วันเสาร์ ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 11:52 น.

อื่นๆ » คอลัมน์

ไลฟ์สไตล์

บ้านเมือง : วันพฤหัสบดี ที่ 06 ธันวาคม พ.ศ. 2561, 15.43 น.

ศิลปะปูนปั้นกึ่งไทยกึ่งจีน มรดกล้ำค่าของแผ่นดินกรุงธนบุรีที่ถูกลืม !

โดย ว.วรรณพงษ์

 

ณ กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๐ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพลิกฟื้นบ้านเมืองขึ้นมาใหม่ทุกด้าน รวมทั้งศิลปวัฒนธรรมประเพณี พระองค์ทรงรวบรวม “ช่างสิบหมู่” ที่มีฝีมือจากทั่วสารทิศ และช่างฝีมือส่วนหนึ่งได้นำไปจากเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อบูรณะวัดต่างๆ โดยเฉพาะวัดอรุณราชวราราม เป็นวัดภายในเขตพระราชวังธนบุรี เพื่อให้เป็นเช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์สมัยอยุธยา พระองค์โปรดฯ ให้สร้าง “พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม” ครอบเจดีย์เดิมที่ชำรุดทรุดโทรมเอาไว้ (ต่อมารัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ ได้บูรณปฏิสังขรณ์พระปรางค์หน้าวัดให้สูงขึ้นเป็นลำดับ)

 

ย้อนไปในปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ในปี พ.ศ. ๒๒๒๘ บาทหลวงนิโคลัส ชาวฝรั่งเศส บันทึกเรื่องราวไว้ว่า หลังจากประเทศจีนเปิดให้พ่อค้าเดินทางออกมาค้าขายทางทะเล กรุงศรีอยุธยามีสำเภาจีนมาเยือนถึง ๑๕-๒๐ ลำ เครื่องกระเบื้องดีๆ ชั้นเยี่ยม ที่นำเข้ามาในครั้งนั้นมีมาก ในช่วงที่อุตสาหกรรมเครื่องกระเบื้องจีนคุณภาพดีเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเรื่อยมาถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สืบมาถึงสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

 

 

สมัยกรุงศรีอยุธยา เริ่มมีศิลปะปูนปั้นตกแต่งด้วย “เศษเครื่องกระเบื้องจีนคุณภาพดี” จึงได้มีการนำ “เศษกระเบื้องจีนสมัยคังซีเจียน นำมาทำเป็นเกล็ดพญานาคเลื้อยลงจากฐานพระปรางค์วัดพุทไธสวรรค์” อายุของกระเบื้องยืนยันว่า สร้างหรือบูรณะในปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชถึงต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวง รวมทั้งมี “เศษกระเบื้องประดับปูนปั้นรูปหนุมาน” ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา ลักษณะของเศษกระเบื้องตกแต่งส่วนใหญ่เป็นลายคราม มีเศษกระเบื้องสีเพียงเล็กน้อย

 

 

ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี ที่แตกต่างกว่ากรุงศรีอยุธยาก็คือ การนำ “ถ้วยกระเบื้องเคลือบ จานเชิง และจานกระเบื้องเคลือบ” เป็นภาชนะที่มีสภาพสมบูรณ์ ตกแต่งติดลงไปอย่างเห็นได้ชัด (บ้างก็ใช้เศษกระเบื้องชำรุดแตกหัก มาตัดตกแต่งเป็นชิ้นเล็กๆ มาติดประดับเป็นลวดลาย บางชิ้นก็เป็นชิ้นส่วนกระเบื้องเคลือบที่ทำขึ้นในอาณาจักรธนบุรี แล้วนำมาตกแต่งเสริมกับกระเบื้องเคลือบของจีนด้วยเช่นกัน)

 

ครั้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ก็ยังคงตกแต่งด้วยเศษกระเบื้องเคลือบ โดยสร้าลวดลายขึ้นใหม่เป็นรูปกลีบดอกไม้ และตกแต่งประดับในรูปแบบต่างๆ อย่างสวยงาม

 

