วันพฤหัสบดี ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 09:26 น.

อื่นๆ » คอลัมน์

บ้านเมืองพระเครื่อง

เจษ เมืองนนท์ : วันพุธ ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2568, 12.53 น.

พระสมเด็จวัดระฆังกรุพระปรางค์(4)

หลังจากที่มีหลักฐานชัดเจนถึงที่มาของพระสมเด็จวัดระฆัง กรุพระปรางค์แล้ว เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง เราลองมาฟังความเห็นของนักวิชาการ โดยท่านอาจารย์ ชัยพร พิบูลย์ศริ อดีตข้าราชการระดับสูงกรมศิลปากรที่มีความเชี่ยวชาญพระเครื่องเป็นอย่างสูงจึงได้ทำการค้นคว้าและสืบค้น จนพบหลักฐานการมีอยู่จริงของกรุพระปรางค์ และได้บันทึกเผยแพร่ต่อสาธารณะดังนี้

"พระสมเด็จวัดระฆัง กรุพระปรางค์วัดระฆัง
พระปรางค์องค์ประธานที่ตั้งงามเด่นริมฝั่งแม่นํ้าเจ้าพระยา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสร้างพระราชทานอุทิศแด่สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง กรมพระยาเทพสุดาวดี พระพี่นางองค์ใหญ่ เมื่อปีพ.ศ. 2336

ในสมัยเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี ) เป็นเจ้าอาวาส เมื่อปีพ.ศ. 2404 ปูนฉาบองค์พระปรางค์ซึ่งมีอายุนานถึง 88 ปีเก่าแก่หลุดร่อนลงตามอายุ องค์พระปรางค์จึงได้รับการปฏิสังขรครั้งสําคัญเป็นครั้งแรก
        
ลุถึงต้นปีพ.ศ. 2480 อายุองค์พระปรางค์นับล่วงได้ 154 ปี ฐานด้านทิศตะวันออกทรุดตัว เกิดรอยร้าว พระเทพสิทธินายก ( นาค โสภโณ ) เจ้าอาวาส ได้ระดมช่างชาวบ้าน ร่วมกันบูรณะฐานทั้ง 4 ด้านขึ้นใหม่ พร้อมทั้งทําการฉาบปูนองค์พระปรางค์ขึ้นใหม่ทั้งหมด
      
ขณะทําการบูรณะฐานพระปรางค์ ช่างคนงานได้พบกรุพระสมเด็จโดยบังเอิญจํานวนหนึ่ง พระทั้งหมดได้ถูกจําหน่ายจ่ายแจกไปจนหมดภายในเวลาไม่นาน ซึ่งทางวัดไม่ทราบเรื่องนี้

พระสมเด็จกรุนี้น่าจะเป็นพระส่วนหนึ่งที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี ) ได้บรรจุไว้ตามประเพณีการสืบอายุพระพุทธศาสนา เมื่อคราวที่ได้มีการปฏิสังขรณ์องค์พระปรางค์เมื่อปีพ.ศ. 2404"

(ชัยพร, พระสมเด็จกรุพระปรางค์ วัดระฆัง, 2557 )
ขอขอบคุณ เพจ Chaiporn Phibulsiri
      
นั่นคือประจักษ์พยานจากการสืบค้นของนักวิชาการที่ชำนาญการอย่างสูงพระสมเด็จวัดระฆังที่กล่าวถึง กรุพระปรางค์วัดระฆัง

คราวนี้ลองมาฟังความเห็นจากท่านอาจารย์ สืบสาน พรหมรังสี ผู้ชำนาญการพระสมเด็จร่วมสมัยกันบ้าง โดยท่านได้บันทึกเอาไว้ดังนี้...

" อีกข้อสัณนิษฐานหนึ่งกล่าวว่า...การแตกกรุ จากการลักลอบขุดเจาะเช่นเดียวกันกับ พระสมเด็จบางขุนพรหมกรุเก่า และ พระสมเด็จบางขุนพรหมกรุเจดีย์เล็ก อย่างไรก็ตามพระพิมพ์กรุนี้ ถูกลักลอบขุดเจาะในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จำนวนมาก โดยเฉพาะครั้งเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดในกรุงเทพ อาทิแถวโรงไฟฟ้าวัดเลียบ สะพานพุทธ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดระฆัง ผู้คนพระเณรต่างหลบลี้หนีภัย จึงเป็นโอกาสที่นักขุดเจาะหาของเก่าและพระสมเด็จนำพระสมเด็จออกไปมาก มีคนเฒ่าคนโบราณเล่ากันว่าบางกลุ่มที่มีทั้งชาวบ้านและพระทั้งในพระนครและจากต่างถิ่นที่ทราบเรื่องการบรรจุกรุพระสมเด็จที่วัดระฆัง ถือโอกาสมาขนเอาพระจากพระเจดีย์และพระปรางค์ วัดระฆังฯไปจำนวนมหาศาล ขนใส่รถลาก(รถเจ็ก)ไปก็มี ใส่เรือที่มาลอยลำรอที่ท่าหน้าวัดระฆังก็มี ขนกันเป็นลำเรือแล้วไปขึ้นแถวอยุธา จากนั้นได้ย้ายพระใส่เกวียนบรรทุกไปจนหมดสิ้น"

สำหรับเอกลักษณ์ของพระสมเด็จกรุพระปรางค์นั้น จะมีหลากหลายแม่พิมพ์ ทั้งพิมพ์ใหญ่ (อกกระบอก เกศจรดซุ้ม) พิมพ์เส้นด้าย พิมพ์ฐานแซม พิมพ์เกศบัวตูม และพิมพ์ปรกโพธิ์ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ตามพิมพ์ของวัดระฆังทุกประการ ส่วนด้านหลัง จะเป็นพระหลังเรียบทั้งหมด มีทั้งหลังกาบหมาก หลังสังขยา หลังเรียบ แต่จะไม่มีหลังคลื่น ในขณะเดียวกัน เนื้อพระจะแห้งกว่า ไม่หนึกนุ่มเท่าวัดระฆัง เพราะอยู่ในกรุแห้ง รวมทั้งคราบกรุจะมีบ้างประปรายเท่านั้น ซึ่งการพิจารณา จะเหมือนหลักการดูพระสมเด็จทุกประการ เพราะสร้างในวาระเดียวกันนั่นเอง
  
ด้วยหลักฐานจากอดีตตามบันทึกของเจ้าคุณเที่ยงวัดระฆังจนถึงหลักฐานจากนักวิชาการในยุคปัจจุบัน ยืนยันได้ว่า พระสมเด็จวัดระฆังกรุพระปรางค์ มีอยู่จริง..!!!
   และทั้งหมดนี้ จะเป็นประวัติศาสตร์ที่ต้องจารึกไว้ในสารบบของวงการพระเครื่องเมืองไทย..!