อื่นๆ » คอลัมน์
บ้านเมืองพระเครื่อง
เจษ เมืองนนท์ : วันพฤหัสบดี ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2568, 12.03 น.
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่

พระสมเด็จวัดระฆังกรุพระปรางค์ (2)
จากภาพจิตรกรรมฝาผนัง ภายในพระอุโบสถวัดอินทรวิหาร บางขุนพรหมนั้น แฝงไว้ด้วยปริศนาที่น่าค้นหา..
ผู้สันทัดกรณีให้ทรรศนะว่า จิตรกรรมฝาผนัง ภายในพระอุโบสถวัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม ที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)ท่านให้ช่างเขียนเป็นปริศนาธรรม ต่อมามีการสัณนิษฐานว่าภาพนี้เปรียบดั่งลายแทงกรุบรรจุพระสมเด็จฯ ที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี ) สร้างและนำไปบรรจุไว้
1.ภาพพระนอน ( พระพุทธไสยาสน์ ) เป็นการแสดงถึง กรุวัดสะตือ ( แผ่นดินกำเนิดของสมเด็จฯโต )
2.ภาพพระนั่ง ( พระพุทธพิมพ์ ) เป็นการแสดงถึง...กรุวัดเกศไชโย ( ปฐมวัยสมเด็จฯโต นั่งได้ที่อ่างทอง )
3.ภาพพระยืน เป็นการแสดงถึง วัดอินทรวิหาร หรือวัดบางขุนพรหมนอก ( สมเด็จฯ ท่านมาเจริญวัย ยืนได้ที่บางขุนพรหม )
4.ภาพเจดีย์ เป็นการแสดงถึง กรุบางขุนพรหม กรุเจดีย์ใหญ่ และ กรุเจดีย์เล็ก
5.ภาพพระปรางค์ เป็นการแสดงถึง กรุพระปรางค์ วัดระฆังโฆสิตาราม
คำถามที่น่าค้นหาคำตอบก็คือ ในเมื่อสถานที่ 4 แห่งตามภาพวาดนั้น ล้วนแต่พบกรุพระสมเด็จทั้งสิ้น แล้วสถานที่แห่งที่ 5 คือ พระปรางค์วัดระฆัง มีกรุพระสมเด็จจริงหรือไม่?
หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจะพบว่า ภาพวาดกรุพระปรางค์ วัดระฆังโฆสิตารามนั้น มีภาพของพระปรางค์บรรจุพระสมเด็จรวมอยู่ด้วย 2 ภาพ
.....ภาพแรกเป็นภาพต้นแบบด้านตัด มองจากด้านบนของพระปรางค์ วัดระฆัง จะแสดงที่บรรจุกรุพระสมเด็จ
.....ภาพที่สองเป็นภาพด้านนอกพระปรางค์ที่บรรจุกรุพระสมเด็จฯ ของท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ณ วัดระฆังฯ
นั่นคือร่องรอยในการค้นหากรุที่สมเด็จโตได้บรรจุพระสมเด็จเอาไว้ และหากค้นหาให้ลึกขึ้น ก็จะพบหลักฐานจากบทความของพระธรรมธีรราชมหามุนี(เจ้าคุณเที่ยง) อดีตเจ้าอาวาสวัดระฆัง ที่ได้กล่าวถึง"พระสมเด็จวัดระฆัง กรุพระปรางค์" ในหนังสือ ตำนานพระสมเด็จฯดังนี้
