วันศุกร์ ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2567 04:29 น.

อื่นๆ » คอลัมน์

บ้านเมืองพระเครื่อง

เจษ เมืองนนท์ : วันพฤหัสบดี ที่ 05 กันยายน พ.ศ. 2567, 22.22 น.

10 เรื่องน่ารู้ของพระสมเด็จวัดสะตือ (ตอนที่ 2) : สืบสานพระสมเด็จ

10 เรื่องน่ารู้ของพระสมเด็จวัดสะตือ (ตอนที่ 2) : สืบสานพระสมเด็จ   

วัดสะตือพุทธไสยาสน์ สร้างในปี พศ.2400 ต่อมา พศ.2413 สมเด็จโตได้มาจัดสร้างพระนอนพุทธไสยาสน์ขึ้นเพื่ออุทิศกุศลแด่คุณตา จนกระทั่งแล้วเสร็จในปี พศ.2414 ท่านจึงได้ทำการบรรจุพระสมเด็จไว้ โดยนำพระที่เคยสร้างไว้และตกค้างไม่ได้แจกใครมารวมกับพระที่สร้างใหม่จากวัดระฆังแล้วลำเลียงโดยเรือมาขึ้นที่วัดสะตือ ซึ่งพระที่นำมาบรรจุนั้นเป็นพิมพ์เดียวกับวัดระฆัง มีด้วยกัน 11 พิมพ์ (พิมพ์ใหญ่ เจดีย์ ฐานแซม เกศบัวตูม ปรกโพธิ์ ยอดขุนพรหม เล็บมือ สามเหลี่ยม วัดเกศ และไสยาสน์)ซึ่งพิมพ์ไสยาสน์จะมีเอกลักษณ์เด่นไม่เหมือนวัดใดๆ จึงมีการคาดหมายกันว่าเป็นแม่พิมพ์ใหม่ที่สร้างตามแบบพระนอนวัดสะตือโดยเฉพาะเท่านั้น

ด้วยบทสรุปที่ชัดเจนว่า“พระสมเด็จวัดระฆังกับพระสมเด็จวัดสะตือ คือเรื่องเดียวกัน” พระสมเด็จวัดสะตือจึงได้รับความนิยมและสะสมอย่างกว้างขวางในปัจจุบันนี้ เพื่อให้นักสะสมได้รู้จักกันมากขึ้น คอลัมน์สืบสานพระสมเด็จในบ้านเมืองจึงใคร่ขอนำเกร็ดความรู้ในหัวข้อ “10 เรื่องน่ารู้ของพระสมเด็จวัดสะตือ” มานำเสนอกัน ซึ่งในตอนที่แล้วนำเสนอไปแล้ว 3 ข้อ ตอนนี้มาต่อกันข้อที่ 4 กันครับ

4.หลังพระสมเด็จวัดสะตือจะมีด้วยกัน 4 แบบ 1.หลังเรียบ 2.หลังสังขยา 3.หลังกาบหมาก 4.หลังปริแยก 

พระสมเด็จวัดสะตือ สร้างขึ้นตามพระประสงค์ของสมเด็จโต จึงถือว่าเป็นเรื่องของประชาชน มิได้เกี่ยวข้องกับพิธีทางวังเบื้องสูงในวาระสำคัญ ดังนั้น พิมพ์พระจึงไม่มีเค้าโครงที่เกี่ยวข้องกับพิมพ์ชาววังใดๆทั้งสิ้น ไม่ว่าจะด้านหน้าหรือด้านหลังหรือลวดลายต่างๆก็ตาม

5.มีการเล่าขานกันว่า จอมพล ป.พิบูลย์สงครามเป็นผู้เปิดกรุในปี พศ. 2499 แต่เนื่องจากในช่วงนั้นยังไม่นิยมพระเครื่องกันมากนัก พระที่พบจึงแจกจ่ายในวงแคบๆเท่านั้น และการเปิดกรุครั้งนั้น ก็ไม่มีการบันทึกไว้ในประวัติของทางวัดแต่อย่างใด

ข้อสังเกตุ..พศ.2499 ที่มีการเปิดกรุนั้น จอมพล ป.ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งคนระดับสูงสุดของรัฐบาลมาเปิดกรุเช่นนี้ ทำไมจึงไม่มีบันทึกในประวัติของวัดอีกประเด็นคือ ในช่วงเปิดกรุ พศ.2499 ยังไม่มีความนิยมในการสะสมพระสมเด็จจริงหรือไม่  ในขณะที่มีการเปิดกรุวัดบางขุนพรหม พศ.2500 กลับได้รับความนิยมอย่างสูงจากนักสะสมทั้งๆที่เวลาห่างกันเพียงไม่กี่เดือน หรือว่าจอมพล ป.มิได้เป็นผู้เปิดกรุ เพราะกรุแตกก่อนหน้านั้นแล้ว?

