วันศุกร์ ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 09:52 น.

กทม-สาธารณสุข

"ชัยชนะ" ชูโมเดล "สุขภาพดี มีสิทธิ์เพิ่ม" ปั้นคนไทยไร้ NCD ตั้งเป้า 30 ล้านคนร่วม "ก้าวท้าใจ" ลดค่ารักษาพยาบาลหมื่นล้าน!  

วันพฤหัสบดี ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2568, 14.21 น.

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2568 นายชัยชนะ เดชเดโช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานและกล่าวเปิดงาน Kick-off โครงการ "NCD สุขภาพดี มีสิทธิ์เพิ่ม" ของเขตสุขภาพที่ 9 ชูวิสัยทัศน์ผลักดันคนไทยให้มีสุขภาพดี ไร้โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) 100% ภายใน 1 ปี หวังลดภาระค่ารักษาพยาบาลของประเทศมหาศาล  

รมช.ชัยชนะ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นนโยบายหลักของกระทรวงสาธารณสุข และรัฐนตรีว่าการกระทรวงสธารณสุข ที่มุ่งให้คนไทยทุกคนมาดูแลสุขภาพตัวเอง เพื่อลดการเจ็บป่วย โดยเฉพาะโครงการรวมพลคนรักสุขภาพที่ตั้งเป้า 40 ล้านคนภายในเดือนกันยายน แต่ปัจจุบัน (กรกฎาคม) มีผู้เข้าร่วมแล้วกว่า 37 ล้านคน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตระหนักด้านสุขภาพของคนไทย และช่วยลดภาระค่ารักษาพยาบาลได้แล้วกว่า 400-500 ล้านบาท

โครงการ "NCD สุขภาพดี มีสิทธิ์เพิ่ม" เป็นการสร้างแพลตฟอร์มใหม่ โดยนำแอปพลิเคชัน "ก้าวท้าใจ" ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้งานประมาณ 5 ล้านคน (เคลื่อนไหว 2 ล้านคน) มาพัฒนาต่อยอดเพื่อเชิญชวนคนไทยทั้งประเทศร่วมออกกำลังกาย สะสม "เหงื่อแลกพอยต์" โดยทุกๆ 100 แคลอรี่ที่เผาผลาญได้ จะได้รับพอยต์ไปแลกส่วนลดหรือสิทธิพิเศษจากภาคเอกชนที่ร่วมโครงการ เช่น ร้านอาหาร โทรศัพท์ ประกันสุขภาพ หรืออุปกรณ์กีฬาต่างๆ โดยอาจได้รับส่วนลดตั้งแต่ 5% 10% ไปจนถึง 20-30% สำหรับผู้ที่ขยันออกกำลังกาย หรือ อสม. ที่ช่วยตรวจคัดกรองโรคต่างๆ

รมช.ชัยชนะ ตั้งเป้าว่าภายในสิ้นปีนี้ จะต้องมีคนไทยเข้าร่วมแพลตฟอร์มนี้ให้ได้ถึง 30 ล้านคน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายมหาศาลจากโรค NCDs เช่น เบาหวานและความดัน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ป่วยกว่า 6 ล้านคน และมีภาระค่ารักษาพยาบาลต่อปีสูงถึง 70,000-80,000 ล้านบาท โดยมีผู้ป่วยใหม่ปีละ 300,000 คน ที่สร้างภาระให้รัฐอีกปีละประมาณ 5,000 ล้านบาท

"ถ้าโครงการนี้เราสามารถให้คนเข้าร่วมได้เป็นล้านคน และลดผู้ป่วย NCDs ในระยะเริ่มต้นได้ เราจะสามารถช่วยลดภาระงบประมาณได้ประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อปี" รมช.ชัยชนะ กล่าวและย้ำว่านี่เป็นสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญ และจะเดินหน้าอย่างเต็มที่

พร้อมกันนี้ รมช.ชัยชนะ ยังได้กล่าวชื่นชม เขตสุขภาพที่ 9 โดยเฉพาะโรงพยาบาลชัยภูมิที่เป็นโรงพยาบาลนำร่องในการทำเรื่องนี้ รวมถึง อสม. ทั่วประเทศ ที่เป็นด่านหน้าในการเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมโครงการจนบรรลุเป้าหมายอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม รมช.ชัยชนะ ได้สะท้อนปัญหาสำคัญของระบบราชการไทย โดยยกตัวอย่างโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกลที่มีประชากรมากถึง 30,000 คน แต่กลับมีแพทย์เพียง 4 คน เฉลี่ยแพทย์ 1 คนต้องรับผิดชอบประชาชนถึง 10,000 คน ซึ่งแสดงถึงปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ชนบทและห่างไกล โดยเสนอแนวคิดให้มีการ ปลูกฝังจิตสำนึกรักบ้านเกิด ในบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อลดปัญหาการเลือกพื้นที่ทำงานในอนาคต

รมช.ชัยชนะ ทิ้งท้ายว่า การบริหารราชการแผ่นดินในวันนี้ ต้อง "ลงมือทำมากกว่าสร้างวาทกรรมให้สวยหรู" และย้ำว่านักการเมืองคนรุ่นใหม่อย่างตน ต้องการทำงานเพื่อประชาชนทุกคน เพราะประชาชนคือ "เจ้าของ" และ "เจ้า นาย" ของนักการเมือง


 
 

หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข

ข่าวในหมวดกทม-สาธารณสุข