หลักฐานเห็นได้ชัดเจน คือ กรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ ไม่ได้มีการนำ ชาม จานเชิง เป็นใบเป็นชิ้นมาประดับตกแต่งแต่อย่างใด นี่คือ ความพิเศษของศิลปะกระเบื้องจีน ที่มีปรากฏแต่ในยุคกรุงธนบุรีเท่านั้น

 

คราเสียกรุงครั้งที่ ๒ โดยมีเศษกระเบื้องจีนที่แตกกระจายจมน้ำจมดินในกรุงเก่า เป็นจำนวนมาก ล้วนเป็นพยานวัตถุสำคัญทางประวัติศาสตร์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จไปตรวจเครื่องถ้วยที่ขุดได้ในกรุงเก่า ทรงอธิบายรูปทรงเครื่องกระเบื้องจีนผลิตตามแบบไทยสั่งไปทำจากเมืองจีน ที่พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) รวบรวมไว้ใน พิพิธภัณฑ์วังจันทรเกษม ดังนี้ว่า “สิ่งของที่ไทยให้สั่งออกไปทำเมืองจีนในครั้งกรุงเก่า พบมากแต่ ๓ อย่าง คือ ชาม จานเชิง โถ บางทีจะมีถ้วย ด้วยเป็นของที่ไทยเราใช้ใส่น้ำพริก น้ำปลา และใส่ยามาแต่โบราณ”

(ขอบคุณข้อมูลส่วนหนึ่งจาก “ความรู้จากเศษกระเบื้องจีน” โดย “พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร”)

 


****************

 

ในรัชสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงรำลึกถึงความแตกสามัคคี กระทั่งนำไปสู่การล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา พระองค์จึงทรงรวบรวมถ้วยชามกระเบื้องเคลือบจีนและเศษกระเบื้อง ที่แตกกระจายจมน้ำจมดินในกรุงเก่า (กรุงศรีอยุธยา) มีจำนวนมาก ที่พม่าไม่สนใจไยดี พระองค์โปรดฯ ให้นำมาตกแต่งยอดพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ศิลปะปูนปั้นกึ่งไทยกึ่งจีนที่งดงามวิจิตรประดับด้วย “ถ้วยชามกระเบื้องลายคราม และเศษกระเบื้อง” ไม่น่าเชื่อว่า ศิลปกรรมล้ำค่าในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งอาณาจักรกรุงธนบุรี มรดกสำคัญล้ำค่าของแผ่นดิน ทำไม ? จึงไม่มีบันทึกในประวัติศาสตร์!

 

ในยุคปัจจุบันมีการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการนำ “ถ้วยชาม จานเชิงกระเบื้องลายคราม และเศษกระเบื้องโบราณ” ออกจากองค์พระปรางค์วัดอรุณฯ และใช้กระจกสีรุ่นใหม่ โดยอ้างว่า เพื่อความสวยงาม เข้าไปแทนที่ ฤาคนไทยได้ลืมเลือนเหตุการณ์ล่มสลายของกรุงศรีอยุธยาไปหมดแล้ว ที่แปลกก็คือ “ถ้วยกระเบื้องล้ำค่าโบราณราคาแพง” บนยอดพระปรางค์วัดอรุณฯ จำนวนมากล่องหนหายไปไหน ? ขอบคุณ “ลานธรรมจักร” ภาพยอดพระปรางค์วัดอรุณฯ หลักฐานประวัติศาสตร์ที่หาชมไม่ได้แล้ว

 

 

แห่งที่สองก็คือ วัดราชบัลลังก์ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เป็นวัดที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชให้ชาวบ้านสร้างขึ้น เมื่อคราผู้เขียนเดินทางไประยอง ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังว่า หลังจากพระองค์ปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์กรุงธนบุรี พระองค์โปรดฯ ให้สร้างวัดนี้ขึ้น ประมาณปี พ.ศ. ๒๓๑๑ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ชาวบ้านและทหารที่เสียชีวิตเมื่อครั้งเข้าตีเมืองจันทบูรณ์ หลักฐานที่ยังปรากฏคือ “พระอุโบสถเก่า” โครงสร้างก่ออิฐถือปูน ซุ้มประตูหน้าต่างศิลปกรรมปูนปั้นกึ่งไทยกึ่งจีนประดับด้วย “กระเบื้องถ้วยลายคราม” งดงามวิจิตร และนี่คือ ศิลปกรรมปูนปั้นในรัชสมัยกรุงธนบุรี ที่ถูกลืมเลือน

