อื่นๆ » คอลัมน์
บ้านเมืองพระเครื่อง
อ. วันชัย : วันอาทิตย์ ที่ 06 เมษายน พ.ศ. 2568, 11.12 น.
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่

พระเด่นคนดังบ้านเมือง (6 เม.ย.68)
“เหรียญระฆังรุ่น 14 อาจารย์ฝั้นพิมพ์ 2 จุด”
เหรียญระฆังพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร รุ่นที่ 14 เป็นเหรียญที่ น.อ.เกษม งามเอก และคุณอุไร อินทรัมพรรย์ จัดสร้างถวาย ในวาระทำบุญอายุครบ 6 รอบ 72 ปี จัดเป็นเหรียญต้นแบบเหรียญระฆัง ยุคแรกของวงการพระเครื่องที่ออกแบบได้งดงาม เหรียญรุ่นนี้แยกได้เป็น 2 พิมพ์ คือ พิมพ์ดอกจันทร์ 5 จุดเนื้อทองเหลือง มีไหล่แตกกับไม่แตก และพิมพ์ดอกจันทร์ 2 จุด เนื้อนวะ อัลปาก้า ทองเหลือง ทองเหลืองรมดำ เหรียญทั้งสองพิมพ์นี้ ผู้จัดสร้างนำเข้าพิธีปลุกเสกเหรียญอายุครบ 100 ปีพระอาจารย์มั่นก่อนแล้ว จึงนำมาถวายพระอาจารย์ฝั้นปลุกเสกอีกครั้ง เหรียญ ระฆัง 2 จุด ปี 14 เนื้อนวโลหะ อาจารย์ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร เหรียญนี้เป็นเหรียญสวยสมบูรณ์อยู่ในความครอบครองของ คุณชัยวัฒน์ เขียวศรี หรือ อ.โทน ทองพระเครื่อง
“พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์สังฆาฏิ”
พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์สังฆาฏิ กรุเก่า องค์นี้สวยสมบูรณ์ในยุคปัจจุบัน เจ้าของพระ คุณอิศรา เตชะสา หรือ ป.ทรัพย์สยาม ผู้ผลักดันส่งเสริมพระสมเด็จวัดระฆัง ๑๐๐ ปี สู่อินเตอร์ เขียนหนังสือมาตรฐาน ๑๐๐ ปี หลายเล่มขายเกลี้ยง โชคอำนวยช่วยคนดีมีฝีมือได้ซื้อพระสมเด็จบางขุนพรหม กรุเก่า เก็บไว้ในรัง ส่งเข้าประกวดงานสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย กำแพงเพชร เพิ่งผ่านไปสองสามอาทิตย์ได้รับรางวัลที่ ๑ มีใบเซอร์สมาคมฯ การันตีพระแท้พระสวยระดับประกวด ยังคงความสวยสมบูรณ์ เป็นพระสมเด็จที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สร้างบรรจุในพระเจดีย์ใหญ่วัดใหม่อมตรส บางขุนพรหมสมัยนั้น สอบถามได้ โทร.094-9529889
“หลวงพ่อพรหม พิมพ์เข่ากว้างหลังเต็ม ปี 16”
รูปเหมือนเข่ากว้างหลังเต็มหลวงพ่อพรหม เนื้อทองระฆัง วัดช่องแค จ.นครสวรรค์ พิธีเสาร์ห้า ปี 2516 คณะกรรมการวัดช่องแคจัดสร้าง มีพล.อ.กาจบัณฑิต โชติกญาณ พ.ต.อ.