล้วเป็นสิ่งใกล้ตัวเป็นอย่างมาก

เพื่อเป็นการอธิบายให้เข้าใจมากขึ้น ดิฉันขออนุญาติยกตัวอย่างหลักธรรมที่จิตวิทยาฝั่งตะวันออก ยกมาใช้กันอยู่เนืองๆ นั่นคือ กฎของไตรลักษณ์ หรือที่เรียกว่า กฎของธรรมชาติ 3 ข้อคือ อนิจจัง: ทุกสิ่งเป็นของไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ, ทุกขัง : ทุกสิ่งเป็นทุกข์ด้วยตัวของมันเอง รู้ได้อย่างไรว่าเป็นทุกข์ ลองสังเกตง่ายๆ ว่ามันจะทนอยู่ในสภาพเดิมนานๆ ไม่ค่อยได้ ต้องเปลี่ยนไปมาตลอด เช่น เราเดินนานเราก็เมื่อยเราต้องนั่งพัก ตอนนั่งแรกๆ มันก็พอจะสบายอยู่ แต่พอนั่งนานเข้าก็เหน็บกินเป็นทุกข์อีก ลองสลับเปลี่ยนเป็นนอน นอนตอนแรกก็เหมือนจะสบาย แต่พอนอนนานเข้าก็ต้องพลิกตัวไปมา สลับไปมาเบื่ออีก คือมันเป็นทุกข์นั่นเอง, อนัตตา : บังคับบัญชาไม่ได้ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างแม้แต่ร่างกายเราเองนี้ไม่ใช่ของเรา เราจึงไม่สามารถบังคับควบคุมสิ่งใดได้เลย

ความทุกข์มักเกิดขึ้นเมื่อเราต้องการเข้าควบคุมสิ่งที่เราไม่สามารถบังคับได้ เช่นบางคนเจ็บป่วยเป็นโรคร้ายแรง ทุกข์ใจแสนสาหัสแต่ร่างกายมันก็ป่วยไปแล้ว เราไปบังคับว่าร่างกายจงอย่าเจ็บป่วยเราก็ไม่สามารถทำได้ อันนี้เป็นตัวอย่างง่ายๆ ให้เห็นเท่านั้น ว่าถ้าเรายังคงเกิดมาเป็นมนุษย์และต้องใช้ชีวิตอยู่แล้ว ไม่มีใครหรือผู้ใดหลีกหนีกฎธรรมชาติที่แสนจะธรรมดานี้ไปได้ เพียงแต่ว่าคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจจึงเผลอยึดติดและเป็นทุกข์ ความไม่เข้าใจสิ่งที่เป็นธรรมชาตินี้ทำให้เกิดความคาดหวัง เมื่อไม่ได้อย่างใจหวังก็เกิดความทุกข์ขึ้น

ถ้าใครไม่สามารถรู้ทันอารมณ์ หรือไม่เข้าใจจิตใจตนเอง เมื่อได้ในสิ่งที่ต้องการจิตก็มีความสุข แต่เมื่อใดไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการก็เกิดความทุกข์ขึ้น ฟังดูอาจจะเหมือนเรื่องเล็กน้อย แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นๆ ความทุกข์ก็จะมากขึ้นๆ จนถาโถมและไม่สามารถหาทางออกได้เลย คนเราจึงสุขๆ ทุกข์ๆ อยู่แบบนี้สลับกันไป ไม่มีที่สิ้นสุด

ถ้าตั้งคำถามว่า จิตวิทยา(เชิงพุทธ)สามารถช่วยในการแก้ปัญหาสังคมไทยได้อย่างไร? ดิฉันขอแบ่งเป็น 3 ส่วนให้ทุกท่านเข้าใจได้อย่างง่ายๆ คือ ครอบครัว, สังคม, ประเทศชาติ โดยครอบครัว ถือว่าเป็นหน่วยย่อยที่เล็กที่สุดแต่มีความสำคัญมากที่สุด และมีผลกระทบต่อกันและกันมากที่สุด ถึงแม้จะไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจน แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ครอบครัวที่มีปัญหา มักจะส่งผลกระทบต่อลูก และบุคคลในครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นในการศึกษาจิตวิทยาเชิงพุทธ สิ่งสำคัญที่สุดคือ การเข้าใจและยอมรับตัวเอง ซึ่งเมื่อเราเข้าใจตัวเราเองอย่างดีแล้ว เราจะสามารถสื่อสารได้อย่างตรงไปตรงมากับสมาชิกในครอบครัว และยังช่วยให้คนใกล้ตัวมีความเข้าใจตัวของเขาเองมากขึ้น เกิดปัญหาในครอบครัวน้อยลง ไม่ใช้อารมณ์ในการแก้ปัญหา แต่ใช้ความเข้าใจมาช่วยแก้ปัญหาแทน 