6.หากตรวจสอบประวัติ จะพบเหตุการณ์มากมายเกิดขึ้นที่วัดสะตือผ่านช่วงเวลาต่างๆ โดยเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2499 เมื่อเกิดน้ำท่วมหนักที่วัดสะตือ โดยน้ำท่วมสูงมิดองค์พระนอน เหลือเพียงเศียรเท่านั้น และท่ามกลางความโกลาหลอลหม่านนั้น ผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือทางวัดและชาวบ้านก็คือทหารจากจังหวัดสระบุรีและลพบุรีตามบัญชาของจอมพล ป.นายกรัฐมนตรีขณะนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่(อาจจะ)มีการเคลื่อนย้ายพระออกไปในช่วงน้ำท่วมโดยทางวัดไม่รู้

7.หลังน้ำลด ในเดือนพฤศจิกายน 2499 จอมพล ป.ได้เดินทางมาไหว้พระที่วัด และเห็นว่าพระนอนทรุดโทรมจากน้ำท่วม จึงสั่งให้มีการปฏิสังขรณ์ แต่ไม่มีหลักฐานว่าจอมพล ป.เป็นผู้เปิดกรุในประวัติของวัด และเมื่อถึงเดือนกันยายน 2500 จอมพล สฤษณ์ ธนะรัชต์ ผบ.ทบ.ขณะนั้นไดเทำการปฏิวัติ จอมพล ป.ลี้ภัยไปญี่ปุ่น และไม่เคยกลับมาอีกเลย ทิ้งปริศนาการเปิดกรุวัดสะตือให้ดำมืดตลอดมาว่าเป็นผู้เปิดกรุจริงหรือไม่

8.ปี พศ.2514 ทางองค์การพลังงานทหาร หรือที่เรียกว่าน้ำมันสามทหาร ได้ออกปฏิทินเป็นชุดพระสมเด็จวัดระฆังแจกจ่ายประชาชน โดยมีพิมพ์เอกคือ พิมพ์ยอดขุนพล และถูกยกย่องให้เป็นพระประจำตัวของจอมพลถนอม กิตติขจร แต่กระนั้นก็ทำให้เกิดข้อสงสัย เพราะพระสมเด็จในปฏิทินนั้นมีคราบกรุครอบคลุมค่อนข้างหนา แตกต่างจากวัดระฆังที่ไม่ได้ลงกรุ จึงมีการสืบค้นและคาดกันว่าพระสมเด็จในปฏิทินสามทหารปีนั้นคือพระสมเด็จวัดสะตือหรือไม่

9.พระสมเด็จวัดสะตือ เป็นพระในกรุร้อน ทำให้เนื้อพระแห้งกว่ากรุอื่นๆ วิธีการดูจึงต้องดูที่ความแห้งผากของผิวพระเป็นหลัก ในขณะที่พระลงรักน้ำเกลี้ยง เมื่อรักล่อนจะออกมาเป็นขุยเล็กๆ กระจายเป็นหย่อมๆ ซึ่งหากเจอคราบเป็นปื้นๆหนาๆ หรือมีดินขี้เป็ดพอกหนาๆบนองค์พระ มีโอกาสเก๊สูงมาก

10.การล้างพระสมเด็จวัดสะตือ ที่นิยมกันก็คือ ใช้วิกซอลผสมกับน้ำสัดส่วน 1ต่อ 20 แล้วแช่พระไว้ประมาณ 2 นาที จากนั้นนำพระขึ้นมาแล้วใช้พู่กันปัดเบาๆ คราบกรุและยางรักก็จะหลุดล่อน จากนั้นแล้วก็นำพระไปผึ่งลมให้  

และทั้งหมดนั้นคือเรื่องน่ารู้ของพระสมเด็จกรุวัดสะตือ ที่นำมาฝากกันครับ