วันอังคาร ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2567 15:22 น.

อื่นๆ » คอลัมน์

บ้านเมืองพระเครื่อง

เจษ เมืองนนท์ : วันศุกร์ ที่ 05 กรกฎาคม พ.ศ. 2567, 20.02 น.

ครูบาชัยมงคล ธรรมทายาทแห่งเมืองแพร่

“ครูบาชัยมงคล ธรรมทายาทแห่งเมืองแพร่” บ้านเมืองพระเครื่อง “สืบสานพระสมเด็จ” โดย...อ.เจษ เมืองนนท์

จังหวัดแพร่ เป็นเมืองเก่าที่มีประวัติอันยาวนาน ในตำนานจารึกไว้ว่าสร้างขึ้นในปี พศ.1371 โดยพระยาพล จึงเรียกว่าเมืองนครพล ซึ่งก่อตั้งก่อนเมืองนครพิงค์หรือเชียงใหม่ ต่อมาได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์บ้านเมือง จึงตกในการปกครองของอาณาจักรต่างๆ ทั้งอาณาจักรล้านนา(เชียงใหม่) อาณาจักรหงสาวดี(พม่า) อาณาจักรสุโขทัย อยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ โดยปัจจุบัน นับเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย  โดยมีคำขวัญประจำจังหวัดคือ หม้อห้อม ไม้สัก ถิ่นรักพระลอ ช่อแฮศรีเมือง ลือเลื่องแพะเมืองผี คนแพร่นี้ใจงาม

ตลอดเวลานับพันปีนั้น แม้จะผ่านการเปลี่ยนแปลงมามากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยคือการยึดมั่นในพระพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้จากการสร้างพระธาตุ (เจดีย์) เอาไว้มากมาย ที่โดดเด่นก็คือพระธาตุช่อแฮอันงดงามและเป็นสัญลักษณ์ของเมืองแพร่มาอย่างยาวนาน เมืองแพร่ จึงเป็นเมืองแห่งธรรมะมาอย่างมั่นคงนับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

ด้วยการดำรงมั่นในธรรมะนี้เอง จึงก่อให้เกิด"พิสุทธิ์สงฆ์"หรือ"พระแท้"เกิดขึ้นมากมายเพื่อส่องประกายแสงธรรมให้รุ่งโรจน์คู่เมืองแพร่ และหนึ่งในนั้นก็คือ ครูบาชัยมงคล ชัยธรรมโม วัดไทรย้อย อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่

ท่านครูบาชัยมงคลนั้น ดั้งเดิมท่านมีพื้นเพอยู่ในอำเภอสูงเม่น ประกอมสัมมาชีพเจริญรอยตามบุพการีอย่างสมถะเรียบง่าย จนกระทั่งถึงวัยบวชเรียน จึงได้เข้ารับการอุปสมบทตามประเพณีของชาวพุทธ โดยตั้งใจว่าจะบวชเพียงหนึ่งพรรษาเท่านั้น แต่เมื่อได้ศึกษาในธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้รู้สึกสงบร่มเย็นและซาบซึ้งในรสพระธรรม จึงได้อุทิศตนแด่ร่มพระศาสนาจนย่างเข้าสู่พรรษาที่ 32 ในปัจจุบัน

ตลอด 32 พรรษาในร่มศาสนานั้น ท่านครูบาชัยมงคลได้อุทิศตนเกื้อหนุนพระศาสนาอย่างเต็มความสามารถ โดยได้สร้างถาวรวัตถุเอาไว้มากมาย ในขณะที่อีกด้านหนึ่งก็ศึกษาพระเวทย์และมนตราวิทยาการต่างๆจากเหล่าครูบาอาจารย์ผู้เข้มขลังทั้งในประเทศและต่างแดน ไม่ว่าจะเป็น"ปู่ใหญ่"ผู้มีญาณทิพย์ หรือแม้แต่วิทยาการของพ่อครูทั้งสิบจากดินแดนพม่า และท่านได้นำเอาวิทยาการเหล่านั้นมาศึกษาฝึกฝนจนเกิดความช่ำชองและสืบทอดมนตราเหล่านั้นเอาไว้จรรโลงพระศาสนาตลอดไป

นอกเหนือจากการศึกษาพระเวทย์ต่างๆแล้ว ท่านครูบายังได้สร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของภาคเหนือเอาไว้มากมาย อาทิเช่น รอยพระพุทธบาทจำลอง ประดิษฐานไว้บนยอดเขา พระใหญ่ชัยยะมุนีเพื่อปกป้องบ้านเมือง  รวมทั้งรูปปั้นพ่อครูทั้งสิบ, ท่านท้าวสีสะแลงแงง ภูติแห่งโชคลาภ, สมเด็จลุน อริยสงฆ์จากแดนล้านช้าง, รวมทั้งพระพุทธรูปองค์ดำนาลันทา ที่สกัดจากหยกดำของอินเดียแล้วนำเข้ามาสู่ประเทศไทยทั้งองค์เพื่อตามรอยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจจากอินเดีย

นอกเหนือจากถาวรวัตถุภายในวัดแล้ว ท่านครูบาชัยมงคลยังสนใจใฝ่เรียนรู้การสร้างวัตถุมงคลในทุกๆแขนง รวมทั้งยังอุทิศตนเพื่อให้เป็นที่พึ่งพิงของญาติโยมในเขตจังหวัดแพร่ และในเขตภาคเหนือตอนบนอีกด้วย อันจะเป็นช่องทางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่คู่เมืองแพร่ตลอดไป

ในปัจจุบัน ท่านครูบาชัยมงคลดำรงอยู่ในสถานะเจ้าอาวาสวัดไทรย้อย และแม้จะมีการทาบทามให้ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบล แต่ท่าก็ปฏิเสธด้วยเหตุผลที่ว่า "การบวชของอาตมาเพื่อทำนุบำรุงให้เกิดประโยชน์ต่อพระศาสนา มิได้หวังในยศถาบรรดาศักดิ์ส่วนตนใดๆทั้งสิ้น"

นอกเหนือจากการมุ่งมั่นเพื่อพระศาสนาแล้ว ปัจจุบันท่านยังมีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะจัดสร้างองค์สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) พรหมรังสี ขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง 2.70 เมตร สูง 7 เมตร ประดิษษฐานไว้ที่วัดไทรย้อย  พร้อมทั้งจัดสร้างศาลาโชว์พระสมเด็จวัดระฆัง บางขุนพรหม วัดเกศไชโย วัดสะตือ วัดขุนอิทประมูล หลวงปู่ทวด หลวงพ่อเงิน รวมทั้งพระอื่นๆอีกมากมาย เพื่อให้วัดไทรย้อยเป็นดั่ง "วัดระฆังแห่งภาคเหนือ" ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนนั่นเอง

นานนับพันปีแล้วที่พุทธศาสนาดำรงอยู่คู่เมืองแพร่ และในวันนี้ก่อกำเนิด “สายธารแห่งธรรมะ” ขึ้นแล้วโดยท่านครูบาชัยมงคล แห่งวัดไทรย้อย ผู้เปรียบดัง "ธรรมทายาท" เพื่อสืบสานพระพุทธศาสนาให้เคียงคู่เมืองแพร่ตลอดไป