วันจันทร์ ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 12:08 น.

อื่นๆ » คอลัมน์

บ้านเมืองพระเครื่อง

เจษ เมืองนนท์ : วันพฤหัสบดี ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567, 18.29 น.

พระสมเด็จวัดระฆังมีน้อยจริงหรือ ?

พระสมเด็จวัดระฆังมีน้อยจริงหรือ ? “บ้านเมืองพระเครื่อง” โดย..อ.เจษ เมืองนนท์

บนโลกใบนี้ มีความจริงอยู่ข้อหนึ่งคือ “การทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม จะสง่างามกว่าการทำเพื่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง” อยู่ที่ว่าใครจะเลือกทำแบบไหน

มีคำพูดหนึ่งในวงการพระเครื่องที่ว่า “พระสมเด็จวัดระฆังมีน้อย ไม่เกิน 200 องค์” ย่อมมีร่องรอยบางอย่างที่น่าวิเคราะห์อย่างยิ่งว่าเป็นคำพูดเพื่อส่วนรวมหรือเพื่อส่วนตัว

จริงหรือที่พระสมเด็จวัดระฆังมีแค่ 200 องค์ เราลองใช้ “เหตุผล” มาวิเคราะห์กันครับ

1.สมเด็จพุฒาจารย์(โต) เริ่มสร้างพระในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 พ.ศ.2368 จนกระทั่งถึงแก่มรณกรรมในแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พ.ศ.2415 รวมระยะเวลาในการสร้าง 37 ปี หากพระสมเด็จวัดระฆังมีแค่ 200 องค์ นั่นหมายความว่าท่านสร้างได้แค่ปีละ 5-6 องค์เท่านั้น..มันเป็นไปได้หรือไม่?

2.จากคำบอกเล่าของเจ้าคุณธรรมถาวร ทราบสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) มีเป้าหมายที่จะสร้าง จำนวน 84,000 องค์ (84,000 พระธรรมขันธ์) เพื่อบรรจุเจดีย์ เป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาด้านรูปธรรมตามคตินิยมของคนโบราณ ซึ่งหากมองในมุมนี้ มีอย่างน้อย 2 วัดที่เป็นพระกรุของสมเด็จโตแน่นอนคือ กรุวัดเกศไชโย และกรุวัดบางขุนพรหม ซึ่งเมื่อทั้งสองวัดนั้น จะมีพระสมเด็จอย่างน้อยก็ 150,000 องค์แล้ว แต่ถ้าหากนับเฉพาะพระสมเด็จวัดระฆัง ก็จะมีพระสองคลองคือสมเด็จวัดระฆังฝากกรุบางขุนพรหมอีกไม่น้อยเลยทีเดียว

3.สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้สร้างพระสมเด็จวัดระฆังแจกแก่ประชาชน บางส่วนสร้างให้แก่ข้าราชการบริพาร ตระกูลขุนนาง คหบดี ตามคำร้องขอ เพื่อนำเอาไปบรรจุเจดีย์ บางส่วนสร้างนำไปบรรจุตามฐานพระตามวัดต่างๆ ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา ไม่เคยมีองค์กรใดไม่ว่าจะเป็นสมาคมเล็กหรือสมาคมใหญ่ไปสืบค้นเสาะแสวงหาพระบรรจุกรุเหล่านี้ แต่เมื่อมีชาวบ้านไปค้นพบ ก็ไม่เคยมีสมาคมใดเข้าตรวจสอบเพื่อรับรองเลยตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมา ยังคงยึดมั่นความเชื่อเดิมๆคือมี 200 องค์เท่านั้น ซึ่งข้อมูลพวกนี้ ทางสมาคมต่างๆที่เป็นผู้นำได้มีการแต่งตั้ง “ฝ่ายวิชาการ”ของสมาคมทำการตรวจสอบเพื่อค้นหลักฐานบ้างหรือไม่ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ประเด็นนี้เป็นคำถามคาใจของชาวพระเครื่องมานานหลายปี

4.เมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) มรณภาพ มีหลักฐานยืนยันว่า ในพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ได้มีการนำเอาพระสมเด็จวัดระฆังมาจ่ายแจกให้ประชาชนหลายโอ่ง  ซึ่งพระสมเด็จที่บรรจุในโอ่งมังกรเหล่านั้น ไม่มีหลักฐานระบุจำนวนก็จริง แต่ในหนึ่งโอ่งมังกรนั้น ก็น่าจะมากกว่า 200 องค์แน่นอน

5.ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลเจ้าเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 พ.ศ.2416 หลังจากสมเด็จฯ ได้มรณภาพเพียง 1 ปี ได้เกิดโรคระบาดร้ายแรงคือ “โรคอหิวาตกโรค” ชาวบ้านเรียกว่า “โรคห่าปีระกา” ขึ้นในกรุงเทพ ได้มีชาวบ้านนำเอาพระสมเด็จวัดระฆังมาทำน้ำมนต์ดื่นกินเพื่อรักษาโรค จากนั้นเพียง 7 วัน โรคร้ายได้สงบลงอย่างน่าอัศจรรย์ ชาวบ้านต่างหวงแหนและเก็บรักษาพระสมเด็จวัดระฆังและเป็นมรดกตกทอดถึงลูกหลานในปัจจุบันซึ่งน่าจะมีจำนวนเกินกว่า 200 องค์

นี่คือข้อมูลบางส่วนในการประเมินจำนวนพระสมเด็จวัดระฆังโดยพิจารณาจาก “เหตุผล” ความเป็นไปได้เพื่อจะหาคำตอบว่า พระสมเด็จวัดระฆังมีแค่ 200 องค์จริงหรือไม่?

เป็นการพิสูจน์ว่า “ผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง อยู่เหนือผลประโยชน์ส่วนรวม” หรือไม่?

ติดตามรายละเอียดของเรื่องนี้ในตอนที่ 2 ได้ใน “บ้านเมืองพระเครื่อง” วันพฤหัสหน้าครับ