วันเสาร์ ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 00:11 น.

การตลาด

มูลนิธิ LPN ร่วมกับ ซีพีเอฟ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ปี3

วันอังคาร ที่ 09 มิถุนายน พ.ศ. 2563, 09.31 น.

มูลนิธิ LPN ร่วมกับ ซีพีเอฟ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ปี3

 
 
มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือ LPN (Labour Protection Network) ร่วมกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนตามหลักสากลให้กับแรงงาน สานต่อโครงการ “ช่องทางรับฟังเสียงพนักงาน และอบรมความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน” ให้กับพนักงานของซีพีเอฟ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3
 
นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิ LPN กล่าวว่า การดำเนินงานของศูนย์รับฟังเสียงพนักงาน หรือ Labour Voices Hotline by LPN จากความร่วมมือในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ช่วยให้ทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวได้รับรู้สิทธิของตน ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและมาตรฐานสากล รวมทั้งได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ในเรื่องค่าจ้างค่าตอบแทน สุขภาพอนามัย และความปลอดภัยในการทำงาน การเข้าถึงสิทธิแรงงานต่างๆ เพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี และจัดการอบรมพนักงาน (Worker Training) ของซีพีเอฟ จำนวนมากกว่า 1,800 คน ในจำนวนนี้ ร้อยละ 75 เป็นพนักงานต่างด้าว ซึ่งจะทำให้สามารถทำงานร่วมกันด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน เป็นต้น
 
 
 
 
ในปี 2562 ซีพีเอฟได้รับรายงานจากศูนย์รับฟังเสียงพนักงาน จำนวน 4 สาย จากพนักงานคนไทยและต่างด้าว เป็นเรื่องการสอบถามข้อมูลและการร้องเรียน โดยสอบถามข้อมูลในเรื่องเกี่ยวกับเงื่อนไขตามกระบวนการจ้างแรงงานต่างด้าวผ่านบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Understanding : MoU) และในส่วนของการร้องเรียนจากการตรวจสอบพบว่ามีสาเหตุมาจากความกังวลและความเข้าใจผิดของแรงงานเรื่องกฎระเบียบ และขั้นตอนการปฏิบัติงาน  
 
“ปัจจัยที่ทำให้มีข้อร้องเรียนจากแรงงานซีพีเอฟ ผ่านช่องทาง Labour Voices Hotline by LPN ค่อนข้างน้อย เป็นผลจากบริษัทฯ มีล่ามประจำสถานประกอบการฯของบริษัทฯ คอยเป็นผู้ให้คำแนะนำและปรึกษาพนักงานต่างชาติเบื้องต้น รวมถึง การจัดการแก้ไขปัญหาโดยฝ่ายบุคคลและหัวหน้างานอย่างเป็นระบบและทันท่วงที ประกอบกับการจัดอบรมช่วยให้พนักงานมีความเข้าใจเรื่องสิทธิแรงงาน และกฎหมายที่เกี่ยวข้องมากขึ้น” นายสมพงค์ กล่าว
 
นายปริโสทัต ปุณณภุม รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนในองค์กรอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน แรงงานต่างชาติทุกคนเป็นพนักงานของบริษัทฯ ได้รับค่าจ้างและสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกับพนักงานคนไทย การดำเนินงานร่วมกับ LPN ช่วยสนับสนุนบริษัทฯ ให้เข้าใจความต้องการ ของแรงงานทุกคนและสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดอย่างรวดเร็ว สร้างความพึงพอใจและความเข้าใจอันดีระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง
 
 
“ซีพีเอฟ มีการทำแบบสำรวจการรับรู้ช่องทางการร้องเรียนผ่านศูนย์รับฟังเสียงพนักงาน ในพื้นที่ 6 โรงงาน ครอบคลุมทั้งพนักงานไทยและต่างด้าว ผลสำรวจพบว่า 75% ของแรงงานมีการรับรู้และทราบช่องทางการร้องเรียนผ่านศูนยนี้ ช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานและลดผลกระทบที่อาจมีต่อธุรกิจ” นายปริโสทัต กล่าว 
 
นอกจากนี้ ในปี 2562 บริษัทฯ ได้ทบทวนและดำเนินกระบวนการตรวจประเมินสถานะด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) ทุกสายธุรกิจในกิจการประเทศไทย ครอบคลุมทุกกลุ่ม ร่วมถึงกลุ่มเปราะบาง (Vulnerable Group) เช่น ชนกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติและศาสนา ผู้บกพร่องทางร่างกาย เป็นต้น โดยให้ความสำคัญ อาทิ เรื่อง สภาพการจ้างงาน สุขภาพและความปลอดภัยในสถานประกอบการ ข้อมูลส่วนบุคคล มาตรฐานการครองชีพและความปลอดภัยของคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน ฯลฯ 
 
ซีพีเอฟ ยังยกระดับความปลอดภัยอย่างเข้มข้นสำหรับแรงงานทุกคนในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 พร้อมทั้งจัดการอบรมให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโรคระบาด และการป้องกันแก่พนักงานต่างด้าว รวมทั้ง ทำแผ่นป้ายแนะนำในภาษาต่างๆ การจัดเพิ่มจำนวนรถตามแนวทาง social distancing เพื่อให้พนักงานทุกคนเข้าใจและทำงานด้วยความมั่นใจในมาตรการความปลอดภัย จนถึงปัจจุบันไม่มีพนักงานในสายการผลิตติดเชื้อโควิด-19.

หน้าแรก » การตลาด

ข่าวในหมวดการตลาด