วันศุกร์ ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568 13:13 น.

อื่นๆ » คอลัมน์

บ้านเมืองพระเครื่อง

เจษ เมืองนนท์ : วันพฤหัสบดี ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2568, 09.27 น.

ประวัติศาสตร์ที่ขาดหาย..

   ประวัติศาสตร์..คือการบันทึกเรื่องราวในอดีตบนเหตุการณ์ต่างๆว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งแน่นอนว่า การบันทึกประวัติศาสตร์นั้นๆ ต้องมีหลักฐานที่ชัดเจนเชื่อถือได้ในทุกแง่มุม จึงจะนับเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องเที่ยงตรง 

แต่แปลกอย่างยิ่งที่ประวัติของสมเด็จโตกลับคลาดเคลื่อนในหลายๆเรื่อง แม้กระทั่งประวัติส่วนตัวของท่าน โยมพ่อโยมแม่ชื่ออะไร ก็ยังมีข้อขัดแย้งหาบทสรุปไม่ได้จนถึงวันนี้
    ผมเคยเป็นคณะทำงานร่วมกับท่านอาจารย์ บุญชัย จรัสรัศมี ท่านอาจารย์  และอาจารย์อีกหลายท่าน เพื่อนำเสนอยูเนสโก้ในการยกย่องสมเด็จพระพุฒาจารย์ พรหมรังสีขึ้นเป็นบุคคลสำคัญของโลกในวาระ 150 ปีมรณกาล แต่หลังจากรวบรวมข้อมูลต่างๆยื่นไปแล้ว กลับถูกตีตกไปด้วยเหตุผลว่า..

    "ข้อมูลที่นำเสนอนั้น เป็นเพียงเรื่องเล่า แต่ขาดหลักฐานยืนยันที่ชัดเจน"
     เป็นประวัติศาสตร์ที่ขาดหายไป เหลือเพียงเรื่องเล่าที่ไร้หลักฐานเท่านั้น
     น่าผิดหวังนะครับ...

      ในการเล่นหาพระสมเด็จยุคปัจจุบันก็มีแนวโน้มไปในทาง"เรื่องเล่า"มากขึ้นทุกที จนในบางครั้งขาดซึ่งหลักฐานและเหตุผลรองรับ ทำให้เกิดทฤษฎีต่างๆมากมาย รวมทั้งเรื่องเล่าที่มาที่ไปของพระสมเด็จจากที่ต่างๆ ก็มักจะใช้"เรื่องเล่า"ในการเล่าเรื่องโดยขาดหลักฐานและเหตุผลรองรับ 

     เราลองใช้"เหตุผล"ในการพิจารณาเรื่องเล่าของพระกรุต่างๆกันดูครับ
....กรุเพดานโบสถ์ วัดพระแก้ว
     อุโบสถวัดพระแก้วนั้น เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต และเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีอุปสมบทนาคหลวง รวมทั้งการเสด็จพระราชดำเนินของในหลวงในการเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกตตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แล้วเป็นไปได้หรือที่จะมีบุคคลใดหรือพระรูปใดจะนำพระสมเด็จที่มีน้ำหนักมากๆไปแอบตั้งไว้โดยไม่ได้รับอนุญาต

     ถ้ายืนยันว่ามีการนำพระไปวางบนเพดานโบสถ์จริง..คำถามก็คือ ใครเป็นคนนำไปวาง
     คำถามต่อมาก็คือ..ใครเป็นผู้พบ เมื่อพบแล้วมีหลักฐานการพบหรือไม่?
      คำถามถัดมาคือ เมื่อพบแล้ว นำออกมาได้อย่างไร รอดหูรอดตาเวรยามที่เข้มงวดได้อย่างไร และใครจะนำสิ่งของออกจากวัดพระแก้วได้ง่ายๆได้อย่างไร?
     นี่เป็นประวัติศาสตร์ที่ขาดหาย เหลือเพียงเรื่องเล่าที่ขาดวิ่นและอบอวลด้วยเม็ดเงินจากการขายพระ

      คำถามเหล่านี้ ไม่ควรจะเกิดกับโบสถ์วัดพระแก้วเพียงแห่งเดียว แต่ควรจะเกิดคำถามต่อสถานที่ราชการและวังต่างๆทุกแห่งที่มีการอ้างว่าพบกรุพระ รวมทั้งพระหีบต่างๆว่าได้มาจากไหน ได้มาอย่างไร เพราะสถานที่ราชการและทรัพย์ส่วนตัวเหล่านี้ มีการตรวจตราอย่างเข้มงวดทั้งการเข้าและออก ดังนั้น การจะเข้าไปแล้วหยิบฉวยพระออกมา 
จำนวนมากนับล้านองค์ จึงเป็นไปได้ยากมาก

....เรื่องราวทั้งหมด จึงไม่สามารถฟันธงว่าเป็น "ประวัติศาสตร์" ได้ เพราะเป็นแค่ "เรื่องเล่าอันขาดวิ่น" เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจเท่านั้น
     ประวัติศาสตร์คือเรื่องราวที่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนในทุกแง่มุม ถึงเวลาหรือยังที่จะมีการรวมใจปราชญ์แห่งแผ่นดินที่รู้จริง ร่วมกันสังคายนาเรื่องราวอันเกี่ยวเนื่องกับพระสมเด็จให้ชัดเจนขึ้นเพื่อเป็น"ประวัติศาสตร์"ที่ถูกต้องและดำรงอยู่คู่แผ่นดินไทยตลอดกาลนาน...