 

 

แห่งที่สามจากหลักฐาน ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีบันทึกการบูรณวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๒ โดยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อครั้งตีเมืองนครศรีธรรมราชได้แล้ว พระองค์ได้บูรณวัดพระมหาธาตุฯ โดยเฉพาะบนยอดพระบรมธาตุเจดีย์ได้นำ “ชามกระเบื้องเคลือบเล็กใหญ่” โปรดฯ ให้ช่างปูนปั้นนำมาติดไว้รอบ ๆ ยอดเจดีย์ด้านบนสี่เหลี่ยมสี่ทิศ ที่เรียกว่าว่า “ฐานบัลลังก์” เมื่อครา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ติดลมมรสุมเป็นเวลา ๓ เดือน โปรดฯ ให้บูรณวัดพระมหาธาตุฯ หลายๆ ส่วน รวมทั้ง ศิลปะปูนปั้นกึ่งไทยกึ่งจีนประดับด้วย ศิลปกรรมปูนปั้นสมัยกรุงธนบุรี ณ เมืองนครศรีธรรมราช แห่งนี้ !

 

 

แห่งที่สี่ ณ วัดเขาขุนพนม อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช มีตำนานเล่าว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสละราชบัลลังก์เดินทางมาที่นี่ พระองค์แต่งกายด้วยการนุ่งขาวห่มขาว ชาวบ้านในพื้นที่เรียกพระองค์ว่า “ตาแป๊ะหนวดยาว” ต่อมาพบหลักฐานหลากหลายที่มายืนยันว่า พระองค์ได้มาบรรพชา และมาเจริญสมณธรรม ณ วัดเขาขุนพนมแห่งนี้ โดยมีพระบรมรูปพระเจ้าตากสินทรงศีล และพระบรมรูปพระเจ้าตากสินทรงผนวชอยู่ที่นี่ด้วยเช่นกัน

 


 

ณ วัดเขาขุนพนม ได้มีการรับรองจากกรมศิลปากรว่า ที่นี่เป็นโบราณสถาน มีศิลปะปูนปั้นกึ่งไทยกึ่งจีนประดับด้วย “กระเบื้องถ้วยลายคราม” ศิลปกรรมในรัชสมัยกรุงธนบุรี เกิดขึ้นที่นี่ได้อย่างไร ถึงแม้ปัจจุบันจะหลงเหลือจานเชิงและจานลายครามเพียงเล็กน้อย ทราบแต่เพียงว่า เก็บในพิพิธภัณฑ์ แต่จะเก็บได้ครบถ้วนหรือเปล่า คงจะไม่มีใครตอบได้ เพราะความโลภโกรธหลงของมนุษย์มีทุกยุคสมัย !

 


 

เพราะเหตุใด ศิลปกรรมปูนปั้นกึ่งไทยกึ่งจีนในรัชสมัยธนบุรี ที่ประดับด้วย “ถ้วยชาม จานเชิง กระเบื้องเคลือบลายคราม” จึงปรากฏ ณ วัดเขาขุนพนมแห่งนี้ หากเป็นชาวบ้านในป่าในเขา พวกเขาจะหาซื้อถ้วยชามจานเชิง กระเบื้องเคลือบลายครามราคาแพงจากจีนได้อย่างไร แล้วชาวบ้านจะมีฝีมือศิลปะปูนปั้นแบบช่างหลวงกรุงธนบุรีเชียวหรือ ใครอธิบายเรื่องนี้ได้บ้าง หรือว่าแค่เรื่องบังเอิญเท่านั้น ?
 

ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน หลักฐานที่ปรากฏจะพิสูจน์ความจริงว่า ทำไม ? ศิลปกรรมปูนปั้นกึ่งไทยจีนที่ประดับด้วย “ถ้วยชาม จานเชิง กระเบื้องเคลือบลายคราม” ที่สร้างขึ้นในรัชสมัยกรุงธนบุรี ประวัติศาสตร์จึงไม่ได้จารึก