วิธีการที่จะสามารถช่วยให้เราเข้าใจตัวเองรวมถึงพฤติกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเราเองได้ดีขึ้น คือการน้อมนำหลักธรรมง่ายๆ คือ ไตรลักษณ์ มาฝึกใช้กับตัวเราเองก่อน ในทุกๆ เรื่องที่เผชิญ ความเข้าใจอย่างแท้จริงในกฎธรรมชาติที่เกิดขึ้นจะทำให้เราลดความยึดมั่นถือมั่นลง ปล่อยวางสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น ลดปัญหาที่เกิดจากความคาดหวังในตัวเราเองลง ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น และยอมรับกฎของความเปลี่ยนแปลง ความทุกข์ในจิตใจก็จะลดลงอย่างมหาศาล เช่น ปัจจุบันลูกๆ มักใช้ชีวิตอยู่บนความกดดัน เพราะบางครอบครัวพ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกๆ ได้ดี โดยไม่รู้ว่าลูกๆ ต้องแบกความคาดหวังที่คุณพ่อคุณแม่ถ่ายทอดต่อมา และเมื่อเกิดความไม่เข้าใจ เด็กหลายๆ คนกดดันจนถึงขั้นเกิดภาวะซึมเศร้าโดยไม่ทราบสาเหตุ

แต่ถ้านำกฎไตรลักษณ์มาฝึกใช้ เราก็จะคิดด้วยเหตุและผลได้ว่า ถ้าเราเป็นลูก ก็มองว่าคุณพ่อคุณแม่หวังดี แต่สุดท้ายแล้วท่านก็อาจจะไม่ได้อยู่กับเราไปตลอดชีวิต เราเพียงแค่ทำดีที่สุดเท่าที่เราทำได้แล้วปล่อยวางผลลัพธ์ อธิบายให้ท่านเข้าถึงสิ่งที่เราคิด และสังเกตตัวเราเองว่าทุกๆ ความคาดหวังที่เกิดขึ้นนั้น ส่งผลต่อใจเราอย่างไรบ้าง ทำให้เราทุกข์ หรือสุขอย่างไร ค่อยๆ สังเกตความเปลี่ยนแปลงในจิตใจของเราเอง

สุดท้ายเราต้องฝึกมองว่าทุกอย่างไม่สามารถบังคับได้ พ่อแม่อยากให้เราเป็นแบบนั้นแบบนี้ ท่านเองก็ไม่สามารถบังคับควบคุมได้ทั้งหมด เราเองอยากได้สิ่งใดก็ไม่สามารถเป็นอย่างใจเราทั้งหมด ถ้าเราฝึกคิดแบบนี้บ่อยๆ ในทุกๆ เรื่อง จะช่วยให้เราค่อยๆ มองเห็นความจริง และเปิดใจยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยใจเป็นกลาง และปล่อยวางได้ง่ายและเร็วขึ้น

เมื่อเราฝึกความเข้าใจในกฎไตรลักษณ์ได้บ่อยขึ้นโดยเริ่มจากตัวเราเอง เราจะสามารถส่งต่อความเข้าใจนี้สู่คนใกล้ตัว สังคม ชุมชน ขยายวงกว้างจนถึงระดับประเทศ และเป็นผู้ช่วยให้ทุกคนได้เข้าใจชีวิตตามความเป็นจริงมากขึ้น ให้เค้าได้มองเห็น หรือฝึกมองให้เห็นรอยแยกระหว่างความจริงกับความคาดหวัง เมื่อใดก็ตามที่เริ่มฝึกจนชำนาญ เราจะสามารถลดความคาดหวังลง หรือยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่ตรงตามความคาดหวังเราได้ ส่งผลให้ความทุกข์ลดน้อยลง ยอมรับสภาพความเป็นจริงได้มากขึ้น ซึ่งเป็นจุดเชื่อมของการลดปัญหาที่เกิดจากสภาพจิตใจที่อาจส่งผลเป็นพฤติกรรมรุนแรง หรือแปลกแยกจากสังคมในแบบต่างๆ

พร้อมกันนี้ในส่วนของรายวิชาที่ดิฉันได้เรียน ได้มีการรวมกลุ่มกันของนักเรียนและอาจารย์ที่ศึกษาศาสตร์จิตวิทยาตะวันออก ประยุกต์ร่วมกับจิตวิทยาตะวันตก เพื่อใช้ในการช่วยเหลือสังคม หรือผู้คนที่ต้องการพื้นที่ของการรับฟังอย่างเปิดใจ และเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับใครก็ตามที่ต้องการการเยียวยาทางด้านจิตใจ พื้นที่นี้ยังเปิดรับอาสาสมัครที่ต้องการช่วยเหลือสังคม ได้เข้ามาเรียนรู้ ฝึกฝน และพัฒนาร่วมไปด้วยกัน โดยไม่ได้จำกัดชาติ ศาสนาแต่อย่างใด เราเป็นกลุ่มจิตอาสาที่เปิดกว้างรวมตัวกันเพื่อช่วยทำประโยชน์ให้สังคมอย่างแท้จริง