อภัย วรดิถี และหมอสมสุข คงอุไร เป็นต้น จัดสร้างเป็นรูปเหมือนปั้มมีเนื้อทองคำ 2 องค์ เนื้อเงิน 30 องค์ เนื้อทองระฆัง 2,000 องค์ เนื้อทองแดง 5,000 องค์ เนื้อตะกั่ว 1,000 องค์ และยังมีเนื้อทองระฆังล้วนๆ 19 องค์ ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อพรหมนั่งสมาธิ เข่ามีความกว้างมาก บนสังฆาฏิมียันต์ นะฤาชา เหมือนพิมพ์หลังเตารีด ปลายสังฆาฏิมีอักขระ โส ภะ คะ วา ด้านล่างมีข้อความ หลวงพ่อพรหม ด้านหลังฐานล่างมีข้อความ วัดช่องแค องค์นี้เป็นพระสวยแชมป์ หน้าตาและยันต์ชัดเจน เนื้อมีรอยแตกลั่นด้วยใช้ระฆังเก่านำมาปั้ม อยู่ในความครอบครองของ ป้อม สามัคคีธรรม โทร.065-5929594
“พระปิดตาหลวงพ่อโต วัดเนิน จ.ชลบุรี”
หลวงพ่อโต วัดเนินสุทธาวาส ได้จัดสร้างพระปิดตาเนื้อผงคลุกรัก สีน้ำตาลไหม้ สีดำอมน้ำตาล และสีน้ำตาลอมแดง ชื่อเสียงลือลั่นในยุคปี พ.ศ.2440 พระของท่านได้รับความนิยม ๑ใน ๕ เสือ พระปิดตาเมืองชล พระปิดตาหลวงพ่อโต มีเอกลักษณ์เฉพาะคือ องค์พระอวบใหญ่ ศิลปะงดงาม รูปลักษณ์องค์พระสังกัจจายนะ อัครสาวกผู้เปี่ยมด้วยความสมบูรณ์พูนสุข แบ่งเป็นพิมพ์เข่ายก พิมพ์แข้งติด พิมพ์แข้งซ้อน ด้านหลังมีทั้งแบบหลังอูม หลังเรียบและหลังยันต์อุ ยันต์เฑาะว์ องค์นี้พิเศษ ฐานสูง ชะลูด อยู่ในความครอบครองของ เติ้ล MT นักล่าโล่พระสวยงามประกวดพระ รักษาถ้วยแชมป์ สมัยที่ 6 โต๊ะพระปิดตายอดนิยม โทร.061-5239166
“หลวงพ่อเงิน บางคลาน พิมพ์ขี้ตา 4 ชาย”
รูปหล่อหลวงพ่อเงิน พุทธโชติ วัดบางคลาน จ.พิจิตร พิมพ์นี้ช่างในวัดบางคลานเป็นผู้เทหล่อทีละองค์ ใช้แม่พิมพ์แบบประกบเทกรอกเนื้อโลหะเข้าทางใต้ก้นองค์พระ สมัยก่อนเรียกว่าพิมพ์เบ้ากระดก จะเห็นใต้ก้นองค์พระเป็นรอยตะปุ่มตะป่ำเป็นธรรมชาติ ช่างจะใช้ตะไบแต่งใต้ก้น ทุกองค์จะมารอยตะเข็บขอบข้างแต่ไม่มีรอยก้านชนวนที่ใต้ก้น แบ่งเป็นพิมพ์ขี้ตา 4 ชายจีวรยาวและ 4 ชายจีวรสั้น องค์ที่ลงให้ชมเป็นพระหลวงพ่อเงิน บางคลานพิมพ์ 4 ชาย จีวรยาว ของ การ์ตูน เมืองจันทร์ โทร.098-4430553
“กุมารทอง หลวงพ่อเต๋ คงทอง วัดสามง่าม”
กุมารทองแกะหลวงพ่อเต๋ คงทอง วัดสามง่าม หรือวัดอรัญญิการาม จ.นครปฐม เป็นที่นิยมสูงและมีราคาแพงโดดเด่นเป็นพิเศษ องค์นี้เป็นกุมารแกะที่หลวงพ่อเต๋ คงคสุวัณโณ หรือ พระครูภาวนาสังวรคุณ ผู้เป็นปฐมบทสร้างกุมารทอง ผู้ที่สืบทอดต่อ คือ หลวงพ่อแย้ม ฐานยุตโต หรือพระครูประยุตนวการ หลวงพ่อเต๋ คงทอง ศึกษาวิชาอาคมต่อมาจากหลวงพ่อแดง มีอิทธิฤทธิ เรียกทรัพย์ร่ำรวยเงินทอง มีเมตตามหานิยมเป็นเลิศใช้เฝ้าบ้าน ร้านค้าเรียกผู้คน กุมารทองแกะหลวงพ่อเต๋ คงทอง ตนนี้ของ ศรี ภูธร โทร.098-1035537
“พระร่วงหลังรางปืน สุโขทัย”
