วันเสาร์ ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 16:43 น.

อื่นๆ » คอลัมน์

บ้านเมืองพระเครื่อง

เจษ เมืองนนท์ : วันพฤหัสบดี ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567, 17.11 น.

พระสมเด็จทองคำ “องค์ฟ้าประทาน” ตอนที่ 2

พระสมเด็จทองคำ “องค์ฟ้าประทาน” ตอนที่ 2 “บ้านเมืองพระเครื่อง” คอลัมน์ “สืบสานพระสมเด็จ” โดย..อ.เจษ เมืองนนท์

“พระฟ้าลิขิตองค์นี้ไม่ใช่พระสมเด็จเนื้อทองคำทั้งองค์ แต่เป็นพระไส้ในเนื้อทองแดงแล้วเปียกทองหุ้มภายนอก”

คำตอบของพ่อบุญธรรมยังคงก้องอยู่ในโสตประสาทของผู้กำกับหนุ่มจนเกิดความสับสน มันเป็นไปได้อย่างไรที่พระองค์นี้จะไม่ใช่พระทองคำ เพราะเมื่อเทียบเคียงกับพระทองคำของท่านอื่นๆในวงการที่ทยอยเปิดตัวมานั้นก็แทบจะไม่มีข้อแตกต่างใดๆทั้งสิ้น หากองค์นี้เป็นพระเปียกทอง องค์อื่นๆก็น่าจะเป็นพระเปียกทองหรือชุบทองเช่นกัน

คำตอบที่ได้รับ ทำให้ผู้กำกับหนุ่มรันทดท้อ ไฟที่เคยลุกโชนค่อยจืดจางจนเลือนรางไปตามกาลเวลา

และแล้ว..ไฟของผู้กำกับหนุ่มก็เปล่งประกายอีกครั้ง เมื่อถึงวันเกษียณในยศ พลตำรวจตรี พ่อบุญธรรมจากกรมการศาสนา ได้เรียกผู้การหมาดๆเข้าไปแล้วบอกว่า “นี่คือพระสมเด็จเนื้อทองคำแท้ ขอมอบให้ไปเก็บรักษาต่อไป” ผู้การถึงกับอึ้งและรีบก้มกราบด้วยความปลื้มปีติ

เมื่อกลับมาบ้าน ท่านได้ขนานนามพระองค์นี้ว่า “องค์ฟ้าประทาน” เคียงคู่กับ “องค์ฟ้าลิขิต” และได้นำเอาพระทั้งสององค์มาเปรียบเทียบกัน ทำให้ได้เห็นความแตกต่างค่อนข้างชัดเจน

1.พระสมเด็จองค์นี้ ออกสีทองดอกบวบที่ไม่มีความแวววาวมากนัก ไม่เหมือนพระเปียกทองหรือชุบทองที่มักจะมีผิวสว่างสดใสออกแดงนิดๆ ซึ่งเป็นทองสมัยใหม่(ตามความเห็นของท่านอาจารย์โจ๊ก หลังจากวิเคราะห์จากผลสแกนแล้ว)

2.พระองค์นี้ พื้นผิวพระจะขรุขระ ไม่เรียบเนียนเหมือนพระสร้างจากเครื่อง บ่งบอกว่าสร้างจากมือด้วยแม่พิมพ์เดียวกับพระเนื้อผงที่ผิวไม่เรียบเช่นกัน ในขณะที่ด้านหลังของพระจะเป็นลายกาบหมากเหมือนกับองค์ฟ้าลิขิต บ่งบอกให้ทราบว่าเป็นพระที่สร้างด้วยมือบนกรรมวิธีเดียวกับเนื้อผงทั้งสององค์

3.บนผิวพระ ทั้งหน้า หลัง ขอบ จะมีร่อยรอยการแต่งด้วยตะไบทั้งองค์ อันนี้ถือเป็นหลักฐานสำคัญ เพราะเมื่อมองด้วยเหตุผลแล้ว การหล่อพระด้วยทองสมัยใหม่นั้น ต้องการให้ทองผิวเรียบสวยงามมากกว่าจะตะไบให้มีรอยทั่วองค์ บ่งบอกว่าเป็นพระที่สร้างด้วยมือและกรรมวิธีโบราณที่ต้องมีการขัดแต่งองค์พระให้สวยงาม

4.เนื่องจากทองคำมีราคาแพง เมื่อนำมาสร้างพระ จึงต้องทำให้บาง ซึ่งพระสมเด็จองค์นี้มีความหนาเพียง 1-1.5 มิลลิเมตรเท่านั้น ในขณะที่พระเปียกทองไส้ในโลหะอื่น จะมีความหนาประมาณ 3 มิลลิเมตร ซึ่งจุดนี้สามารถตัดสินได้เลยว่าเป็นพระสมเด็จเนื้อทองคำแท้อย่างแน่นอน (ถ้าเป็นทองคำแท้จะบาง ถ้าเปียกทองหรือทองชุบ จะหนา)

5.ท่านอาจารย์ ไพศาล พืชมงคลได้วิเคราะห์และสรุปว่า พระสมเด็จองค์นี้เป็นพระทองคำที่ “สร้างโดยคนสำคัญ ในวาระสำคัญ เพื่อบุคคลสำคัญของชาติ” อย่างแท้จริง

และนี่คือการปรากฏครั้งสำคัญของพระสมเด็จเนื้อทองคำนาม “องค์ฟ้าประทาน” และพระสมเด็จเปียกทองนาม “องค์ฟ้าลิขิต” ในครอบครองของท่าน พล.ต.ต สมศักดิ์ชัย อมรส่งเจริญ และเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสก้าวสู่การเป็นพระในตำนานครั้งนี้ ท่านผู้การจึงได้อนุญาตให้นำ “องค์ฟ้าประทาน” และ “องค์ฟ้าลิขิต” ให้ท่านอาจารย์โจ๊กนำไปโชว์ให้ยลโฉมความงามกันในงานประกวดพระในโรงภาพยนตร์วันที่ 31 มีนาคม 2567 ที่ ไอคอนสยาม ใครสนใจก็ไปชมกันได้

และนี่คือวาระสำคัญในการปรากฏโฉมของ “องค์ฟ้าประทาน” ในการก้าวสู่การเป็นองค์ตำนานแห่งพระสมเด็จเนื้อทองคำแท้โดยการครอบครองของ พลตำรวจตรี สมศักดิ์ชัย อมรส่งเจริญ

เป็น “องค์ฟ้าประทาน” ที่จะเป็นตำนานคู่วงการพระเครื่องตลอดไป

..