วันจันทร์ ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 11:12 น.

อื่นๆ » คอลัมน์

บ้านเมืองพระเครื่อง

เจษ เมืองนนท์ : วันพฤหัสบดี ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2567, 19.16 น.

พระสมเด็จจิตรลดา “บ้านเมืองพระเครื่อง” สืบสานพระสมเด็จ

พระสมเด็จจิตรลดา “บ้านเมืองพระเครื่อง” สืบสานพระสมเด็จ โดย..อ.เจษ เมืองนนท์

เนื่องในวโรกาสปีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 28 กรกฎาคม พระชนมายุ 72 พรรษา คอลัมน์สืบสานพระสมเด็จและบ้านเมืองจึงใคร่น้อมเกล้าถวายพระพรชัยมงคล ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

และเพื่อร่วมเฉลิมฉลองปีมหามงคลนี้ สืบสานพระสมเด็จจึงใคร่ขอนำเอา “พระสมเด็จจิตรลดา” ที่สร้างด้วยฝีพระหัตถ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มานำเสนอครับ

“พระสมเด็จจิตรลดา” หรือ “พระกำลังแผ่นดิน” เป็นพระเครื่อง ที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสร้างด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง พระราชทานแก่ทหาร ตำรวจข้าราชการ และพลเรือน ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2508 - 2513 มีทั้งสิ้นประมาณ 2,500 องค์ โดยมี ศาสตราจารย์ ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ข้าราชการบำนาญกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร แห่ง มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้แกะแม่พิมพ์ถวาย

“พระสมเด็จจิตรลดา” เป็นพระเครื่องทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ขอบองค์พระด้านหน้าทั้ง 3 ด้าน เฉียงป้านออกสู่ด้านหลังเล็กน้อย มี 2 ขนาดพิมพ์ คือ

พิมพ์เล็ก กว้าง 1.2 เซนติเมตร สูง 1.9 เซนติเมตร

พิมพ์ใหญ่ กว้าง 2 เซนติเมตร สูง 3 เซนติเมตร

พระสมเด็จจิตรลดาเป็นพระปางสมาธิ ศิลปะรัตนโกสินทร์ พระพักตร์ทรงผลมะตูม องค์พระประทับนั่งขัดสมาธิราบ ประทับนั่งเหนือบัลลังก์ดอกบัว ประกอบด้วย กลีบบัวบานทั้ง 9 กลีบ และเกสรดอกบัว 9 จุดอยู่ในกรอบสามเหลี่ยมหน้าจั่ว มีลักษณะละม้ายคล้ายกับพระพุทธนวราชบพิตร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานประจำทุกจังหวัดและหน่วยทหาร แต่ต่างกันที่พระพุทธนวราชบพิตรเป็นพระปางมารวิชัย

พระสมเด็จจิตรลดามีหลายสี ตามมวลสารที่ใช้ผลิตในแต่ละครั้งแตกต่างกัน ได้แก่ สีน้ำตาล สีน้ำตาลอมเหลือง สีน้ำตาลอมแดงคล้ายเทียน สีดำอมแดง หรือสีดำอมเขียว มีทั้งสีเข้มและอ่อน มวลสารของพระสมเด็จจิตรลดา ประกอบด้วย เรซินและผงพระพิมพ์ โดยทรงนำมาบดเป็นผงรวมกับเส้นพระเจ้า คลุกกับกาวเป็นเนื้อเดียวกัน และผสมมวลสารประกอบด้วย ดอกไม้แห้งจากมาลัยที่ประชาชนได้ทูลเกล้าฯ ถวายในการเสด็จพระราชดำเนินเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และได้ทรงแขวนไว้ที่องค์พระตลอดเทศกาล,เส้นพระเจ้า ซึ่งเจ้าพนักงานได้รวบรวมไว้หลังจากทรงพระเครื่องใหญ่ทุกครั้ง ดอกไม้แห้ง จากมาลัยที่แขวนพระมหาเศวตฉัตรและด้ามพระแสงขรรค์ชัยศรี ในพระราชพิธีฉัตรมงคล สีซึ่งขูดจากผ้าใบที่ทรงเขียนภาพฝีพระหัตถ์ ชันซึ่งทรงขูดจากเรือพระที่นั่งที่ใช้แข่งขันกีฬาแหลมทอง 1967

นอกจากนี้แล้ว ยังผสมวัตถุมงคลศักดิ์สิทธิ์จากทุกจังหวัด ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้นำขึ้นทูลเกล้าฯถวาย ประกอบด้วยวัตถุที่ได้มาจากปูชนียสถาน หรือพระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนเคารพบูชาในแต่ละจังหวัด ดอกไม้ ผงธูป เทียนบูชาพระแก้วมรกต ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศวิหาร พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก ดิน ตะไคร่น้ำแห้งจากใบเสมา จากสังเวชนียสถานในประเทศอินเดีย และประเทศศรีลังกา น้ำจากบ่อน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ทั่วประเทศ จึงเปี่ยมด้วยมหามงคลยิ่งนัก

ในการแจกให้กับทหารตำรวจนั้น ในหลวง ร.9 ท่านจะทรงแจกด้วยพระองค์เอง และมีพระราชดำรัสแก่ผู้รับว่า "ให้ปิดทองที่หลังองค์พระปฏิมา แล้วเอาไว้บูชาตลอดไป ให้ทำความดีโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ" และในหลวงรัชกาลที่ 10 ก็ได้ดำเนินตามรอยพระบาท โดยทรงเป็นผู้ปิดทองหลังพระตามรอยพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร์ด้วยการสืบสาน รักษา และต่อยอดเพื่อความสุขความเจริญของประเทศชาติและประชาชนตลอดมา

และในวาระมหามงคลเฉลิมพระชนม์ 72 พรรษานี้ ประชาชนผู้สะสมพระเครื่องไทยจึงพร้อมใจกันถวายพระพร ขอพระองค์ทรงพระเจริญ เป็นพระมิ่งขวัญของชาวไทยตลอดกาลนานเทอญ