พระร่วง หลังรางปืนหนึ่งในห้าอันดับชุดเบญจภาคีเนื้อชินยอดนิยม แตกกรุออกมาเมื่อ 50 ปีก่อน จากพระปรางค์องค์ใหญ่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ศรีสัจนาลัย จ.สุโขทัย พบพระจำนวน 200 องค์ เป็นพระเนื้อชินตะกั่วสนิมแดง ศิลปะยุคเขมรบายน ปางประทานพรในซุ้มเรือนแก้ว ด้านหลังมีลักษณะพิเศษเป็นร่องกดลึกเป็นแนวยาว สมัยก่อนเรียกกันว่า หลังกาบหมาก ผู้นำไปใช้มีประสบการณ์ด้านแคล้วคลาดจากอันตรายโดยเฉพาะเรื่องปืน อีกทั้งด้านหลังเป็นร่องปืนแก๊ปจึงเรียกว่า “หลังรางปืน” เป็นพระสนิมแดงมีไขปกคลุมอีกชั้นหนึ่ง มีทั้งพิมพ์ใหญ่ฐานสูง พิมพ์ใหญ่ฐานเตี้ย พิมพ์แก้มปะ พิมพ์หน้าหนุ่ม และพิมพ์เล็ก องค์นี้ของ ดร.ประเสริฐ ฉัตรตระกูล
“พระรอด วัดมหาวัน พิมพ์ใหญ่ จ.ลำพูน”
วัดมหาวัน เป็นวัดเก่าแก่พระนางจามเทวีสร้างขึ้นมีอายุกว่า 1,200 ปี พระเจดีย์ทรุดตัวพังลงมาจึงพบพระรอด สมัยก่อนคนโบราณเรียกว่า “ พระรอดองค์ใหญ่” พระที่พบมีแห่งเดียวในประเทศไทยไม่พบกรุอื่น เป็นพระรอดขนาดองค์เล็กฝีมือสกุลช่างหริภุญไชย พระรอดเป็นพระเนื้อดินเผาหนึกนุ่มได้รับความร้อนไม่เท่ากันทำให้ผิวของพระมีหลายสี แยกไว้ได้ 6 สี คือสีขาว มีแดง เหลือง เขียว เขียวคราบเหลือง เขียวเข้ม ผู้เชี่ยวชาญพระเนื้อดินบอกเป็นพระพุทธปติมากรรมศิลปะแบบทวาราวดี-ศรีวิชัย สกุลช่างหริภุญไชย ศตวรรษที่ 17 พระที่พบมีทั้งพิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก พิมพ์ต้อ และพิมพ์ตื้น พระรอด วัดมหาวัน องค์ที่ลงนี้เป็นพระรอดพิมพ์ใหญ่ อยู่ในความครอบครองของ ดร.สรวิชญ์ ทรัพย์สุขสำราญ
“พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ หลังแบบ”
พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว เนื้อผงคลุกรัก หรือจุ่มรัก เป็นพระที่รับการยกย่องให้เป็นพระปิดตาอันดับ 1 ทั้งค่านิยมและราคา ความศักดิ์สิทธิ์ในคุณวิเศษ ยังไม่มีพระปิดตาใดที่มีราคาค่านิยมสูงเท่า ท่านเริ่มทำพระปิดตาแจกตั้งแต่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดปากทะเล เป็นพระพิมพ์ปั้นลอยองค์ และสร้างพระปิดตาพิมพ์ ใหญ่หลังแบบ พิมพ์กลางและพิมพ์เล็ก แจกผู้ที่ร่วมสร้างศาลาการเปรียญใครนำไม้ซุงมาให้ก็แจกพระปิดตาให้องค์หนึ่ง คนโบราณเรียกว่า “รุ่นแลกซุง” พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์พิมพ์ใหญ่ หลังแบบองค์นี้ของ ผู้ใหญ่ต้อย พัทยา โทร.082-3652282
“พระกริ่งปวเรศ สัมฤทธิ์เดช สมัย ร.4”
อ.เกณิกา เสตะปุระ นายกสมาคมพระกริ่งประเทศไทย เจ้าของหนังสือเปิดตำนานพระกริ่งปวเรศ นำพระกริ่งปวเรศที่สมาชิกนำมาตรวจเช็คเพื่อศึกษาร่วมกันกล่าวว่า พระกริ่งปวเรศเนื้อสัมฤทธิ์เดชองค์นี้ จัดสร้างแกะแม่พิมพ์โดยพระองค์เจ้าลดาวัลย์ กรมหมื่นภูมินทรภักดี ผู้กำกับช่างสิบหมู่สมัย ร.4 เพื่อถวายสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี) เป็นผู้อธิษฐานจิตปลุกเสก พระกริ่งปวเรศองค์นี้เนื้อสัมฤทธิ์เดชกลับดำ ใต้ก้นจารบางๆ “โต” เจ้าของพระปวเรศ องค์นี้ได้รับสืบทอดมาจากตระกูลบุนนาค ได้ใช้ติดตัวตลอดมากว่า 60 แล้ว