"ตามคำบอกเล่าของคนแก่เก่ารู้จักวัดระฆังมานาน พอปะติดปะต่อเรื่องราวได้ว่า วัดระฆังมีกรุพระเครื่องสมเด็จ 6 แห่ง ส่วนจะบรรจุไว้กี่มากน้อยนั้นผู้เขียนไม่ทราบเพราะมาอยู่วัดระฆังตอนลูกหว้าวาย ได้พบเห็นแต่ตอนว่างเปล่าของกรุเท่านั้น กรุแรกได้แก่พระปรางค์ สร้างขึ้นในยุคต้นรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงมีพระราชศรัทธา สร้างร่วมพระกุศลกับสมเด็จพระพี่นางองค์ใหญ่ สมเด็จกรมพระยาเทพสุดาวดี กรุ 2-3-4-5 คือพระเจดีย์ 4 มุมทางทิศอีสาน-บูรพา-หรดี-พายัพ ของพระอุโบสถ กรุ 6 ตั้งอยู่ท้ายวัด ห่างจากกำแพงพระอุโบสถประมาณ 20 วา พระปรางค์และเจดีย์แต่ละแห่งภายในกลวงเป็นโพรง รูปสัณฐานเป็นไปตามแนวข้างนอก ลักษณะคล้ายห้องใต้ดินหรืออุโมงค์ถ้ำในภูเขาอันทึบเนื่องจากไม่มีช่องระบายลม เฉพาะพระปรางทำห้องพิเศษเอาไว้ด้านบน 1 ห้อง มีประตูปิดเปิดได้ มีบันไดขึ้นลงทางทิศตะวันออก สูงจากระดับพื้นดินถึงห้องพิเศษประมาณ 10 เมตร ภายในเทพื้นคอนกรีต เป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อพระศรีอาริยเมตไตรบรมโพธิสัตว์ ใต้ฐานบรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระสังฆราชศรี อดีตพระสังฆราช 2 แผ่นดินแห่งวัดระฆัง
(ปัจจุบันอาราธนาไปไว้ที่พระวิหารใกล้ประตูพระอุโบสถทางขวามือ เรียกชื่อใหม่ว่า "พระวิหารสมเด็จพระสังฆราชศรี) พื้นห้องพิเศษชั้นบนเคยมีปล่องทะลุถึงตัวกรุชั้นล่างกว้างยาวประมาณ 1 ฟุต ไม่ทราบว่ามีพร้อมหรือหลังการสร้างพระปรางค์ ต่อมาถึงยุคเจ้าประคุณฯได้บรรจุพระเครื่องสมเด็จบางส่วนไว้ในกรุพระปรางค์ทางปล่องนี้
คนรุ่นหลังรู้แกวต่างหาดินเหนียวผูกปลายเชือกข้างหนึ่งไว้หย่อนลงทางปล่องนี้ยกขึ้นยกลง ประมาณว่าพระสมเด็จติดแปะกับดินเหนียว จึงค่อยสาวเชือกขึ้นมาดู เคยมีคนได้ครั้งละหลายองค์ วิธีหาพระแบบนี้เรียกว่า"ตกเบ็ดพระ" เห็นจะมีแต่พระปรางค์วัดระฆังและวัดใหม่อตมรสเท่านั้น เดี๋ยวนี้ปล่องนั้นทางวัดเทปูนปิดไว้มิดชิด ถ้าหาไม่พวกเราทุกคนคงมีโอกาสได้ตกเบ็ดพระคนละหนึบสองหนึบบ้างล่ะ"
นั่นคือบันทึกของเจ้าคุณเที่ยง อดีตเจ้าอาวาสวัดระฆัง ที่บันทึกไว้ในฐานะบุคคลที่เกี่ยวข้อง และถูกต้องตรงกันกับลายแทงภาพวาดในอุโบสถวัดอินทรวิหาร เป็นหลักฐานยืนยันว่าสมเด็จโตได้มีการบรรจุพระสมเด็จเอาไว้ในกรุประปรางค์วัดระฆังอย่างแน่นอน
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
หน้าแรก » คอลัมน์
คอลัมน์ล่าสุด ![]()
“บ้านเมืองพระเครื่อง” โดย อ.เจษ เมืองนนท์
บ้านเมืองพระเครื่อง- “ISPAH 2016 Congress” สร้างเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อทุกคน 09:53 น.
- บ้านเมืองพระเครื่อง วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน 2559 09:42 น.
- จัดแสดง วันเดอร์ฟรุ๊ต ไลฟ์สไตล์ ดนตรี และศิลปะ 07:12 น.
- แวะชิม...ก๋วยเตี๋ยวเนื้อนครพนม-ไข่กระทะ-ขนมปังเวียดนาม 08:12 น.