วันพฤหัสบดี ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 23:26 น.

อื่นๆ » คอลัมน์

บ้านเมืองพระเครื่อง

เจษ เมืองนนท์ : วันศุกร์ ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567, 07.34 น.

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรังสี) โดย..อ.เจษ เมืองนนท์

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรังสี) “บ้านเมืองออนไลน์” คอลัมน์ สืบสานพระสมเด็จ โดย..อ.เจษ เมืองนนท์

 17 เมษายน 2567 เป็นวันแห่งชาตะกาล (วันเกิด) ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ พรหมรังสี ครบรอบ 236 ปี คอลัมน์ สืบสานพระสมเด็จจึงใคร่ขอนำประวัติของท่านมาเผยแพร่เพื่อเทิดพระเกียรติยศ

ประวัติของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรฺหมฺรังสี) มารดาชื่อ  เกตุ (ธิดานายไชย) เดิมเป็นชาวบ้าน ต.ท่าอิฐ อำเภอบ้านโพธิ์ (ปัจจุบันคืออำเภอเมือง จ.อุตรดิตถ์) ส่วนบิดาจะมีนามใดไม่ปรากฏแน่ชัด ทราบเพียงแต่ว่ารับราชการเป็นชาวเมืองอื่น ต่อมาการทำนาไม่ได้ผลเพราะฝนแล้งมาหลายปี โยมมารดาท่านจึงคิดย้ายภูมิลำเนาโดยการออกทำมาค้าขายโดยทางเรือและตามหาโยมพ่อด้วย จนกระทั่งเดินทางมาถึง บ้านไก่โจน (ต่อมาแผลงเป็น “ไก้จ้น”) ตำบลไก่จ้น อำเภอนครน้อย (อ.ท่าเรือ) แขวงเมืองกรุงเก่า (จ.พระนครศรีอยุธยา) จึงได้จอดเรือในคลองป่าสัก ใต้ต้นสะตือ ที่ริมตลิ่งหน้าวัดท่างาม (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น วัดสะตือ) โยมเกตุได้คลอดบุตรเป็นชาย ณ ที่แห่งนั้น ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 5 ปีวอก สัมฤทธิ์ศก จ.ศ.1150 ตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331 เวลาบิณฑบาตรในสมัยของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 (หลังสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ได้ 7 ปี) และตั้งชื่อว่า “โต” เมื่อท่านเกิดแล้ว (ยังเป็นทารกแบเบาะ) มารดาก็พาท่านไปอยู่ที่ตำบลไชโย จ.อ่างทอง จนกระทั่งท่านนั่งได้ มารดาก็พามาอยู่ ณ บ้านตำบลบางขุนพรหม จังหวัดพระนคร จนกระทั่งยืนเดินได้ (ภายหลังท่านได้สร้างพระพุทธรูปใหญ่ เพื่อเป็นอนุสรณ์ ณ ที่ตำบลทั้ง 3)

ในตอนเยาว์วัยนั้นกล่าวกันว่าท่านได้ศึกษาอักขระสมัยในสำนักเจ้าคุณอรัญญิก วัดอินทรวิหาร ครั้งถึงปีวอก พ.ศ. 2342 อายุได้ 12 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ภายหลังได้ย้ายไปอยู่วัดระฆังโฆสิตาราม เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม ในสมัยที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นสามเณร ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ทรงโปรดฯ มาก ทรงรับไว้ในพระราชูปถัมภ์ ถึงได้พระราชทานเรือกันยา หลังคากระแชง ให้ท่านได้ใช้สอยตามอัธยาศัย ครั้นถึงอายุครบอุปสมบท เมื่อปี พ.ศ. 2350 ปีเถาะ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สามเณรโต ได้รับการอุปสมบทเป็นนาคหลวง ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม(วัดพระแก้ว) โดยสมเด็จพระสังฆราช(สุก) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ เป็นพระอุปัชฌาย์

สมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรฺหมฺรังสี)  มีอัธยาศัยมักน้อยเป็นปกติ ลาภสักการะที่ได้มาในทางเทศนาก็นำไปสร้างสิ่งเกี่ยวเนื่องด้วยพระศาสนา จึงมีผู้นับถือศรัทธามาก บางคนเรียกท่านว่า “ขรัวโต” เพราะท่านจะทำอย่างไรก็ทำตามความพอใจไม่ถือตามความนิยมของผู้อื่นเป็นใหญ่   ด้วยความที่พระองค์ท่านเป็นปูชนียบุคคลที่พระพุทธศาสนิกชนกล่าวขวัญถึง ในชื่อ “สมเด็จฯโตเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม และเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ที่มีความรอบรู้แตกฉานใน พระธรรมวินัย และธรรมปฏิบัติ ความเป็นเลิศในการเทศนา ได้รับการยกย่องสรรเสริญในสติปัญญาและ ปฏิญาณโวหารที่ฉลาดหลักแหลม เปี่ยมด้วยเมตตากรุณาแก่ผู้ตกยากมีอัธยาศัยมักน้อยสันโดษท่านถือปฏิบัติในข้อธุดงควัตรทุกประการ คือ ฉันในบาตร ถือผ้าสามผืนออกธุดงค์ เยี่ยมป่าช้า นั่งภาวนา เดินจงกรม 

สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ได้สร้างวัดและสิ่งเกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธศาสนาจำนวนมาก เช่น พระพุทธไสยาสน์  วัดสะตือ  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  พระมหาพุทธพิมพ์   วัดไชโย  จังหวัดอ่างทอง   หลวงพ่อโต วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม พระโตนั่งกลางแจ้งวัดพิตเพียน  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระพุทธรูปยืนอุ้มบาตร  วัดกลางคลองข่อย  จังหวัดราชบุรี  พระเจดีย์นอน วัดละครทำ ฯลฯ นอกจากศาสนวัตถุต่างๆ แล้ว สมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ยังได้รจนาบทสวดพระคาถาหลายบท แต่ที่เป็นที่รู้จักและถือว่าเป็นพระคาถาที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง และนิยมสวดภาวนาในหมู่พุทธศานิกชน คือพระคาถาชินบัญชรที่เข้มขลังยิ่งนัก

นอกจากนี้แล้ว ท่านยังได้สร้างพระเครื่องสี่เหลี่ยมชิ้นฟักที่เรียกกันว่าพระสมเด็จที่เป็นดั่งจักรพรรดิพระเครื่องเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาและตกทอดมาถึงลูกหลานในปัจจุบันอีกด้วย