“ชมรมพระเครื่องไทยสายวิทยาศาสตร์”
นายยงยุทธ นิฐินันท์กุล ประธานชมรมพระเครื่องไทย สายวิทยาศาสตร์ กำหนดจัดประกวดพระเครื่อง พระบูชา เหรียญคณาจารย์ และเครื่องรางครั้งที่ 5 วันอาทิตย์ที่ 8 มิถุนายน 2568 ณ ห้องไปรษณีย์ไทย ห้องแสตมป์ทอง งานนี้มีรางวัลแจกมากมาย โดยมี นายวสันต์ มงคลลาภกิจ เป็นประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ อ.เกษม บุญขจร เป็นประธานคณะกรรมการ นายยงยุทธ นิฐินันท์กุล เป็นประธานจัดงาน อ.ประสงค์ โพธิ เป็นรองประธานจัดงาน งานนี้ผู้ส่งพระเข้าประกวดซื้อบัตรส่งพระองค์ละ 600 บาท ออกใบรับรองพระแท้สายวิทยาศาสตร์องค์ละ 400 บาท โต๊ะแผงพระตั้งในห้องแอร์ 120 บาท งานนี้อาหารเครื่องดื่มฟรี สอบถาม โทร.086-0770639
“พระท่ากระดาน กรุศรีสวัสดิ์”
พระท่ากระดานตั้งชื่อตามชื่อวัดท่ากระดาน หรือ วัดกลาง อันเป็นวัดสำคัญ 1 ใน 3 วัด ของเมืองท่ากระดานเมืองเก่าแก่เมืองเดียวริมลำน้ำแควใหญ่ ที่มีความสำคัญในสมัยอยุธยา เคียงคู่กับเมืองกาญจนบุรี และเมืองไทรโยค เป็นเมืองหน้าด่านสู้รบกับพม่าที่เข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ปัจจุบันรวมเป็นอำเภอศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ปี 2495 ได้มีการขุดค้นหาโบราณวัตถุเป็นการใหญ่จึงพบพระเนื้อตะกั่วสนิมแดงที่วัดทั้งสาม คือวัดเหนือ(วัดบน) วัดกลาง(วัดท่ากระดาน) และวัดล่าง ปรากฏว่าพระที่พบจากวัดท่ากระดานเป็นพระเนื้อตะกั่วสนิมแดงจัด จึงเรียกชื่อพระว่า พระท่ากระดาน ตั้งแต่นั้นมาถึงปัจจุบัน พระท่ากระดาน กรุศรีสวัสดิ์องค์นี้อยู่ในความครอบครองของ อ.โกร่ง ศรีสวัสดิ์ โทร.090-9862595 แวะชมพระได้ที่ร้าน อ.โกร่ง ศรีสวัสดิ์ ห้างพระเครื่องสายใต้ใหม่ ชั้น 2
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
หน้าแรก » คอลัมน์
คอลัมน์ล่าสุด ![]()
“บ้านเมืองพระเครื่อง” โดย อ.เจษ เมืองนนท์
บ้านเมืองพระเครื่อง- “ISPAH 2016 Congress” สร้างเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อทุกคน 09:53 น.
- บ้านเมืองพระเครื่อง วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน 2559 09:42 น.
- จัดแสดง วันเดอร์ฟรุ๊ต ไลฟ์สไตล์ ดนตรี และศิลปะ 07:12 น.
- แวะชิม...ก๋วยเตี๋ยวเนื้อนครพนม-ไข่กระทะ-ขนมปังเวียดนาม 08:12 น.