วันเสาร์ ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567 07:25 น.

การตลาด

TCMC โชว์Q1กวาดรายได้แตะ 1.8 พันล้านบาท

วันพฤหัสบดี ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2564, 15.35 น.

TCMC โชว์Q1กวาดรายได้แตะ 1.8 พันล้านบาท

 

 

 

นางสาว ปิยพร พรรณเชษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TCMC) เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทในไตรมาสแรกของปี 2564 กลุ่มบริษัทมีรายได้จากการขายและบริการ จำนวน 1,838.69 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้  1,630.39 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.78 และมีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 15.29 ล้านบาท ทำได้ดีกว่างวดเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 26.47 ล้านบาท เป็นผลจากการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายเพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19

 

“สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2564 โรคระบาดโควิด-19 ยังคงมีผลกระทบต่อกิจการของบริษัท โดยเฉพาะในกลุ่มวัสดุปูพื้น จากการที่ลูกค้าหลักของเราอยู่ในภาคการท่องเที่ยวและบริการ (hospitality) ได้แก่ โรงแรม คาสิโน โรงภาพยนตร์ สถานบันเทิง ศูนย์ประชุม ซึ่งยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากโควิด-19 และอาจยังไม่ฟื้นตัวได้ในเร็ววันนี้ แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจพรมและผ้าหุ้มเบาะรถยนต์ เริ่มมีทิศทางดีขึ้น ตามแนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีการฟื้นตัวอย่างชัดเจนตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว และในส่วนของกลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ที่ยังคงมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการที่เราได้ปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ ให้มีศักยภาพในการแข่งขันสูงขึ้นในทุก ๆ ด้าน และการประสานความร่วมมือระหว่างกลุ่มธุรกิจ ทำให้มั่นใจได้ว่าเมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เราจะมีความพร้อมและกลับมาอย่างแข็งแกร่งยิ่งขึ้น” นางสาวปิยพร กล่าว

 

โดยในไตรมาส 1/2564 กลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ (TCM Living)  มีรายได้สูงขึ้นร้อยละ 37.23 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากยังมีความต้องการซื้อต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา แม้ในช่วงสิ้นปี 2563 ประเทศอังกฤษได้เกิดการระบาดของโควิด-19 อีกระลอก ทำให้รัฐบาลอังกฤษประกาศใช้มาตรการบังคับให้กิจการค้าปลีกที่ไม่ใช่ธุรกิจจำเป็นต้องหยุดกิจการจนถึงสิ้นไตรมาสแรก และเพิ่งให้เปิดทำการในวันที่ 12 เมษายน 2564 ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้รับผลตอบรับที่ดีจากลูกค้าที่เป็นจ้าของร้านค้าปลีกต่างๆ และแม้ในช่วงที่ล็อคดาวน์ ก็ยังมีคำสั่งซื้อผ่านมาจากช่องทางออนไลน์ และยังคงมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เมื่อสิ้นไตรมาสที่ 1 กลุ่มธุรกิจยังคงสามารถทำยอดขายได้ 1,311.62 ล้านบาท สูงขึ้นกว่างวดเดียวกันของปีก่อนถึง 37.23% แต่เนื่องจากกลุ่มธุรกิจยังคงประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนโฟม ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก ทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น เและการขนส่งระหว่างประเทศที่ยังคงเป็นปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยังไม่สามารถควบคุมการบริหารต้นทุนได้ดีนัก อย่างไรก็ตามกลุ่มธุรกิจมีการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่าย รวมถึงการได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลอังกฤษ ทำให้ค่าใช้จ่ายบริหารลดลงร้อยละ 35.01 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้หลังจากหักค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ต้นทุนทางการเงิน ค่าภาษีและส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้กลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์มีผลกำไรสุทธิ 7.27 ล้านบาท

 

สำหรับกลุ่มธุรกิจพรมและผ้าหุ้มเบาะรถยนต์ (TCM Automotive) มีรายได้จากการขายและบริการที่ 222.43 ล้านบาท สูงขึ้นกว่างวดเดียวกันของปีก่อน ที่ทำได้ 208.49 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.69 ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ในช่วงปลายปี 2563 ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายการขายและบริหารโดยรวมลดลงจากความพยายามเพิ่มประสิทธิภาพในทุกด้าน และจำกัดงบประมาณต่างๆ ทำให้สิ้นไตรมาส 1 กลุ่มธุรกิจนี้มีผลกำไรสุทธิ 26.72 ล้านบาท สูงขึ้นกว่างวดเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 75.21 โดยแนวโน้มของอุตสาหกรรมรถยนต์มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์หุ้มบุในรถยนต์ให้ตอบสนองกับกระแสความนิยมรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น อย่างไรก็ตามยังคงต้องจับตาดูสถานการณ์โควิดในประเทศไทย ที่กลับมาระบาดอีกระลอก ซึ่งอาจจะส่งผลให้อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศต้องชะลอตัวอีกครั้ง

 

ทั้งนี้ ในไตรมาส 1/2564 สัดส่วนรายได้ของบริษัทจากแต่ละกลุ่มธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลง โดยรายได้จากการขายและบริการของ กลุ่มธุรกิจ ทีซีเอ็ม ลีฟวิ่ง ได้เติบโตขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญทำให้กลายเป็นรายได้หลัก คิดเป็นร้อยละ 71.33 โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.71 กลุ่มธุรกิจ ทีซีเอ็ม ฟลอร์ริ่ง มีสัดส่วนรายได้จากการขายและบริการเป็นลำดับที่สอง อยู่ที่ร้อยละ 16.57 ลดลงร้อยละ 12.02 จากงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากไตรมาสที่ 1 เป็นช่วงโลว์ซีซั่นของธุรกิจ รวมถึงการได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากโควิด-19 ในขณะที่ กลุ่มธุรกิจ ทีซีเอ็ม ออโตโมทีฟ มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 12.10 ใกล้เคียงกับงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการเติบโตของกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์มีปัจจัยหลักที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โรคระบาดในประเทศไทยและนโยบายภาครัฐในการสนับสนุนอุตสาหกรรมและกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

 ในส่วนของทั้งปี 2564 นี้ บริษัทมองว่าเศรษฐกิจในประเทศอาจจะยังไม่ฟื้นตัวมากนัก แต่สำหรับต่างประเทศ ตลาดมีทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งเราเองก็ได้ทำการปรับองค์กรให้มีลักษณะลีนขึ้น ยืดหยุ่นขึ้น เพื่อให้พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น มีการนำระบบเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ ในขณะเดียวกัน ในแง่ของกลยุทธ์เราก็แสวงหาโอกาสในการเข้าซื้อธุรกิจใหม่ที่จะช่วยเสริมธุรกิจที่มีอยู่เดิม รวมถึงการขยายตลาดเข้าสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ เพื่อปิดโอกาสการเกิดความเสี่ยงหรือลดผลกระทบจากความเสี่ยงให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้  โควิด-19 จึงเป็นบทเรียนที่ทำให้เราได้กลับมาทบทวนตัวเองและพัฒนาปรับปรุงตั้งแต่นโยบายจนถึงการปฏิบัติ เพื่อให้บริษัทสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคง แข็งแกร่งในระยะยาว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น กล่าวปิดท้าย

 

หน้าแรก » การตลาด

Top 5 ข่าวการตลาด